ในปีหน้า องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดว่า อินเดีย จะแซงหน้า จีน ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มี ประชากรมากที่สุดในโลก แต่ที่น่าห่วงคือ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เท่ากับว่าจำเป็นต้องบริโภคทรัพยากรจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
รายงานจากแผนกประชากรของกรมเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี 2022 ทั้งประเทศ จีน และ อินเดีย ต่างก็มีประชากร มากกว่า 1.4 พันล้านคน แต่ในปี 2023 คาดว่าจำนวนประชากรของอินเดียจะแซงหน้าจีนขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ด้วยประชากรจำนวนมากส่งผลให้ความต้องการใช้ทรัพยากรของอินเดียในปีต่อ ๆ ไปจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยจากสถานการณ์ปัจจุบัน Refinitiv ได้แสดงให้เห็นว่าการนำเข้าถ่านหินของอินเดียนั้นอยู่ในระดับ สูงเป็นประวัติการณ์
โดยอินเดียและจีนต่างก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เผาถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่ง 2 ประเทศก็ได้ลงนามในข้อตกลง Glasgow Climate Pact ว่าจะ ลดระดับการใช้ถ่านหินลง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021
ทั้งนี้ จำนวนประชากรมนุษย์ทั่วโลกปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนสูงถึง 8 พันล้านคน และอาจเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8,500 ล้านคน ในปี 2030 และเพิ่มเป็น 9,700 ล้านคน ในปี 2050 และจะแตะระดับสูงสุดที่ราว ๆ 10,400 ล้านคน ในช่วงทศวรรษ 2100 อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกนั้นช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1950 โดยเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย ต่ำกว่า 1%
โดยเมื่อปีที่แล้ว UN ระบุว่า ภาวะเจริญพันธุ์โดยเฉลี่ย ของประชากรโลกมีจำนวน 2.3 คนต่อผู้หญิง 1 คน ตลอดช่วงชีวิตซึ่งลดลงประมาณครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการเกิดประมาณ 5 คนต่อผู้หญิง 1 คน ในปี 1950 และคาดว่าภาวะเจริญพันธุ์ทั่วโลกจะลดลงอีกเป็น 2.1 คน ภายในปี 2050
ในส่วนของ อายุเฉลี่ยของประชากรโลกเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 72.8 ปี เพิ่มขึ้นถึง 9 ปีจากเมื่อปี 1990 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ด้าน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า “น่าประหลาดใจกับความก้าวหน้าทางสุขภาพที่ยืดอายุขัยและลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กลงอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเครื่องเตือนใจถึงความรับผิดชอบร่วมกันของเราในการดูแลโลกของเรา”