สำนักข่าว Reuters รายงาน เทคสตาร์ทอัพ “Amity Corp” ระดมเงินลงทุนรอบล่าสุดได้อีก 60 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผู้ก่อตั้งบริษัทนี้คือ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” ทายาทตระกูลเจ้าสัวเมืองไทย หลานปู่ของ “ธนินท์ เจียรวนนท์”
“กรวัฒน์ เจียรวนนท์” ซีอีโอ “Amity” ในวัย 29 ปี กล่าวว่า บริษัทนี้เป็นบริษัทสตาร์ทอัพผู้พัฒนา “Generative AI” แชตบอตภายในองค์กรสำหรับให้พนักงานใช้เพื่อช่วยทำงานในด้านต่างๆ เช่น สร้างรายงาน วิเคราะห์ข้อมูล ให้คำแนะนำ เพียงแค่นำแชตบอตตัวนี้ไปเชื่อมต่อกับระบบดาต้าเบสขององค์กรของลูกค้า
ซีอีโอ Amity ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับการระดมทุนรอบล่าสุดในรอบ Series C มีผู้นำการลงทุนจากบริษัท Insight Capital และเงินลงทุนรอบนี้จะถูกนำไปใช้ในการซื้อกิจการผลิตภัณฑ์หรือบริษัทที่พัฒนาระบบ SaaS (Software as a Service) ที่มีศักยภาพในแบบเดียวกันกับบริษัท และใช้ในการเติบโตผ่านการซื้อกิจการในตลาดต่างประเทศ
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2012 จนถึงปัจจุบัน Amity ระดมทุนสะสมไปแล้ว 90 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ กรวัฒน์ระบุว่า ครอบครัวเจียรวนนท์มีการลงทุนในบริษัท Amity ไม่เกิน 10% และเสริมด้วยว่า ทั้งคุณปู่และคุณพ่อของเขาสนับสนุนให้เขาหาเงินลงทุนจากภายนอกมากกว่า
“เพราะถ้าครอบครัวเป็นผู้นำการลงทุนหรือระดมทุน บริษัทก็จะไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบเท่ากับการหานักลงทุนสถาบันจากภายนอก” กรวัฒน์กล่าว
- Bloomberg รายงาน ‘สยามพิวรรธน์’ อาจเข้า IPO ก่อนสิ้นปีนี้ คาดระดมทุนสูงสุดถึง 27,000 ล้านบาท
- ‘ทรู ดิจิทัล พาร์ค’ ชูเรื่องด้านความยั่งยืน ประกาศผลักดันสตาร์ทอัพกลุ่ม Climate Tech แก้ไขปัญหาโลกร้อน
กรวัฒน์ถือเป็นทายาทคนหนึ่งของตระกูลเจียรวนนท์ เจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (CP Group) และเป็นตระกูลที่มีความมั่งคั่งสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของไทยด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 29,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามข้อมูลการจัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes ครั้งล่าสุดในปี 2024 โดยกรวัฒน์เป็นบุตรชายของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานกรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเป็นหลานปู่ของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสและผู้บุกเบิกอาณาจักรเจริญโภคภัณฑ์
ด้านที่มารายได้ของ Amity กรวัฒน์ระบุว่ามีสัดส่วนจากประเทศไทยประมาณ 35-40% โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัทนั้น นอกจากจะมีลูกค้าจากในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เช่น ซีพี ออลล์, ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัทยังมีลูกค้าองค์กรรายใหญ่ เช่น ปตท. , นกแอร์ และกลุ่มธนาคารพาณิชย์อีกหลายราย
เฉพาะในตลาดประเทศไทย Amity มีการแยกธุรกิจที่จัดตั้งในไทยในชื่อ “อะมิตี้ โซลูชั่นส์” (Amity Solutions: ASOL) และมีการตั้ง “AI Labs” ในประเทศไทยด้วย เป็นแล็บที่มุ่งสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GenAI โดยอะมิตี้ โซลูชั่นส์ มีเป้าหมายที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2025
ที่มา: Reuters, ข่าวประชาสัมพันธ์ ASOL