“Gother” สตาร์ทอัพไทยสู้ศึกแอปฯ OTA ประเดิมดึงเม็ดเงินลงทุน 200 ล้านจาก “กสิกรไทย – กรุงไทย”

“Gother” สตาร์ทอัพแพลตฟอร์ม OTA สัญชาติไทย ลงสนามสู้ศึกทุนต่างชาติ “กสิกรไทยกรุงไทย” เห็นแววตอบรับร่วมลงทุนรวม 200 ล้านบาท พร้อมเปิดให้ผูกหน้าการจองตรงผ่านแอปฯ “K PLUS” และ “Krungthai NEXT – เป๋าตังค์ ถุงเงิน” โดยไม่ต้องโหลดแอปฯ เพิ่มในเครื่อง เปิดประตูการเข้าถึงลูกค้าได้ถึง 50 ล้านราย

“อนุพงษ์ เกรียงไกรลิปิกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสิร์ชเอ็นจินอ็อปทิไมเซชั่น จำกัด ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์ม “Gother” (โกเธอร์) อย่างเป็นทางการ พร้อมบุกตลาด OTA (Online Travel Agency) ในประเทศไทยเต็มตัว โดยแพลตฟอร์มนี้ปัจจุบันมีฟีเจอร์ให้จองทั้งสายการบิน, ที่พัก, กิจกรรม และเดือนตุลาคมนี้จะเปิดฟีเจอร์การจองรถเช่าอีกด้วย

ทีมงาน Gother ที่จริงแล้วไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการ เพราะผู้ก่อตั้งเป็นทีมเดียวกับเจ้าของแพลตฟอร์ม “TraveliGo” (ทราเวลไอโก) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 อย่างไรก็ตาม อนุพงษ์กล่าวว่า ในระยะหลังพบว่ามีแอปฯ OTA อื่นๆ ที่มาใช้ชื่อคล้ายกันและสีคล้ายกัน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ในช่วงโควิด-19 ซึ่งการท่องเที่ยวหยุดชะงัก จึงกลับมาทบทวนและตัดสินใจก่อตั้งแพลตฟอร์มใหม่เป็น Gother ใช้ชื่อที่แตกต่าง และใช้โลโก้สีแดงให้ไม่เหมือนใคร

Gother OTA
“อนุพงษ์ เกรียงไกรลิปิกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสิร์ชเอ็นจินอ็อปทิไมเซชั่น จำกัด

หลังจากรีแบรนด์ก่อตั้งแพลตฟอร์มใหม่เมื่อปี 2565 บริษัทได้รับเงินลงทุนครั้งแรกในปี 2566 จากบีคอน วีซี เครือธนาคารกสิกรไทย มูลค่าการลงทุน 100 ล้านบาท ตามด้วยปี 2567 รับเงินลงทุนจาก กรุงไทย เวนเจอร์ส มูลค่าการลงทุน 100 ล้านบาท พร้อมแย้มด้วยว่าในปี 2568 อาจจะได้รับเงินลงทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุนที่สนใจอีกรายหนึ่ง

 

เปิดประตูสู่ลูกค้า 50 ล้านคน

อนุพงษ์กล่าวด้วยว่า การได้รับเงินลงทุนจากธนาคารทั้งสองรายถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัท ไม่ใช่แค่เรื่องเงินลงทุน แต่เข้ามาช่วยให้แพลตฟอร์มดูน่าเชื่อถือสูงขึ้นมาก

“เวลาที่เราเพิ่งเริ่มต้นตั้ง OTA คนจะกลัวมากว่าเราน่าเชื่อถือหรือเปล่า จองไปแล้วจะมีที่พักจริงๆ ไหม การที่มีธนาคารรายใหญ่มาร่วมทุนจึงช่วยให้เราดูน่าเชื่อถือมากขึ้น” อนุพงษ์กล่าว

ปัจจุบัน Gother มีฐานลูกค้าแล้ว 2 แสนราย และหวังว่าจะเพิ่มฐานลูกค้าได้อีก 1.5 แสนรายภายในสิ้นปี 2567

Gother OTA

หนทางหนึ่งที่แพลตฟอร์มจะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างที่ตั้งเป้า คือ การผูกหน้าการจองของ Gother เข้ากับแอปพลิเคชันของธนาคาร ได้แก่ “K PLUS” ของธนาคารกสิกรไทย และ “Krungthai NEXT – เป๋าตังค์ ถุงเงิน” สามแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย ซึ่งอนุพงษ์ประเมินว่า ฐานลูกค้าของทั้งคู่รวมกันน่าจะทะลุ 50 ล้านคน

ลูกค้าที่สนใจจองผ่าน Gother จึงไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปฯ แค่เข้าไปในแอปฯ ของธนาคารก็สามารถลงทะเบียน จองทุกอย่าง และชำระเงินจบในแอปฯ ธนาคารได้เลย ความสะดวกสบายนี้จึงน่าจะชวนให้คนไทยเข้ามาลองใช้ Gother ได้ง่ายขึ้น

 

ชูเรื่อง “กิจกรรม” ตรงใจคนไทย

มีช่องทางเข้าถึงคนไทยได้ง่ายขึ้นแล้ว อีกจุดขายที่ Gother เชื่อว่าจะเจาะคนไทยได้ คือการชูโรงการจอง “กิจกรรม” ที่ออกแบบคัดเลือกมาให้โดนใจคนไทย ซึ่งในแอปฯ จะเรียกว่า “KLUB” เพราะแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามไลฟ์สไตล์เฉพาะกลุ่ม เช่น คอกาแฟ, มูเตลู, ครอบครัว, ดำน้ำ

ตัวอย่าง KLUB การจองกิจกรรมตามไลฟ์สไตล์เฉพาะกลุ่ม

ยกตัวอย่าง กลุ่มคอกาแฟก็จะมีกิจกรรม เช่น ทัวร์ไร่กาแฟและโรงคั่ว กลุ่มมูเตลูก็จะมีกิจกรรม เช่น ไหว้พระกับอาจารย์ดัง หรือกลุ่มครอบครัวก็มีกิจกรรม เช่น พาลูกเที่ยวผจญภัย

กิจกรรมเหล่านี้อนุพงษ์มองว่าจะเป็นจุดขายทั้งในกลุ่มผู้บริโภค และเปิดโอกาสให้คนไทยในระบบนิเวศการท่องเที่ยวมาสร้างกิจกรรมดีๆ ในท้องถิ่นของตัวเองกันมากขึ้น

 

ค่าคอมฯ ต่ำกว่าเพื่อน 2-3%

ฝั่งผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทางแอปฯ Gother ก็มีหมัดเด็ดที่จะชักจูงใจให้มาขายบนแพลตฟอร์มคือ “ค่าคอมมิชชันต่ำกว่า 2-3%” เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ และไม่มีระบบจ่ายค่าสปอนเซอร์เพื่อดันตนเองขึ้นไปอยู่ลำดับแรกๆ ในหน้าค้นหา แต่จะเปลี่ยนเป็นการแข่งกัน “ให้โปรโมชันลูกค้า” มากกว่า

“ตัวอย่างเช่นถ้าโรงแรมคุณจัดโปรฯ จองห้องพักแถมนวดสปาให้ลูกค้า เราก็จะดันขึ้นไปลำดับแรกๆ ให้ เราไม่ได้อยากให้ส่วนนี้มาจ่ายตรงให้เรา อยากให้คืนกำไรให้กับลูกค้าดีกว่า” อนุพงษ์กล่าว

 

สนับสนุนแอปฯ คนไทย เงินไม่ไหลออกนอก

ด้านผู้ร่วมลงทุนในแอปฯ นี้อย่าง “ธนพงษ์ ณ ระนอง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ตัดสินใจลงทุนกับ Gother เพราะที่จริงแล้วทางธนาคารเล็งเห็นมานานว่ากลุ่ม TravelTech เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ ด้วยระบบนิเวศการท่องเที่ยวเมืองไทยมีเม็ดเงินหมุนเวียนถึงปีละ 5 แสนล้านบาท

“OTA เจ้าใหญ่ทั้งสองเจ้าตอนนี้ได้กำไรมหาศาลแล้วนะ พ้นระยะการเป็นธุรกิจ burn cash (เผาเงินทุน) กันไปหมดแล้ว ทำให้ตลาดนี้น่าสนใจมาก ถ้าเข้ามาชิงเค้กได้ก็จะได้กำไรทันที” ธนพงษ์กล่าว “และเรามองว่าถ้าผลักดันให้คนไทยจอง OTA ไทยได้ก็จะลดการรั่วไหลของเงินออกไปต่างประเทศด้วย”

(แถวหน้าจากซ้าย) “สุริพงษ์ ตันติยานนท์” , “อนุพงษ์ เกรียงไกรลิปิกร” และ “ธนพงษ์ ณ ระนอง”

ส่วน “สุริพงษ์ ตันติยานนท์” ประธานกรรมการ บริษัท กรุงไทย เวนเจอร์ส จำกัด ก็มองในทิศทางใกล้เคียงกันว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ในไทย เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลายส่วน

การลงทุนกับ Gother ของกรุงไทย เวนเจอร์สเกิดขึ้นเพราะเล็งเห็นว่า Gother จะเข้ามาช่วยยกระดับธุรกิจไทยและชีวิตคนไทยได้ รวมถึงมีศักยภาพพอที่ในอนาคตจะขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

เป้าหมายของ Gother ในปีนี้ อนุพงษ์ระบุว่าจะมีการลงทุนงบการตลาดถึง 80 ล้านบาท ระดม KOLs เพื่อสร้างคอนเทนต์ให้คนไทยรู้จักแอปฯ และตั้งเป้ายอดขายผ่านแอปฯ รวม 400 ล้านบาท ขณะที่ปี 2568 ตั้งเป้ายอดขายว่าจะไปให้ถึง 1,000 ล้านบาทให้ได้