สมาร์ทโฟนไม่ปัง ‘โนเกีย’ ขอขุดอดีตดัน ‘ฟีเจอร์โฟน’ ปลุกกระแส Retro จับกลุ่มวัยเก๋า!

หากพูดถึงตลาดมือถือเมื่อช่วง 15-20 ปีที่แล้ว แบรนด์ที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดนั้นหนีไม่พ้น ‘Nokia’ (โนเกีย) ที่นอกจากจะแข็งแกร่งในแง่การเป็นผู้นำตลาดแล้ว ตัวมือถือที่มีจุดเด่นด้านความ ‘อึด ถึก ทน’ และแม้จะมาในยุคสมาร์ทโฟน โนเกียก็ยังคงทำตลาดมือถือ ‘ฟีเจอร์โฟน’ หรือมือถือ ‘ปุ่มกด’ มาอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ปี 2017 ที่ โนเกีย ได้เริ่มกลับมาทำตลาดอีกครั้ง ภายใต้การดำเนินงานของ HMD Global ก็ได้ส่งทั้ง สมาร์ทโฟน, ฟีเจอร์โฟน และ แท็บเล็ต ทำตลาดในไทยแล้วนับสิบรุ่น อย่างสมาร์ทโฟนทางโนเกียก็พยายามทำตลาดครอบคลุมทุกระดับ อาทิ Nokia 3, Nokia 5, Nokia 7 Plus ที่เน้นตลาดเริ่มต้นจนถึงระดับกลาง ส่วนกลุ่มเรือธงก็มี Nokia 8

ขณะที่กลุ่มฟีเจอร์โฟนที่ออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการหยิบ มือถือรุ่นคลาสสิกมาอัปเกรดใหม่ให้ทันสมัยขึ้น อาทิ ไม่ว่าจะเป็น Nokia 3310 เวอร์ชั่นปี 2017 หรือ Nokia 8110 รุ่นกล้วยหอมในตำนาน และเกาะกระแสฝาพับของสมาร์ทโฟนยุคนี้ด้วย Nokia 2720 และปลายปีนี้โนเกียได้ส่งฟีเจอร์โฟนใหม่อีก 3 รุ่นเพื่อทำตลาด โดยจะเริ่มวางจำหน่าย 1 ก.ย. นี้ ได้แก่

  • Nokia 8210 รุ่นปี 1999 ที่มีชื่อเล่นว่ารุ่น นางฟ้าชาร์ลี จากที่ปรากฏในภาพยนตร์ Charlie’s Angels โดยออกมา 2 สี ได้แก่ สีน้ำเงินเข้ม และสีแดง ราคา 2,290 บาท
  • Nokia 5710 XpressAudio โดยมีลูกเล่นที่หูฟัง TWS ติดมากับตัวเครื่อง และฝาหลังสามารถสไลด์ขึ้น-ลง วางจำหน่ายสีดำแดง ราคา 2,690 บาท
  • Nokia 2660 Flip ฟีเจอร์โฟนฝาพับ มีขนาดหน้าจอหลักขนาด 2.8 นิ้ว QVGA กับจอบนฝาพับขนาด 1.77 นิ้ว ราคา 2,490 บาท

ภราดร รามบุตร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล (HMD) ระบุว่า สาเหตุที่โนเกียยังปลุกชีพตำนานโทรศัพท์ฟีเจอร์โฟนออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะ ยังคงเป็นที่ต้องการ โดยคาดว่าภาพรวมตลาดทั่วโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการถึง 157 ล้านเครื่อง มีมูลค่าราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนตลาดไทยก็ยังมีความต้องการเป็นหลัก ล้านเครื่อง

แม้ตลาดฟีเจอร์โฟนไทยไม่ได้เติบโตมาก แต่ยังมีโอกาสอยู่ในกลุ่มของ ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่ต้องมือถือสำรองเครื่องที่สอง รวมถึง ลูกค้าองค์กร ที่อาจต้องการมือถือที่ใช้โทรออกรับสายอย่างเดียว ไม่ได้ต้องการใช้งานฟีเจอร์อื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม เด็ก ที่ผู้ปกครองซื้อมือถือเครื่องแรกให้พกติดตัว แต่ไม่อยากซื้อสมาร์ทโฟน

“ผู้บริโภคไม่ได้ต้องเลือกว่าจะใช้สมาร์ทโฟนแล้วซื้อฟีเจอร์โฟนไม่ได้ บางคนมีหาฟีเจอร์โฟนเป็นเครื่องสำรอง หรือกลุ่มที่ไม่อยากใช้สมาร์ทโฟนอย่างผู้สูงอายุที่ต้องการฟังก์ชันพื้นฐาน อย่างเสียงชัด แบตอึด และความคงทนของสินค้า”

หากดูจากกลุ่มเป้าหมายก็ไม่น่าแปลกใจที่ฟีเจอร์โฟนจะยังไปต่อได้ เพราะต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุเองอาจไม่ถนัดใช้สินค้าเทคโนโลยี อีกทั้งยังต้องการใช้แค่ฟีเจอร์พื้นฐาน ดังนั้น แม้จะราคาใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนตัวล่าง ๆ แต่ก็สะดวกใจจะใช้มากกว่า

แต่ถ้ามองลึกลงไปอีก การที่โนเกียเข็นฟีเจอร์โฟนออกมา อาจเป็นเพราะว่าดันยอดขายง่ายกว่าสมาร์ทโฟน เพราะต้องยอมรับว่าในตลาดตอนนี้มีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะจากแบรนด์จีน ซึ่งในตลาดไทยแม้ว่าโนเกียจะมี สมาร์ทโฟน จำหน่ายถึง 9 รุ่น ส่วน ฟีเจอร์โฟน มีแค่ 7 รุ่น แต่กลับกลายเป็นว่าสัดส่วนยอดขาย 70% มาจากฟีเจอร์โฟน ส่วนสมาร์ทโฟน 30% และเชิงมูลค่าฟีเจอร์โฟนคิดเป็น 60% สมาร์ทโฟน 40%

3310 รุ่นปี 2017

จากตัวเลขสัดส่วนยอดขายฟีเจอร์โฟนและสมาร์ทโฟนของโนเกีย ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนอาจไม่ใช่แบรนด์แรกที่ผู้บริโภคนึกถึงอีกต่อไป แต่กับฟีเจอร์โฟนยังคงเป็นจุดแข็งและเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของผู้บริโภค ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ภาพจำ ของแบรนด์ บวกกับเทรนด์ Nostalgia Marketing ที่คนโหยหาอดีต ดังนั้น การเลือกมือถือเครื่องที่สองจึงอยากได้แบรนด์ที่คุ้นเคยในอดีต

ปัจจุบัน โนเกียถือเป็นผู้นำในตลาดของฟีเจอร์โฟนในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยก็เป็น เบอร์ 1 มีสัดส่วนเกิน 50% ของตลาด และการเปิดตัวฟีเจอร์โฟน 3 รุ่นใหม่นี้ คาดว่าจะสร้างการเติบโตได้ 40% ผ่านช่องทางการขายกว่า 4,000 แห่งทั่วไทย รวมถึงช่องทางออนไลน์ อาทิ Shopee, Lazada และ JD.Central โดยโนเกียจะเน้นทำการตลาดออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้ และมีกิจกรรม ณ จุดขายหน้าร้านเป็นหลัก