ปัญหาทั่วโลก!!! หูตึง ภัยเงียบเสี่ยงสมองเสื่อม นักวิจัยมหาลัยดังสหรัฐฯ เลือกแพทย์จุฬาฯ เป็นศูนย์จัดให้ความรู้ ครั้งแรกในเอเชีย

ในปัจจุบัน ทั่วโลกมีจำนวนผู้มีภาวะสมองเสื่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่สังคมโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง  ซึ่งการสูญเสียการได้ยินนับเป็นสาเหตุหลักและเป็นสาเหตุเดียวของภาวะสมองเสื่อมที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ เพื่อกระตุ้นการรับรู้และความเข้าใจในปัญหานี้ในระดับโลก นักวิจัยจาก John Hopkins มหาวิทยาลัยชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการอบรมและประชุมวิชาการ ASIA Fellows Program in Aging, Hearing, & Public Health ให้กับนักวิจัยทั่วภูมิภาคเอเชียเป็นครั้งแรก

การได้ยินสำคัญ หากจะสูงวัยอย่างมีคุณภาพ Healthy Aging

ศ. ดร. Frank Lin แพทย์เฉพาะทาง โสต ศอ นาสิก สุขภาพจิต และระบาดวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการได้ยินและสาธารณสุข (Cochlear Center for Hearing and Public Health) มหาวิทยาลัย John Hopkins โรงเรียนแพทย์ด้านหูอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกับ คณะแพทยศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร ศิษย์เก่าของ John Hopkins Cochlear center for hearing and Public Health จัดการอบรมให้ความรู้ในการอบรมและการประชุมวิชาการแบบ Hybrid ครั้งแรกในเอเชีย โดยร่วมมือกับภาควิชา โสต ศอ นาสิก และ School of Global Health คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์จากทั่วเอเชียเข้าใจว่าความก้าวหน้าทางการแพทย์จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วหากการศึกษาและวิจัยนั้นเป็นการบูรณาการร่วมกันของแพทย์หลากหลายสาขา รวมถึงนโยบายการให้บริการทางสาธารณสุขที่เข้าใจความเชื่อมโยงดังกล่าว ศ. ดร. Frank Lin ยังได้กล่าวว่า “การได้ยิน มีความสำคัญมากสำหรับการสูงวัยอย่างมีคุณภาพ หรือ Healthy Aging เพราะความสามารถในการได้ยินทำให้เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และการสูญเสียการได้ยิน เป็นสาเหตุหลักสาเหตุเดียวของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ เราจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน ซึ่งเป็นปัญหาที่จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ ปัญหาการได้ยิน นำมาซึ่งภาวะไม่พึงประสงค์หลายประการ เช่น ภาวะแยกตัวจากสังคม ภาวะซึมเศร้า ปัญหาการทรงตัวพลัดตกหกล้ม สับสน มีอารมณ์ฉุนเฉียว ทะเลาะกับครอบครัว กลายเป็นไม่พูดคุยกัน ซึ่งภาวะเหล่านี้ล้วนทำให้คุณภาพชีวิตลดลงเป็นอย่างมาก ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินเกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมนั้น เกิดจาก เมื่อมีเสียง คำพูด การสนทนาเข้าไปกระตุ้นสมองน้อยลง สมองก็จะเสื่อมถอยและประมวลผลได้น้อยลง ช้าลงเรื่อย ๆ เมื่อนานวันเข้านั้นจากงานวิจัยแสกนสมองพบว่าเนื้อสมองฝ่อลงไปได้เลยทีเดียวโดยเฉพาะเนื้อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแปลผลภาษา ซึ่งเมื่อถึงภาวะนี้แล้วนั้น การกระตุ้นให้สมองกลับมาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพดังเดิมอาจต้องใช้เวลามาก”

เร่งความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์เฉพาะทาง หน่วยโสตประสาทวิทยาฝ่ายโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการในฝั่งประเทศไทย หัวหน้าทีมจัดงานอบรมและประชุมวิชาการ ASIA Fellows Program in Aging, Hearing, & Public Health ในครั้งนี้ กล่าวว่า “การจัดงานครั้งนี้เป็นการร่วมมือในการทำวิจัยระดับนานาชาติเพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั่วโลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทางมหาวิทยาลัย John Hopkins ได้มีความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชีย โดยได้เลือกให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ร่วมจัดงาน ซึ่งการจัดงานประชุมในครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายสาขา นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการจาก 10 ประเทศในเอเชีย เข้าร่วมเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและแบ่งปันประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประชุมวิชาการนานาชาติที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 75 ปีของคณะแพทยศาสตร์”

อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร ยังได้กล่าวเสริมว่า “การจัดการอบรมนี้สอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ของภาควิชา โสต ศอ นาสิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์การได้ยิน การสื่อสารและการทรงตัว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่จะเป็นศูนย์กลางการอบรมและให้ความรู้ทางการแพทย์ในระดับนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมาทางภาควิชาได้มีแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้เข้ารับการอบรมมาโดยตลอด และเชื่อว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้ จะทำให้งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก”

ทุกฝ่ายหนุน ดันงานวิจัยคุณภาพ

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการบริหารอาวุโสสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก (School of Global Health – SGH) กล่าวในการเปิดงานว่า “เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาสุขภาพนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันในระดับโลก ซึ่งจะเห็นได้จากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา การจัดการและการแก้ปัญหาจึงต้องเกิดขึ้นในระดับโลกและระดับนานาชาติด้วยเช่นกัน ซึ่งการจัดการอบรมและการประชุมในระดับเอเชียที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย John Hopkins นี้ ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะจากทุนวิจัย Second Century Fund: C2F ของจุฬาฯ ที่ช่วยผลักดันจนความร่วมมือในระดับนานาชาติในครั้งนี้สำเร็จได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดงานวิจัยคุณภาพในระดับนานาชาติที่จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพในระดับนานาชาติได้ ทำให้สามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าที่ 3 ที่ว่าด้วยการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี  (Good Health and Well-being)  ที่กำหนดโดย UN ได้อย่างแท้จริง”

สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการได้ยินและภาวะสมองเสื่อม สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ของทางศูนย์การได้ยิน การสื่อสารและการทรงตัว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ https://www.facebook.com/ChulaHearingBalance