“Digital ID” เบื้องหลังการทำธุรกรรมออนไลน์ที่สะดวก ปลอดภัยในโลกดิจิทัล


หากเอ่ยถึงคำว่า “Digital ID” หรือ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล คนไทยหลายคนอาจไม่คุ้นชิน     มากนัก แต่ถ้าพูดถึงคำว่า “พร้อมเพย์” ทุกวันนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะนั่นคือ End Product ปลายทางแห่งความสะดวกที่คนไทยได้รับ โดยการนำเบอร์โทรศัพท์ หรือเลขบัตรประชาชนมาสร้างเป็น Digital ID ผูกกับเลขบัญชีธนาคาร และการพัฒนาเทคโนโลยี Digital ID นี้ ETDA ได้เริ่มต้นการมีส่วนร่วมเมื่อ 5 ปีก่อน ในการวางมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการใช้งาน และยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขยายสู่การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้จัก Digital ID ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (เอ็ตด้า) หน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อธิบายถึงนิยามของ Digital ID (ดิจิทัล ไอดี) ว่า ในยุคก่อนนี้ การจะพิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะต้องมีการใช้ “บัตรประชาชน” ที่มีรายละเอียดที่แสดงถึงตัวบุคคล เช่น ข้อมูลส่วนตัว รหัสบัตร รูปถ่าย เพื่อนำมาพิสูจน์ และยืนยันตนเองว่าเป็นบุคคลนั้นจริง แต่เมื่อโลกพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัล การทำธุรกรรมหลายอย่างสามารถทำได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้การพิสูจน์ และยืนยันตัวตนได้เริ่มเปลี่ยนจากบัตรกายภาพเหล่านั้นมาเป็นรูปแบบ Digital ID หรือเปรียบเสมือนการมีบัตรยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล เพื่อทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์นั่นเอง

ดร. ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA

ระบบ Digital ID จึงเป็นเหมือนระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนพื้นฐานที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานบริการของตนเองได้ เช่น “พร้อมเพย์” สามารถผูกเลขบัญชีธนาคารเข้ากับเบอร์โทรศัพท์มือถือหรือเลขบัตรประชาชนเป็น ID บัญชีธนาคารแบบดิจิทัล “แอปพลิเคชันเป๋าตัง” สามารถพิสูจน์ยืนยันตัวตนออนไลน์ได้ผ่านการสแกนใบหน้าผ่านแอปฯ “แอปพลิเคชันหมอพร้อม” นำข้อมูลจากบัตรประชาชนมาพิสูจน์และยืนยันตัวตน แปลงเป็น ID ดิจิทัลและทำให้คนไทยรับบริการสาธารณสุขได้บนแอปฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและช่วยสร้างทางเลือกเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายกับคนไทยมากขึ้น แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่ ETDA และพันธมิตรทั้งรัฐ-เอกชนกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยสามารถใช้ Digital ID ได้อย่างแพร่หลาย


กำกับดูแลเพื่อให้ทุกฝ่ายอุ่นใจในความปลอดภัย

ในระยะแรกที่ ETDA ดำเนินการจะมีทั้งในส่วนของการศึกษาข้อมูลสถานการณ์ทั้งในประเทศและความสำเร็จในต่างประเทศ การจัดทำ Roadmap เพื่อให้เห็นทิศทางการผลักดัน Digital ID ของประเทศ ตลอดจนการเสนอแนะ “มาตรฐาน” เพื่อรองรับการใช้งาน Digital ID

ผู้ให้บริการและออก Digital ID จะเลือกระดับความยากต่อการเข้าถึงข้อมูลแค่ไหนในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละบริการ เช่น หากเป็นธุรกรรมทางการเงิน ต้องใช้ระบบพิสูจน์ และยืนยันตัวตนดิจิทัลในระดับกลางขึ้นไป นั่นคือการขอมี Digital ID ด้วยการพิสูจน์ตัวตนจากบุคคลจริงเท่านั้น เป็นต้น

ระยะที่สอง ที่ ETDA มีส่วนร่วม คือการออกกฎหมายเพื่อรับรองการใช้ Digital ID ให้เป็นส่วนหนึ่งใน พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ซึ่งจุดนี้ทำให้  ETDA Sandbox  ได้เปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน ตลาดการเงิน และตลาดทุนเข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมบริการเพื่อสร้างความน่าเชื่อ และความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐาน

ระยะที่สาม เป็นระยะของการเตรียมออกกฎหมายลูกที่จะนำมากำกับดูแลการให้บริการ Digital ID คือ     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. …. กฎหมายนี้จะเกี่ยวข้องทั้งกลุ่มแพลตฟอร์มกลางในการยืนยันตัวตน เช่น บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) เพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีเสถียรภาพ ไม่ล่ม และควบคุมกลุ่มผู้ออก Digital ID หรือ  IdP เช่น ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะต้องมีใบอนุญาตว่าสามารถให้บริการที่น่าเชื่อถือได้ สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ETDA คาดว่าจะสามารถตรากฎหมายและบังคับใช้ได้จริงได้ประมาณช่วงกลางปี 2566 ตามแผนงาน

ภายใต้การดำเนินงานระยะที่สามนี้ ETDA ยังมีแคมเปญเพื่อส่งเสริมการใช้งาน Digital ID ในชื่อ “MEiD” (มีไอดี) “บริการไทย…ไร้รอยต่อ” มาตั้งแต่ปี 2564 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้ทำความรู้จัก และเข้าใจความสำคัญของ Digital ID โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางโซเชียลมีเดียมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเมื่อวันที่  21 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ETDA มีการจัดอีเวนต์สัมมนาแบบไฮบริด “The Secret of Financial e-Transaction : ไขทุกความลับ ปลดล็อกทุกธุรกรรมการเงินแห่งโลกอนาคต” รวบรวมผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มาร่วมสะท้อนมุมมองการขับเคลื่อน Digital ID ในประเทศไทย ที่จะช่วยให้คนไทยที่สนใจ ได้รู้เท่าทันเทคโนโลยีดังกล่าว และเตรียมตัวหากจะทดลองใช้บริการเกี่ยวกับ Digital ID มากขึ้น รวมถึงการอัปเดตบริการด้านการเงินที่มีการเชื่อมต่อระบบกับ Digital ID และพร้อมให้คนไทยใช้บริการแล้ว (ผู้ที่สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/meid.thailand/videos/459222172695261)


“D.DOPA” แกนหลักบริการ Digital ID ของภาครัฐ

ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนที่นำ Digital ID ไปใช้งานสำเร็จแล้ว ดังตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น ทำให้คนไทยได้สัมผัสประโยชน์ในมุมของความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นเมื่อเราสามารถพิสูจน์ และยืนยันตัวตนผ่านช่องทางดิจิทัลได้ ที่หมายถึงคนไทยจะสามารถทำธุรกรรมที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้

อย่างไรก็ตาม บริการที่สามารถใช้ Digital ID ได้จะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ โดยในฝั่งภาครัฐ ก็มีการให้บริการ Digital ID เต็มรูปแบบ และครอบคลุมประชาชนไทยส่วนใหญ่ นั่นก็คือ DOPA-Digital ID ในแอปพลิเคชัน D.DOPA ที่รับผิดชอบโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

D.DOPA เป็นบริการการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลให้กับประชาชนคนไทย ที่จะนำบัตรประชาชนของเราแบบเดิม มาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีเป้าหมายเพื่อปลดล็อกการให้บริการของภาครัฐและการทำธุรกรรมยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง ทำให้ประชาชนสามารถติดต่อราชการแบบออนไลน์ได้ ไม่ต้องเดินทางมาแสดงตัวตนที่หน่วยงานราชการทุกครั้งอย่างที่เคยทำ ทำให้ประหยัดเวลา ลดการสัมผัส และสะดวกสบายในการทำธุรกรรมกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น

ขณะนี้ D.DOPA อยู่ในระยะนำร่องการให้บริการ ประชาชนสามารถใช้งานบริการภาครัฐได้แล้วผ่านหลายรายการในแอปฯ D.DOPA เช่น จองคิวออนไลน์เพื่อรับบริการภาครัฐที่หน่วยราชการ, การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ลงทะเบียนเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ฯลฯ ปัจจุบันเริ่มมีประชาชนลงทะเบียนพิสูจน์ และยืนยันตัวตนดิจิทัลผ่านแอปฯ D.DOPA แล้วหลายหมื่นคน โดยมีเป้าหมายในระยะแรก 100,000 คน

ดร.ชัยชนะกล่าวว่า ในอนาคตหากประชาชนสามารถใช้บริการ DOPA-Digital ID ได้อย่างเต็มรูปแบบ จะเปรียบเสมือนเป็นแกนหลักของฐานข้อมูลให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่จะมาเชื่อมโยงเพื่อใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลได้เพิ่มและขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐด้วยกันในการผลักดันให้คนไทยเกิดการใช้งาน Digital ID ได้อีกหลายๆ หน่วยงาน และจะก่อให้เกิดประโยชน์ไปยังธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัป ที่ต้องการสร้างธุรกิจออนไลน์ และต้องอาศัยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ก็สามารถเข้ามาใช้ฐานข้อมูลจากกรมการปกครองผ่านบริการ DOPA-Digital ID ได้ทันที

ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อมาคือ เมื่อมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนที่รองรับการใช้ DOPA-Digital ID ก็จะทำให้ประชาชนสนใจมาพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกันมากขึ้น เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็น และความสะดวกสบายที่จะได้รับ

สำหรับประชาชนที่ต้องการมี DOPA-Digital ID และทดลองใช้งาน สามารถสมัครได้ทันทีที่แอปฯ D.DOPA ซึ่งในครั้งแรกของการสมัคร จะต้องเข้าไปพิสูจน์ตัวตนด้วยตนเองที่สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นใน 1,028 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ตัวตนทางออฟไลน์ ครั้งแรกและครั้งเดียว เพื่อป้องกันการถูกสวมรอย จากนั้นเราก็จะสามารถทำธุรกรรมทางออนไลน์ ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น

ผู้อำนวยการ ETDA มองอนาคตของ Digital ID ในประเทศไทยว่า เมื่อหลายหน่วยงานเริ่มเห็นแล้วว่า การพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัลมีความปลอดภัย มีสเถียรภาพ ก็จะเริ่มมีการเปิดให้ประชาชนใช้งานได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยที่จะได้ก้าวสู่โลกแห่งดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบต่อไป