OATSIDE สตาร์ทอัพนมข้าวโอ๊ตจากสิงคโปร์ ทิ้งตำแหน่ง CFO แล้วเริ่มธุรกิจในยุคโควิด!

OATSIDE แบรนด์นมข้าวโอ๊ตจากประเทศสิงคโปร์เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ หวังชิงส่วนแบ่งตลาดนมจากพืช เป็นทางเลือกสำหรับคนแพ้นมวัว นำร่องตลาดด้วยฟู้ดเซอร์วิสเพื่อกระตุ้นการลองชิมก่อน

ผันตัวจาก CFO แบรนด์อาหารยักษ์ใหญ่ ลุยสตาร์ทอัพ

ณ เวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จักตลาด Plant-based หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช แต่เดิมจะมีแค่อาหาร สำหรับคนที่ต้องการหลีกเลี่ยงการทานเนื้อสัตว์ แต่ไม่ถึงกับวีแกน ตอนนี้เริ่มมีทั้งนม, ไอศกรีมที่ทำจากพืชเช่นกัน โดยไม่ใช้นมวัว แต่ใช้เป็นกลุ่มอัลมอลล์ ข้าวโอ๊ต และถั่วเหลือง เป็นต้น ตอบรับผู้บริโภคที่แพ้นมวัว

ตลาด Plant-based Milk หรือนมพืช จึงมีการเติบโตสูงมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มคนที่แพ้นมวัวแล้ว ยังตอบรับคนที่ต้องการดูแลสุขภาพจากการเลี่ยงไขมันจากนมวัว ตอนนี้มีทางเลือกเยอะขึ้น โดยที่ปัจจุบันตลาดนมพืชในไทย และอาเซียนเติบโตดีกว่าตลาดนมวัวเสียด้วย

oatside

ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นแบรนด์นมพืชใหม่ๆ ลงสู่ตลาดมากมาย หนึ่งในนั้นคือ OATSIDE แบรนด์นมข้าวโอ๊ตสัญชาติสิงคโปร์ เพิ่งเริ่มทำตลาดได้เพียง 2 ปีเท่านั้น เรียกว่าเป็นบริษัทสตาร์ทอัพก็ว่าได้

ปัจจุบัน OATSIDE ระดมทุนได้แล้ว 22 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยปิดรอบ Pre-Series A ในเดือนธันวาคม 2563 นำโดย Proterra Investment Partners Asia เป็นบริษัทด้านการลงทุนใน private equity (เข้าซื้อหุ้นหรือลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ที่เน้นการลงทุนใน food value chain

ส่วนนักลงทุนรายอื่นๆ ได้แก่ Commonwealth Ventures เป็นบริษัทในเครือของ Commonwealth Capital กลุ่มธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มของสิงคโปร์, Wee Teng Wen จาก The Lo & Behold Group เป็นกลุ่มธุรกิจบริการชั้นนำของสิงคโปร์ที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ต่างๆ เช่น The Warehouse Hotel, Odette และ Loof รวมถึงกิจการของครอบครัวของ Cher Wang ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธาน VIA Technologies และ HTC Corporation

oatside
เบเนดิกต์ ลิม ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของ OATSIDE

OATSIDE ก่อตั้งโดย เบเนดิกต์ ลิม (Benedict Lim) นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ เขาเคยดำรงตำแหน่ง Chief Financial Officer ของ Kraft Heinz Indonesia แต่ยอมทิ้งตำแหน่ง และการทำงานกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก หันมาลุยธุรกิจส่วนตัว แถมยังเริ่มต้นธุรกิจในช่วงที่ COVID-19 ระบาดทั่วโลกอีกด้วย

เบเนดิกต์เป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว ในช่วงนั้นได้เริ่มต้นทดลองทำนมโอ๊ตเองที่บ้าน โดยใช้ส่วนผสมต่างๆ และกระบวนการสกัดหลายรูปแบบเพื่อให้ได้รสชาติและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกัน ถือเป็นนมโอ๊ตเจ้าแรกๆ ที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคแถบนี้ของโลก

หลังจากได้เงินลงทุนก็ได้เลือกเปิดโรงงานที่อินโดนีเซีย เป็นโรงงานแบบครบวงจร ที่เลือกประเทศนี้เพราะอยู่ใกล้ภูเขา มีแหล่งน้ำสะอาด ซึ่งน้ำแร่มีส่วนสำคัญอย่างมากในกระบวนการผลิตนมข้าวโอ๊ต

oatside

เบเนดิกต์ ลิม ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของ OATSIDE กล่าวว่า

“OATSIDE เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพด้านอาหารที่ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรรายเดียวในเอเชีย เพราะเราอยากควบคุมคุณภาพให้ได้ทั้งหมด เราจึงดูแลกระบวนการผลิตทั้งหมดเอง ตั้งแต่การจัดหาส่วนผสมไปจนถึงการสกัดนมโอ๊ต และการแบ่งบรรจุ ช่วยให้เราสามารถปรับแต่งกระบวนการผลิตนมโอ๊ต และคำนึงถึงความยั่งยืน”

ทำไมต้องเลือก “นมข้าวโอ๊ต”

ถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกที่จะทำ Plant-based Milk เบเนดิกต์บอกว่า เป็นตลาดที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง ในอาเซียนตลาดนี้มีสัดส่วนเพียง 10% ของภาพรวมนมพร้อมดื่มทั้งหมด ส่วนในไทยมีสัดส่วน 30% จากตลาดนมพร้อมดื่มที่มีมูลค่า 44,000 ล้านบาท โดยที่นมพืชมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% แต่นมวัวไม่มีการเติบโต

ส่วนที่เลือกนมข้าวโอ๊ตแบบเฉพาะเจาะจงอยู่สินค้าเดียว เพราะมองว่านมข้าวโอ๊ตมีความเป็นแป้งอยู่ในตัว เวลาดื่มเข้าไปมีความมัน ใกล้เคียงนมวัวที่สุด และในตัวข้าวโอ๊ตเองมีเบต้ากลูแคน ช่วยการทำงานของหัวใจ ช่วยลดคอเลสเตอรอล และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ทั้งยังมีไขมันอิ่มตัวต่ำอีกด้วย

oatside

ประกอบกับแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับนมวัว การผลิตนมโอ๊ตของ OATSIDE ใช้พื้นที่ และน้ำน้อยลง 90% และปล่อยมลพิษน้อยลง 70% และใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษแข็งรีไซเคิล (จากแหล่งที่ได้รับการรับรองจาก Forest Stewardship Council)

แต่ในตลาดนี้ก็ไม่หมูมากนัก แม้จะมีการเติบโตสูง แต่ก็มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการประเมินว่ามีคู่แข่งไม่ต่ำกว่า 5 แบรนด์ แต่เบเนดิกต์ไม่ได้มองแบรนด์ที่เป็น Plant-based Milk เป็นคู่แข่งโดยตรง กลับมองตลาดนมวัวเป็นคู่แข่งเสียมากกว่า เพราะอย่างแรกเลยต้องเอาชนะนมวัว ดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาดื่มนมพืชแทนนมวัวให้ได้ก่อน

ปัจจัยสำคัญในการเลือกดื่มยังคงเป็นเรื่องรสชาติที่ต้องถูกปาก และเรื่องราคา เพราะ Plant-based Milk มีราคาค่อนข้างสูงกว่านมวัวเฉลี่ยเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปริมาณเท่าๆ กัน นมวัวในขนาด 2 ลิตรราคา 91 บาท ในขณะที่นมพืชขนาด 1 ลิตรราคาเฉลี่ย 100 บาท

ตอนนี้ OATSIDE ได้ทำตลาด 10 ประเทศแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยที่ไทยเป็นประเทศที่ 6 ที่มีการทำตลาด พร้อมงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ตอนนี้ยังโฟกัสในกลุ่มประเทศในเอเชียก่อน เบเนดิกต์มองว่าอยากมีส่วนช่วยทำให้ตลาด Plant-based Milk เติบโต คาดการณ์ตัวเลขตลาดเติบโตปีละ 20% ยิ่งช่วยสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

เริ่มบุกจากคาเฟ่ กระตุ้นทดลองชิม

ในการทำตลาดในไทย OATSIDE ได้เริ่มเจาะตลาดฟู้ดเซอร์วิสก่อน หรือเข้าตามร้านคาเฟ่ ร้านกาแฟต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการทดลองชิมก่อน ตอนนี้เริ่มมีพาร์ตเนอร์ที่ใช้นม OATSIDE เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม และขนมแล้ว ได้แก่ The Coffee Club, True Coffee, ไอศครีม MollyAlly, Chikalicious และ Chaen Tea

“ในการทำตลาดประเทศอื่นๆ ก็เริ่มจากกลุ่มฟู้ดเซอร์วิสก่อน ในไทยก็เช่นเดียวกัน มองว่าช่องทางนี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างการทดลองชิมได้ง่ายกว่า ถ้าชอบก็มาดื่มอีก ถ้าเริ่มจากช่องทางรีเทลเลยรู้สึกว่าค่อนข้างยากที่จะให้ผู้บริโภคซื้อไซส์ 1 ลิตรไปทดลองชิมก่อน”

หลังจากเข้าฟู้ดเซอร์วิสแล้ว ก็เริ่มเข้าตลาดโมเดิร์นเทรด ร้านค้าต่างๆ ปัจจุบันมีวางขายที่ฟู้ดแลนด์, วิลล่า มาร์เก็ต และท็อปส์ มีขนาดแพ็กไซส์เดียวก็คือ 1 ลิตร คาดว่าจะมีแพ็กไซส์อื่นๆ ออกมา แต่อาจจะเป็นในช่วงปีหน้า

มีทั้งหมด 3 รสชาติ ได้แก่ บาริสต้าเบลนด์ (ราคา 115 บาท), ช็อกโกแลต (ราคา 115 บาท) และช็อกโกแลต เฮเซลนัท (ราคา 130 บาท) อีกทั้งจะจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง Shopee และ Lazada ด้วย