เบื้องหลัง ‘สตาร์ทอัพ’ SCG HOME ซุ่มบ่มเพาะใน Nexter Incubator หน่วยค้นหา ‘ดาวดวงใหม่’

SCG HOME Nexter Incubator
ชื่อของแพลตฟอร์ม “คิวช่าง” (Q-CHANG) น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาผู้บริโภคอยู่บ้าง ในฐานะตัวกลางจัดหาช่างซ่อม ปรับปรุง ต่อเติมบ้าน โดยคิวช่างคือหนึ่งในผลผลิตที่มาจาก Nexter Incubator หน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อมาบ่มเพาะ “สตาร์ทอัพ” เฟ้นหาดาวดวงใหม่ทางธุรกิจที่จะช่วยให้ SCG HOME ต่อยอดและขยายธุรกิจได้ในอนาคต

SCG HOME (เอสซีจี โฮม) นั้นเป็นธุรกิจหนึ่งในกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของ เอสซีจี ธุรกิจหลักของหน่วยนี้คือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้างในช่องทางรีเทล เจาะกลุ่มตลาดลูกค้ารายย่อยที่จะสร้างบ้านเอง ปรับปรุงบ้าน หรือซ่อมแซมต่อเติมบ้าน

อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์ของหน่วยธุรกิจนี้เห็นว่าการมีเพียงธุรกิจเดียว ไม่น่าจะยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า ทำให้เมื่อปี 2560 บริษัทมีการตั้งหน่วยธุรกิจย่อยออกมาในชื่อ ‘Nexter Incubator’ เพื่อรองรับกระแสดิจิทัล ดิสรัปชันซึ่งเป็นคลื่นลูกใหญ่ในขณะนั้น

ศานิตย์ ภู่บุบผา ผู้อำนวยการ เน็กซเตอร์ อินคิวเบเตอร์

“โจทย์ในเวลานั้นคือเกิดวาระครบรอบ 100 ปีเอสซีจี และเรามองว่า เราต้องสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้เร็วขึ้น เพื่อให้เอสซีจีของเรายังอยู่ในตลาดในอีก 100 ปีถัดไป” ศานิตย์ ภู่บุบผา ผู้อำนวยการ เน็กซเตอร์ อินคิวเบเตอร์ กล่าว

คำตอบของการสร้างธุรกิจใหม่ให้เร็ว คือการทำงานแบบ “สตาร์ทอัพ” โดยเอสซีจีอยู่ในฐานะนักลงทุน ผู้บ่มเพาะ เป็นสนามเด็กเล่นให้ทดลองทำ และมีพนักงานในเครือเป็นผู้เสนอไอเดีย จนถึงการเป็น ‘เถ้าแก่’ คือเป็นผู้ร่วมก่อตั้งด้วยตนเอง

 

ใช้ระบบ “Internal Start-up” กระตุ้นพนักงานลงมือทำ

ระบบผลักดันสตาร์ทอัพของ SCG HOME จะแตกต่างจากบริษัทอื่น คือหลักๆ จะเน้นผลักดันพนักงานภายในของบริษัทให้ก่อตั้งสตาร์ทอัพขึ้นมา และถ้าหากไอเดียผ่าน มีความเป็นไปได้จริงทางธุรกิจ บริษัทจะบ่มเพาะผ่านทาง Nexter Incubator พนักงานรายนั้นหรือกลุ่มนั้นจะแปรสถานะจากการเป็นพนักงานเอสซีจี มาสู่การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพ/เจ้าของธุรกิจเต็มตัว แต่เป็นสตาร์ทอัพที่มี ‘พี่เลี้ยง’ คนแรกคือเอสซีจี

ศานิตย์กล่าวว่า การจะปั้น Internal Start-up ขึ้นมาไม่ใช่เรื่องง่ายที่เกิดได้เอง แต่บริษัทมีการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นจริง 5 ประการ คือ

1.การคัดสรรหา “ทาเลนต์” – บริษัทจะมีการจัดเวิร์กช็อป สัมมนา ที่เกี่ยวข้องกับการก่อตั้งสตาร์ทอัพ ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมผู้ที่มีแพสชัน มีความสนใจ

2.Agile & Lean – สร้างระบบการทำงานใหม่ที่เหมาะกับสตาร์ทอัพซึ่งต้องมีความเร็ว ปรับกฎระเบียบเดิมของบริษัทใหญ่ให้เหมาะสม เพื่อให้รอบการทำงานสั้นลง

3.สร้าง Sandbox – ปรับระบบให้สตาร์ทอัพมีโอกาสทดลองทำธุรกิจจริงบนสนามของเอสซีจี

4.Open Innovation – เน้นหาความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ภายนอก ทำให้สตาร์ทอัพแข็งแกร่งขึ้นเร็ว

5.พร้อมที่จะ Plug-in – หากสตาร์ทอัพรายนั้นมีความพร้อม SCG HOME ก็พร้อมที่จะเปิดระบบ Plug-in นำธุรกิจนั้นเข้ามาเสริมกันทันที

SCG HOME สตาร์ทอัพ
SCGHOME.com ถือเป็นสตาร์ทอัพมาก่อน ก่อนที่จะ spin-in มาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจหลักเอสซีจี

สุดท้ายปลายทาง หากสตาร์ทอัพสามารถฝ่าด่านทางธุรกิจและมีความแข็งแรงในระดับหนึ่ง ศานิตย์กล่าวว่า จะมีทางเลือก 2 แบบที่จะเกิดขึ้นระหว่าง “Spin-in” เอสซีจีลงทุนทั้งหมดเพื่อนำธุรกิจของสตาร์ทอัพนั้นเข้ามาเป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก หรือ “Spin-off” ธุรกิจนั้นเป็นสตาร์ทอัพในมือของพนักงานที่บัดนี้เป็นเจ้าของธุรกิจเต็มตัว มีสิทธิในการระดมทุนจากแหล่งใดก็ได้ ส่วนเอสซีจีจะเข้าลงทุนด้วยหรือไม่และสัดส่วนเท่าใด ขึ้นอยู่กับการเจรจาเป็นรายๆ ไป

การจะเลือกว่า Spin-in หรือ Spin-off ขึ้นอยู่กับการพูดคุยระหว่างบริษัทและเจ้าของ ซึ่งมักจะมองความเหมาะสมว่าธุรกิจนั้นสร้างมาเพื่อตอบโจทย์ให้กับเอสซีจีเท่านั้น หรือมีศักยภาพที่จะขยายธุรกิจได้กว้างกว่า เหมาะสมที่จะเป็นธุรกิจที่แยกตัวออกไป

 

“คิด สร้าง ซ่อม อยู่” วัฏจักรบ้านที่ SCG HOME สนใจ

ด้านโจทย์ของ SCG HOME ว่าต้องการสตาร์ทอัพทำธุรกิจในด้านใด ต้องกลับมาที่การเป็นธุรกิจเรื่อง ‘บ้าน’ ของบริษัท ศานิตย์อธิบายว่าวัฏจักรของบ้านนั้นคือ “คิด สร้าง ซ่อม อยู่” แต่ที่ผ่านมาบริษัทตอบโจทย์หลักๆ เฉพาะการสร้าง ทำให้ธุรกิจที่สนใจจะมาตอบในส่วนอื่นๆ ที่เหลือของวัฏจักร หากจัดหมวดหมู่แล้วจะมี 5 ส่วนที่สนใจบ่มเพาะ คือ

  • Retail Experience: พัฒนาประสบการณ์ลูกค้าในร้านค้าปลีก (เสริมธุรกิจปัจจุบันที่มีอยู่)
  • Service Solution: บริการเกี่ยวกับการทำบ้าน
  • Healthy Living: พัฒนาการอยู่อาศัยที่สมดุลทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม
  • Smart Living: พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอัจฉริยะในการอยู่อาศัย
  • Net Zero Living: พัฒนานวัตกรรมลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในการอยู่อาศัย
สตาร์ทอัพ SCG HOME
อีกหนึ่งสตาร์ทอัพที่กำลังฟูมฟัก Design Connext ช่วยให้ลูกค้าและสถาปนิกออกแบบบ้านมาเจอกัน ผลพวงของการสร้างบ้านทำให้ SCG HOME มียอดขายต่อเนื่องจากแอปฯ นี้ด้วย

ผ่านไป 5 ปีของการตั้งโจทย์และการปรับระบบในบริษัท ศานิตย์บอกว่า บริษัทมีโปรเจกต์นำเสนอและทดลองทำปีละ 10-20 โปรเจกต์ แต่ที่จะผ่านด่านแต่ละด่านจนเข้าขั้นการเป็นธุรกิจจริงไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะนี้ที่นับว่าสำเร็จแล้วในระดับหนึ่งมี 4 โปรเจกต์ คือ

  • Design Connext (ดีไซน์ คอนเนค) แพลตฟอร์มกลางเชื่อมต่อสถาปนิกกับลูกค้าสร้างบ้าน สร้างยอดขายมูลค่าสะสม 142 ล้านบาท มีสถาปนิกบนเครือข่ายกว่า 2,500 คน ลูกค้าบนเครือข่ายกว่า 6,600 คน
  • SCGHOME.COM แพลตฟอร์มออนไลน์ของ SCG HOME (ปัจจุบัน Spin-in เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทแล้ว)
  • คิวช่าง (Q-CHANG) แพลตฟอร์มกลางเชื่อมต่อช่าง/แม่บ้านกับลูกค้า สร้างยอดขายมูลค่าสะสม 280 ล้านบาท คำสั่งจ้างมากกว่า 65,000 ครั้ง มีช่างบนแพลตฟอร์มกว่า 1,350 ทีม ครบทุกจังหวัดในไทย
  • My Home (มาย โฮม) แอปพลิเคชันช่วยเจ้าของบ้านในการดูแลบ้าน เช่น แจ้งเตือนถึงรอบล้างแอร์ แนะนำวิธีตรวจสอบอุปกรณ์ในบ้าน

คิวช่าง ถือเป็นธุรกิจที่สร้างความหวังให้กับกลยุทธ์นี้เพราะหลังก่อตั้งมา 3 ปี ถือว่าเริ่มติดตลาดแล้ว โดยปีก่อนทำรายได้ 87 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าจะเติบโต 3 เท่าเป็น 250 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มขยายไปในกลุ่มประเทศอาเซียนเร็วๆ นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยว่าจะ ‘Spin-off’ หรือไม่

จุดหมายปลายทางของ SCG HOME คือการปั้นให้สตาร์ทอัพเหล่านี้เป็นธุรกิจใหม่ที่ scale up จนเป็นแหล่งรายได้สำคัญแหล่งใหม่ …หรืออาจจะใหญ่กว่าธุรกิจเดิมได้ก็ยิ่งดี!