ทีซีเอ กรุ๊ป เน้นเล็กๆ แต่ขอพรีเมียม

หากเอ่ยถึงบริษัทนำเข้าจักรยานระดับพรีเมียม หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ ทีซีเอ กรุ๊ป อยู่ในอันดับต้นๆ แบรนด์ดังที่มีอยู่ในมือล้วนเป็นที่นิยมของนักปั่น ทั้ง BIANCHI และ Bike Friday สนองตอบไลฟ์สไตล์สุดหรูของนักปั่นยุคใหม่ ที่ไม่มีอุปสรรคเรื่องของราคา

คเณศ มีแก้ว กรรมการผู้จัดการ Thai Cycling Alliance (TCA) Group ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ POSITIONING ถึงเส้นทางการเป็นคนขายจักรยานว่า ผูกพันกับจักรยานเป็นพิเศษ ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เขาปั่นจักรยานไปโรงเรียนกับเพื่อนแถวบ้าน ตามประสาเด็กต่างจังหวัดทั่วไป ยิ่งได้ออกแรงปั่นแข่งกับเพื่อนริมชายหาดของทะเลประจวบฯ แล้วยิ่งทำให้เขารู้สึกสนุกและมีความสุขมาก

“รถขึ้นสนิม แม่ก็ดุ แต่เราสนุก” คเณศย้อนความหลังก่อนจะมาเป็นผู้นำเข้าจักรยานระดับพรีเมียมในปัจจุบัน

ห่างหายจากจักรยานไปนานกว่า 25 ปี หลังจากเปลี่ยนมาขี่มอเตอร์ไซค์เมื่อขึ้นปี 4 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คำว่าห่างหายคือ เขาไม่ได้ปั่นจักรยานอีกเลยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ชีวิตของเขาโลดโผนมาก หลังจบการศึกษาไปทำงานเป็นช่างประปา ช่างเฟอร์นิเจอร์ ยาม สารพัดที่จะได้เงินที่ซาอุดิอาระเบีย นานถึง 4 ปี จนกระทั่งกลับมาหลังเก็บหอมรอมริบได้พอสมควร แม้จะได้เงินดีแต่สภาพร่างกายก็เสื่อมโทรมเนื่องจากทำงานหนักถึง 3 กะ แทบไม่มีเวลาหลับเวลานอน

จากนั้นกลับมาเป็นพนักงานที่บริษัท บอร์เนียวเทค แล้วติดตามเจ้านายซึ่งเปิดธุรกิจส่วนตัวภายใต้ชื่อยูนิเวฟ จำหน่ายอุปกรณ์สำหรับโรงกลั่นน้ำมัน เมื่อปี 2533 แต่จากวิกฤตปี 2540 เขาได้ซื้อหุ้นต่อเจ้านายซึ่งหันเหไปทำธุรกิจอื่น ปัจจุบันยูนิเวฟมีหุ้นส่วนธุรกิจอีกคนคอยดูแล

ด้วยความที่ทำงานหนักและเครียดมาตลอดชีวิต ทำให้เขาตั้งเป้าที่จะรีไทร์เมื่ออายุ 45 ปี เพื่อพักผ่อนและทุ่มเทเวลาให้กับครอบครัวอย่างเต็มที่ แต่ “จักรยาน” ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปหนทางที่แม้จะทำให้เป้าหมายของการรีไทร์ต้องเลื่อนออกไป แต่ก็นับเป็นการทำงานที่มีความสุขและไม่เครียด

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ต้องขอบคุณลูกชายคนเล็กของเขา ที่อยู่ๆ ก็จุดประกายให้เขากลับมาปั่นจักรยานอีกครั้ง

“หยุดอยู่กับบ้านได้ไม่กี่วัน เขาก็มาบอกว่าอยากปั่นเสือภูเขา เพราะได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูนเรื่องเจ้าหนูสิงห์นักปั่น”

จากจักรยานโนเนมคันละไม่กี่พันบาท กับเสื้อผ้าธรรมดา พ่วงด้วยรองเท้าแตะ แต่เมื่อปั่นบ่อยเข้า เขาก็ต้องการจักรยานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยจักรยานติดแบรนด์คันแรกของคเณศ คือ Trek จนกระทั่งต้องการที่จะนำเข้าจักรยานแบรนด์เนมมาจำหน่ายในไทยเอง

“มาคิดว่าเราชอบปั่นจักรยานขนาดนี้ ทำไมไม่นำเข้ามาเอง เริ่มติดต่อแบรนด์ต่างๆ ไปงานไทเป อินเตอร์เนชั่นแนล ไซเคิล โชว์ ซึ่งจัดเป็นประจำช่วงมีนาคมของทุกปี และตอนแรกไม่รู้จัก BIANCHI นะ ก็เปิดเว็บไซต์ศึกษาข้อมูล ก่อนจะโทรศัพท์ติดต่อ เขากำลังจะหาตัวแทนจำหน่ายในไทยอยู่พอดี”

“อีกเหตุผลหนึ่งคือก่อนหน้านี้ภาษีนำเข้าจักรยานอยู่ที่ 40% ต่อมาทางรัฐบาลเริ่มปรับภาษีจักรยานสำหรับการแข่งขันเหลือเพียง 1% เลยเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะหันมาทำธุรกิจนี้ ซึ่งก็สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของเราด้วย”

ทีซีเอ กรุ๊ป จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และนำเข้า BIANCHI เมื่อ 5 ปีเศษที่ผ่านมา จากคำแนะนำจากวีรวรรณ ขอไพบูลย์ ลูกสาวเจ้าของ 3K แบตเตอรี่ แฟน BIANCHI ตัวยง ซึ่งเป็นก๊วนนักปั่นประจำโต๊ะ Blue Planet ของบอร์ด Pantip ด้วยกัน

นอกจากนี้เขายังนำเข้า Bike Friday รถจักรยานพับได้ที่ต้องสั่งตัดตามขนาดตัว ขณะที่แบรนด์อื่นๆ เช่น Principia, Turner, Time, Willier ทำรายได้ให้กับทีซีเอ กรุ๊ป ในสัดส่วนเล็กน้อยเท่านั้น โดยสายเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงบริษัทฯ กลับเป็นแอคเซสซอรี่ต่างๆ ที่มีนับ 10 แบรนด์ ทั้ง เกียร์ (Campagnolo) บาร์ อาน เฟรม ล้อ ถุงมือ รองเท้า หมวก ชุด ฯลฯ ซึ่งทำยอดขายคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70%

“แอคเซสซอรี่ขายดี ขายได้เรื่อยๆ เพราะลูกค้าที่ปั่นจริงจังอยากได้ของดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างชุดเกียร์เสือหมอบของ Campagnolo ราคาตั้งแต่ 10,000-80,000 บาท ก็เป็นที่นิยม”

ปัจจุบันลูกชายคนเล็กของเขาจบการศึกษาแล้วจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดูเหมือนว่าจะหันไปเอาดีด้านดนตรีภายใต้ชื่อวง PIANISMO และไม่ฝักใฝ่จักรยานเหมือนก่อนหน้า

“วงนี้ก็เหมือนพรีเซ็นเตอร์ของผม เขาทำมิวสิกวิดีโอเพลง จักรยานคันเก่ากับร่มคันเดิม เพื่อโปรโมตจักรยานของเรา”

ความสำเร็จของทีซีเอ ไบค์ ทำให้มีหลายแบรนด์ติดต่อมาเรื่อยๆ เพื่อให้เขานำเข้าจักรยานเพิ่มเติม แต่ ณ เวลานี้ เขาพอใจกับขนาดของธุรกิจที่มีอยู่

“ธุรกิจของผมต้องเรียกว่าเป็น Very SMEs คือเล็กมาก แต่ก็ไม่อยากขยายไปมากกว่านี้แล้วเพราะผมมีไอดอลเป็น ดร.เทียม โชควัฒนา ที่เคยกล่าวไว้ว่า ธุรกิจที่ดีที่จะอยู่ได้ท่ามกลางกระแสทุนนิยม ในปัจจุบันจะต้อง Small-Smart-Special ผมเลยมีโฟกัสนำเข้าจักรยานที่มีลักษณะเฉพาะตัว พรีเมียม ไม่ทำจักรยานแมส ไม่ทำจักรยานแม่บ้าน”

ทีซีเอ กรุ๊ป สานสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยกิจกรรมออกทริปปั่นจักรยานเป็นประจำ เป็นซีอาร์เอ็มที่เริ่มต้นจากแนวคิดง่ายๆ ว่า เขารู้สึกเหงาและต้องการหาเพื่อนปั่น รายได้จากแต่ละทริปไม่ได้มากมาย แถมต้องมีต้นทุนหลายหมื่นบาทต่อทริป แต่สายสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและการได้พบปะเพื่อนฝูงนักปั่นคือผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า (ดูรายละเอียดในเรื่อง “Bike Friday Club Thailand คลับนี้ไฮโซ”)

คเณศเล่าถึงตลาดจักรยานนำเข้าในไทยว่า เฉลี่ยแล้วมีจักรยานนำเข้า 20,000-30,000 คันต่อปี จากบริษัทนำเข้ารายใหญ่ 6-7 ราย ขณะที่จักรยานที่ผลิตในประเทศมีสูงถึง 100,000 คันต่อปี

“ราคาจักรยานนำเข้าอาจดูแพง แต่ถ้าเทียบกับสมาร์ทโฟนแล้วสองหมื่นกว่าบาททำไมให้เด็กซื้อได้ ถ้าได้แค่ 1% ของคนมีสมาร์ทโฟนมาซื้อจักรยานนี่อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตมาก และวัฒนธรรมจักรยานในเมืองไทยถึงจะเกิดขึ้นจริง”

สำนักงานบนชั้น 11 อาคารกรีนทาวเวอร์ ถ.พระราม 4 ของทีซีเอ กรุ๊ป ยังเป็นโชว์รูมจำหน่ายอีกด้วย แต่สินค้ากว่า 95% จำหน่ายผ่านดีลเลอร์ที่มีกว่า 130 รายทั่วประเทศ