แบรนด์ใหม่ “Garner” โรงแรมระดับกลางจาก “IHG” เจาะกลุ่มโรงแรมอิสระเปลี่ยนมาใช้เชนนอกบริหาร

“IHG” เปิดตัวแบรนด์ใหม่ “Garner” ในราคาต่ำกว่า “Holiday Inn Express” หวังอุดช่องว่างตลาดโรงแรมระดับกลาง ตอบโจทย์กลุ่มโรงแรมอิสระไม่มีแบรนด์เปลี่ยนใจใช้เชนนอกบริหาร ด้วยเงื่อนไขการปรับปรุงโรงแรมที่น้อยกว่า ชี้เทรนด์ตลาดปัจจุบันมีโรงแรมอิสระที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้เชนมากกว่าที่เคย

“วิเวก บัลลา” กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี IHG เปิดเผยว่า บริษัทกำลังเริ่มทำตลาดแบรนด์ “Garner” ในประเทศไทย โดยแบรนด์ดังกล่าวเป็นแบรนด์ใหม่ของ IHG ที่เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ปัจจุบันมีให้บริการแล้ว 4 แห่งในสหรัฐฯ และอยู่ในไปป์ไลน์การเปิดตัวอีก 79 แห่งทั่วโลก เฉพาะในเอเชียจะมีการเปิดโรงแรม Garner 3 แห่งแรกภายในสิ้นปีนี้ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

ลักษณะเด่นของแบรนด์ Garner คือการเข้ามาอุดช่องว่างในตลาดให้กับ IHG เพราะเป็นแบรนด์โรงแรมระดับกลางซึ่งช่วยตอบโจทย์ลูกค้าผู้เข้าพักที่ต้องการเฉพาะห้องพักในระดับมาตรฐาน นอนพักสบาย ไวไฟแรง และสามารถเลือกรับหรือไม่รับประทานอาหารเช้าได้

Garner
โรงแรม Garner Oklahoma สหรัฐฯ

รวมถึงจะตอบโจทย์กลุ่มเจ้าของโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมอิสระไม่มีแบรนด์ที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้เชนมืออาชีพช่วยบริหาร เพราะมาตรฐานและเงื่อนไขด้านโครงสร้างพื้นฐานของ Garner จะยืดหยุ่นกว่า ช่วยให้โรงแรมอิสระสามารถปรับปรุงห้องพักเพื่อมาอยู่ในเชนของ IHG ได้ง่ายขึ้น เช่น ห้องพักขนาดขั้นต่ำเพียง 15 ตารางเมตร, มีห้องพักขั้นต่ำเพียง 150 ห้อง, ไม่จำเป็นต้องมีสระว่ายน้ำ ฟิตเนส และร้านอาหารที่เปิดครบทุกมื้อ

ในแง่งานบริการใน Garner มีการลดทอนลงมาเช่นกัน เช่น Welcome Drink ในลักษณะบริการตนเอง, มื้อเช้าแบบ Grab & Go, เปลี่ยนจากบริหารรูมเซอร์วิสเป็น ‘Garner Shop’ ซึ่งอาจจะตั้งเป็นเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติแทนการใช้พนักงาน

Garner
ตัวอย่างการจัด Welcome Drink แบบบริการตัวเองของ Garner

ทั้งหมดจะทำให้ Garner บีบราคาลงมาได้ต่ำกว่า Holiday Inn Express ซึ่งปัจจุบันเป็นเทียร์ต่ำสุดของ IHG ในโรงแรมระดับกลาง ตัวอย่างราคาของ Holiday Inn Express Central Pattaya จะอยู่ที่ 1,500-2,500 บาทต่อคืน แบรนด์ใหม่นี้จะมาช่วยอุดช่องว่างในระดับราคาที่ต่ำกว่านั้น แต่ยังอยู่เหนือกว่ากลุ่มบัดเจ็ทโฮเทล

 

เทรนด์โรงแรมอิสระเปลี่ยนมาใช้เชนบริหารสูงขึ้น

วิเวกกล่าวถึงเทรนด์การเปลี่ยนจากโรงแรมอิสระที่ไม่ใช้เชนมาเป็นเชนบริหาร (Conversion) ด้วยว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลกเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 โดยข้อมูลจาก Horwath และ Lodging Economics พบว่า ย้อนไปในปี 2562 อัตราโรงแรมที่เป็นสัญญา Conversion อยู่ที่ 15% จากสัญญาจ้างเชนบริหารทั้งหมด แต่ในปี 2566 อัตราส่วนเพิ่มเป็น 33% และปี 2567 ปัจจุบันเพิ่มเป็น 40%

หากเจาะลึกเฉพาะตลาดประเทศไทย ในปี 2562 อัตราโรงแรมที่เป็นสัญญา Conversion อยู่ที่ 21% แต่ในปี 2566 อัตราส่วนเพิ่มเป็น 58% เห็นได้ว่าเทรนด์ของโรงแรมอิสระที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้เชนบริหารเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยนับว่าเกินครึ่งของตลาด สูงกว่าการทำสัญญากับกลุ่มโรงแรมเปิดใหม่

IHG
สินธร มิดทาวน์ กรุงเทพฯ, วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น หนึ่งในโรงแรมที่เปลี่ยนจากการเป็นโรงแรมอิสระมาใช้เชน IHG ในการบริหาร

วิเวกอธิบายว่า สาเหตุที่โรงแรมอิสระเริ่มสนใจเปลี่ยนมาใช้เชนบริหาร เพราะการเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มบริษัทมักจะควบคุมต้นทุนได้ดีกว่า เช่น การเจรจาต่อรองค่าคอมมิชชันกับ OTA (Online Travel Agency) และการเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างกว่า รวมถึงเทรนด์ของลูกค้าต้องการเข้าพักกับโรงแรมที่ใช้เชนบริหารมากขึ้น

ทั้งนี้ การทำสัญญา Conversion เกิดขึ้นในทุกๆ เซ็กเมนต์โรงแรม เพียงแต่ IHG มีพอร์ตบริหารเกินครึ่งหนึ่งเป็นโรงแรมระดับกลาง ได้แก่ Holiday Inn และ Holiday Inn Express ทำให้เห็นโอกาสว่ายังมีช่องว่างตลาดอีก เพราะโรงแรมอิสระในประเทศไทยมีมากกว่า 1,400 แห่ง ตามข้อมูลจาก STR

 

เชื่อธุรกิจโรงแรมยังขาขึ้นอีกอย่างน้อย 2-3 ปี

ด้านเทรนด์ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย วิเวกระบุว่า ครึ่งปีแรก 2567 อัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) ทั้งหมดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 13% จากปีก่อน เป็นผลจากเกิดเปิด Visa-Free ให้กับหลายประเทศ จึงคาดการณ์ว่าตลอดปีนี้อัตราการเติบโตของ RevPAR จะยังคงเป็นตัวเลขสองหลักได้

IHG
“วิเวก บัลลา” กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี IHG

โดยจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเป็น ภูเก็ต เกาะสมุย และกรุงเทพฯ และมีค่าเฉลี่ยการเข้าพักทริปละ 3 คืนขึ้นไป ส่วนจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวไทยจะเป็นเมืองหัวหิน พัทยา ระยอง และเขาใหญ่ และมีค่าเฉลี่ยเข้าพักทริปละ 2 คืน

แนวโน้มในอนาคต จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามายังประเทศไทยคาดจะเติบโตสะสม 14.8% ภายในปี 2571 ทำให้การเติบโตด้านการท่องเที่ยวน่าจะยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2-3 ปีจากนี้

สำหรับ IHG ปัจจุบันมีแบรนด์โรงแรมที่เปิดบริการแล้วในไทยทั้งหมด 9 แบรนด์ รวมทั้งหมด 39 แห่ง และยังมีโรงแรมในไปป์ไลน์ระหว่างก่อสร้างหรือปรับปรุงอยู่อีก 35 แห่งที่จะเปิดบริการในอนาคต