ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) ราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วยให้แก่ กฟผ. เพิ่มขึ้น 2) ปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม (Industrial User: IU) เติบโตอย่างต่อเนื่อง 5.1% จากทั้งลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่จำนวน 32.3 เมกะวัตต์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 3) การเติบโตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว รวมถึง 4) การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ ในไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2564
ด้านกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 147 ล้านบาท ลดลง 85.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้น 76.6% ของราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็น 20.7% ของรายได้รวม แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 332.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-on-Q) จากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง 4.6% และผลบวกจากการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้าตามสูตร (ค่า Ft) ทั้งนี้ จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้มีการบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสดและเป็นการบันทึกตามมาตรฐานบัญชี ทำให้บริษัทบันทึกผลขาดทุนสุทธิในไตรมาสนี้
“กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้า IU ในประเทศช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 5.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 1,729 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ด้วยการเติบโตจากทั้งลูกค้ารายเดิม และลูกค้ารายใหม่ โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีการเชื่อมเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของลูกค้ารายใหม่จำนวน 9.3 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายทั้งปีที่ไม่น้อยกว่า 55 เมกะวัตต์” ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการต้นทุน จากราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น โดย บี.กริม เพาเวอร์ มีเป้าหมายจะเริ่มนำเข้า LNG ในต้นปี 2566 เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะใช้สำหรับกลุ่มลูกค้า IU เป็นหลัก ทั้งสำหรับโครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม และโรงไฟฟ้า SPP โรงอื่น ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญา Terminal Usage Agreement กับ PTT LNG เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูง การขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และการควบคุมค่าใช้จ่าย จะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วงเวลาที่เหลือของปี และตลอดช่วง 12 เดือนข้างหน้าของบริษัทฯ
นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้าตามสูตร (ค่า Ft) ทุก ๆ 4 เดือน โดยในเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 กกพ. ได้ประกาศปรับขึ้นอีก 0.6866 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 0.9343 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มของราคาพลังงานโลก
ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ในปีนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังเดินหน้าขยายความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 B.Grimm Malaysia ได้เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 88 เมกะวัตต์ ในประเทศมาเลเซีย โดยเข้าถือหุ้น reNIKOLA Holdings Sdn. Bhd. ทำให้ B.Grimm Malaysia มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (economic interests) ที่ 45% ในโครงการ SBU Power, RE Gebeng และ Halpro Engineering ซึ่งทั้ง 3 โครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 21 ปี กับ Tenaga Nasional Berhad (บริษัทสาธารณูปโภคไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศมาเลเซีย)
ในเดือนกรกฎาคม 2565 โครงการ BPLC1R กำลังการผลิตติดตั้ง 140 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 103 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ กับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี ขณะที่ส่วนที่เหลือเป็นการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับลูกค้าอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นอกจากนี้
บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้เข้าลงทุนในบริษัท Sekong Investment Advisory Company Limited ในสัดส่วน 20% เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้าเซกอง 4A และ 4B ขนาดกําลังการผลิตติดตั้ง 355 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่แขวงเซกอง สปป. ลาว
สำหรับความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปีนี้ มีอีกหลายโครงการ ประกอบด้วย การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP 4 โครงการ (ABP1R, ABP2R และ BGPM1&2R) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม กำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 560 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 80-92% มีกำหนดการ COD ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 280 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 33-47% กำหนดการ COD ในปี 2566 และการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน อู่ตะเภา เฟสแรก มีความคืบหน้า 73% กำหนดการ COD ในปี 2566
ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 56 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวมที่ 3,379 เมกะวัตต์ โดยยังคงเป้าหมายการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และ 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ควบคู่กับเป้าหมายระยะยาวที่สำคัญ คือเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593)
ด้านการเตรียมความพร้อมภายใต้สมมติฐานสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมและความคล่องตัวในการบริหารด้านการเงิน รองรับการเติบโตของธุรกิจ และโอกาสในการลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคต บี.กริม เพาเวอร์ มีเงินสดในมือกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ด้วยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินรวมที่ 1.8 เท่า
ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาลที่ 0.03 บาทต่อหุ้น สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2565 คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 43% ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 25 สิงหาคม 2565 และวันที่จ่ายปันผล 9 กันยายน 2565