มองกลยุทธ์ ‘วี ฟาร์ม’ ทำไมต้องคอลแลป ‘ไร่สุวรรณ’ ออก ‘นมข้าวโพด’ ทั้งที่มีโปรดักส์เหมือนกัน?

หากใครเป็นสายเที่ยว โดยเฉพาะเที่ยว เขาใหญ่ เชื่อว่า ไร่สุวรรณ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คือแลนด์มาร์กที่ต้องแวะซื้อของฝาก โดยเฉพาะ น้ำนมข้าวโพด ที่เป็นสินค้าอันดับ 1 ของไร่สุวรรณ ล่าสุด ไร่สุวรรณ ได้ร่วมกับ วี ฟาร์ม ในการกระจายน้ำนมข้าวโพดไร่สุวรรณกระจายขายทั่วไทย คำถามคือ วี ฟาร์มมีน้ำนมข้าวโพดของตัวเองอยู่แล้ว ทำไมต้องร่วมกับไร่สุวรรณเพื่อออกโปรดักส์ที่เหมือนกันมาขายด้วย

ได้ทั้งแบรนด์ ได้ทั้งพื้นที่การขาย

ต้องยอมรับก่อนว่าแบรนด์ของ วี ฟาร์ม (V Farm) เกิดมาทีหลัง ไร่สุวรรณ พอสมควร เพราะวี ฟาร์มมีอายุเพียง 10 ปี แต่ไร่สุวรรณมีอายุ 60 ปี ดังนั้น กลุ่มคนที่รู้จักวี ฟาร์มและไร่สุวรรณจะเป็น คนละกลุ่ม โดยปัจจุบัน วี ฟาร์มมีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา และ First Jobber ส่วนกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ไร่สุวรรณจะเป็นกลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป ดังนั้น การร่วมกับไร่สุวรรณจะช่วย สร้างการรับรู้แบรนด์วี ฟาร์มไปในตัว

นอกจากนี้ วี ฟาร์มจะยัง ได้พื้นที่การขายเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน วี ฟาร์มครองพื้นที่การขายน้ำนมข้าวโพดเป็น อันดับ 1 ในช่องทางร้านค้าสะดวกซื้อ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 64% ดังนั้น การมีสินค้าใหม่เพิ่มก็จะยิ่งช่วยให้วี ฟาร์มยึดพื้นที่การขาย ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคจะเลือกหยิบรสไหน ดังนั้น อาจดูเหมือนการเปิดตัวน้ำนมข้าวโพด วี ฟาร์ม x ไร่สุวรรณ จะดูเหมือนจะมา แข่งกันเองกับสินค้าเดิม แต่เป็นการต่อยอดให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์วี ฟาร์มมากขึ้น และช่วยขยายกลุ่มลูกค้า และเพิ่มทางเลือกของสินค้า

ไร่สุวรรณขยายตลาดโดยไม่ต้องลงทุนเอง

ไม่ใช่แค่วี ฟาร์มจะได้ชื่อของไร่สุวรรณมาช่วยขยายฐานลูกค้า แต่ไร่สุวรรณก็จะได้ฐานลูกค้าใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกับไร่สุวรรณด้วย เนื่องจากสินค้าถูกกระจายไปสู่ เซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 14,000 สาขา ดังนั้น หากลูกค้าที่เคยลองวี ฟาร์ม x ไร่สุวรรณ ก็อาจจะหาโอกาสไปลองชิมน้ำนมข้าวโพด ออริจินอล ที่ไร่สุวรรณได้

นอกจากนี้ การมาของวี ฟาร์มยังช่วยแก้ Pain Point ของไร่สุวรรณที่ไม่สามารถขยายสินค้าไปทั่วประเทศได้ เพราะปัจจุบันน้ำนมข้าวโพดไร่สุวรรณมีกำลังการผลิตเพียง 8,000 ขวดต่อวัน ซึ่งแทบจะขายให้นักท่องเที่ยวที่มาฟาร์ม ไม่พอ ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ การที่น้ำนมข้าวโพดไร่สุวรรณจำหน่ายไปทั่วประเทศ ยังทำให้ทางไร่ประเมิน ดีมานด์ เพราะปัจจุบันทางไร่สุวรรณมีแผนจะ เพิ่มกำลังการผลิต เป็น 1 หมื่นขวดต่อวัน ซึ่งต้องศึกษาตลาดให้ดี โดยเฉพาะการมาของทางหลวงพิเศษ (Motorway) จะมีผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวหรือไม่

“เนื่องจากศูนย์วิจัยข้าวโพด และข้าวฟ่างแห่งชาติ หรือ ไร่สุวรรณ เป็นส่วนหนึ่งของคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนั้น เราไม่ได้เป็นองค์กรแสวงหากำไร เน้นดำเนินการวิจัยและพัฒนา รวมถึงช่วยเกษตรกรในพื้นที่ ดังนั้น นี่จึงเป็นข้อจำกัดในการขยายตลาด แต่หลังจากกฎระเบียบต่าง ๆ ผ่อนคลาย การร่วมมือกับวี ฟาร์ม ก็ช่วยให้เราขยายตลาดได้มากขึ้น” รศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว

รศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วี ฟาร์มเติบโต ไร่สุวรรณมีรายได้ใหม่ ๆ

อภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่า จากการออกน้ำนมข้าวโพดวี ฟาร์ม x ไร่สุวรรณ จะสร้างการเติบโตให้บริษัทได้ 20% หรือคิดเป็นรายได้กว่า 250 ล้านบาท และเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดได้อีกกว่า 10% เนื่องจากมองว่าน้ำเทรนด์นมข้าวโพดอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สินค้านมข้าวโพดของวี ฟาร์มสามารถสร้างการเติบโตได้สูงถึง 3 เท่า มียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000-9,000 ขวดต่อวัน

ขณะเดียวกัน ไร่สุวรรณจะมีรายได้จากยอดขายตามที่ตกลงกับวี ฟาร์ม รวมถึงรายได้จากการ ขายเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากวี ฟาร์มได้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรในการรับซื้อผลผลิต และนำเมล็ดไปขยายพื้นที่ปลูกเพื่อให้มีวัตดุดิบเพียงพอ ดังนั้น ในส่วนของเกษตรกรเองก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวโพดพันธุ์อินทรี 2 หรือสายพันธ์ไร่สุวรรณ

เบื้องต้น จำนวนการผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวโพด วี ฟาร์ม X ไร่สุวรรณ อยู่ที่วันละประมาณ 5,000 ขวด จากข้าวโพดไร่สุวรรณ 5 ตัน โดยข้าวโพดไร่สุวรรณจะต้องส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตภายใน 24 ชม. เพื่อรักษาคุณภาพสูงสุด ด้วยกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ไม่ผสมแป้ง หรือนมผง และไม่ใส่วัตถุกันเสีย โดยสามารถเก็บได้นาน 12 วัน

อภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ตลาดนม Plant-based ยังโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตลาดน้ำนมจากพืช (Plant-based Milk) ในปีที่ผ่านมาเติบโตได้ประมาณ +8-9% ซึ่งถือว่าเติบโตกว่านมวัวที่โตเพียง 6% ขณะที่ตลาดนมทางเลือกทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตได้ +13% CAGR ไปจนถึงปี 2030 โดยทางวี ฟาร์มก็มีแผนขยายไปในต่างประเทศ เบื้องต้นได้ขยายไปในกลุ่มประเทศ CLMV และกำลังดูถึงโอกาสในการขยายไปในประเทศมาเลเซีย, เวียดนาม, เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น โดยจะเป็นการนำเข้าจากประเทศไทยไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต และในอนาคตค่อยพัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์ และผลิตสินค้าแบบ OEM ในประเทศนั้น ๆ

ปัจจุบัน น้ำนมข้าวโพดคิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 20% เป็นรองจาก ข้าวโพดฝัก (60%) อีก 20% ที่เหลือเป็นกลุ่มขบเคี้ยวแบรนด์ตระกร้า