Vintage Bike เซียงกงคึกคัก อีเบย์ครึกครื้น รับเทรนด์นิยมจักรยานวินเทจ

หากมีโอกาสได้ชมภาพงานแต่งงานของคู่ไฮโซอย่างปาลาวีและปลาวาฬ หลายคนคงอาจสะดุดตาเข้ากับจักรยานวินเทจที่นำมาประดับภายในงาน แต่อาจจะยังไม่ทราบว่าราคาค่างวดในปัจจุบันของมันนั้นไม่ย้อนยุคอย่างที่คิด POSITIONING มีโอกาสได้พูดคุยกับสองแกนนำจักรยานวินเทจ “สมัชชา อภัยสุวรรณ” ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แห่งบริษัท FYI และ “จตุรงค์ หิรัญกาญจน์” ช่างภาพและอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร เขาให้ข้อมูลใกล้เคียงกันว่า “มือสองของแท้นี่แหละตัวแพง” โดยเฉพาะช่วงหนึ่งปีให้หลังมานี้เองที่ราคาจักรยานวินเทจในไทยก้าวกระโดดขึ้นไปอย่างน้อยๆ 5 เท่า ถึงแม้มีเงินก็ใช่ว่าเซียงกง อีเบย์ และเว็บ ThaiMTB จะมีของให้คุณ อาจต้องแย่งกัน หรือบางทีต้องหลังไมค์อาศัยสายสัมพันธ์เก่ากันไป จึงจะได้มันไว้ในครอบครอง

หากจะโทษก็ต้องโทษ “กระแสเรโทร” ที่ดันมาบรรจบกับ “กระแสจักรยาน” ที่เพิ่งเข้ามาในไทยพอดิบพอดี เห็นราคาจักรยานวินเทจถีบตัวได้รวดเร็วอย่างนี้ แสดงว่าดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทย (โบราณ) ยังคงสูงทะลุเพดาน บรรดาพ่อค้าจึงกระหยิ่มยิ้มในใจว่า ไม่ว่าแพงแค่ไหนก็ยังขายได้ งาน “BKK Vintage Bicycle Show” ซึ่งจตุรงค์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัด โดยปลายปีนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 คงจะให้คำตอบได้ดีทีเดียว

French Vintage Bike
“ล้อสวยดีอ่ะพี่” เสียงทักทายแรกที่ได้ยินนักปั่นคุยกันบริเวณร้านกาแฟนรสิงห์ ในเขตพระราชวังพญาไท ทำให้ทราบถึงการมาถึงของกลุ่ม “Bangkok Cyclo-Tourist” ที่ชื่นชอบจักรยานสายวินเทจฝรั่งเศส หรือที่เรียกว่า “แรนดอนเนอร์” มันต่างจากจักรยานวินเทจของอิตาลีตรงที่มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแข่ง แต่ใช้สำหรับปั่นเพื่อการท่องเที่ยวไปตามภูมิประเทศแบบเทือกเขาสูง และต่างจากวินเทจอังกฤษตรงที่รถมีน้ำหนักเบา

“สมัชชา อภัยสุวรรณ” ให้ข้อมูลว่าจักรยานฝรั่งเศสโบราณจะมีขนาดล้อเป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า “ขนาด 650B” ต่างจากของอังกฤษที่เป็น 650 A ร่วมด้วยแอคเซสเซอรี่เฉพาะ เช่น ตระแกรงหน้า กระเป๋าทรงเหลี่ยมที่หันหน้าเข้าหาคนขับ กระติกน้ำ แฮนด์ที่จับได้หลายแบบ ชุดเบรกพลังสูง ไดนาโมที่ใช้ปั่นผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับไฟหน้าและหลัง มีที่สูบลมเพราะขี่ท่องเที่ยวไกลๆ ยางอาจแบน รวมถึงชื่อเจ้าของรถและทะเบียนจักรยานสลักบนฝาอะลูมิเนียมที่ปิดตรงคอแฮนด์หรือไม่ก็บนแผ่นเพลทซึ่งขันไปกับนอต

จักรยานที่นับว่าเป็นวินเทจออริจินัลฝรั่งเศสถือกำเนิดในช่วงปี 1930 แต่ยุคที่รุ่งเรืองจริงๆ ก็เป็นช่วงเดียวกับยุคทองของจักรยานทำมือในฝรั่งเศสและในโลกด้วยคือปี 1940 – 1950 “ตามความเห็นของผมนะ พอหลังปี ’50 จักรยานมันมีความเป็นกีฬามากขึ้น เลยเริ่มกลายพันธุ์ไป มาบูมอีกทีช่วง ’70 ตอนที่ช่างญี่ปุ่นนำแรงบันดาลใจจาก French Randonneur ไปผลิตจักรยานแบรนด์ของตัวเองหลังแพ้สงครามโลก”

แบรนด์ที่เป็นที่ใฝ่ฝันสำหรับนักปั่นสายนี้ก็คือ “Rene Herse” และ “Alex Singer“ “ญี่ปุ่นเขาดัดแปลงเฉพาะเรื่อง Performance แต่เขาพยายามคงงานดีไซน์เอาไว้ อย่าง Rene Herse ปัจจุบันก็ขายให้คนอเมริกันไปแล้ว เหลือแต่ Alex Singer ที่ยังอยู่ในฝรั่งเศส ยังรับออร์เดอร์ ยังแฮนด์เมดอยู่ แต่ในบ้านเราแทบไม่มีจักรยานฝรั่งเศสมือสอง ผมเชื่อว่าไม่เคยหลุดเข้ามานะ” อะไหล่ที่ไม่ผลิตก็กลับมาผลิตใหม่ ต่างแต่เพียงว่าตอนนี้ฐานการผลิตจักรยานฝรั่งเศสวินเทจได้ย้ายไปอยู่ในญี่ปุ่นแทบหมดแล้ว “คนขี่จักรยานสไตล์นี้ในญี่ปุ่นเยอะมาก” เขาเล่า

กระแสคนเล่น 650 B เพิ่งมาแรงเมื่อ 4-5 ปีนี้เอง เพราะเมื่อ “วัฒนธรรมเรโทร” เกิดขึ้นในอเมริกา คนก็เริ่มย้อนกลับไปหาของเก่ามาโชว์ ตั้งแรนดอนเนอร์คลับในประเทศต่างๆ โดยความฝันของสมาชิกแรนดอนเนอร์คลับในทุกประเทศคือการไปปั่นย้อนรอยตามเทือกเขาแอลป์สักครั้ง มีการเก็บประวัติสะสมไมล์เป็นเรื่องเป็นราว

อินเทอร์เน็ตทำให้กระแส “แรนดอนเนอร์คัมแบ็ก” จากอเมริกากระเพื่อมมาถึงไทย โดยที่ไม่รู้จะเรียกว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่บังเอิญบ้านเราเป็น “ถังขยะ” ของญี่ปุ่น รถยนต์ใช้แล้วจึงถูกนำมาปล่อยเป็นเศษเหล็ก จักรยานเก่าๆ หน้าตาฝรั่งเศสก็ถูกยัดเข้ามาด้วยประหนึ่งตัวอับเฉาสมัยรัชกาลที่ 3 “แต่ของคนไทยมันมาบูมที่เสือภูเขาก่อน สักหกเจ็ดปีที่แล้ว จากนั้นเสือหมอบและฟิกซ์เกียร์จากตะวันตกก็เข้ามา ทีนี้วิธีที่จะได้ปั่นแบบไม่แพงก็คือไปหามือสองญี่ปุ่นจากเซียงกง 3 ปีแล้วขายคันละ 1,000 – 3,000 แต่ตอนนี้มันเริ่มแพงจนสุดตัวไปแล้ว เพราะคนเริ่มรู้ว่ามันเป็นแฮนด์เมดสั่งทำ หาในเน็ตกันใหญ่ พอกลายเป็นของสะสมก็เลยแพง เริ่มต้นที่ 6,000 – 7000 สำหรับแบรนด์ญี่ปุ่นพื้นๆ ถ้าเป็นแบรนด์ที่รู้จักกันหน่อยจะเริ่มต้นที่ 10,000 – 20,000 บาทเลย อย่างวัยรุ่นที่เพิ่งมาเล่นฟิกซ์เกียร์นี่ก็ต้องซื้อของใหม่ไปก่อน เพราะวินเทจแท้ๆ แพงมาก” เขาชี้ให้เราดูภาพจักรยาน Toei ฉบับรีเมกจากญี่ปุ่น “เมื่อก่อนกำเงินไปห้าหกพันก็ซื้อก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้กำเงินไปสองหมื่นยังไม่รู้จะหาได้ที่ไหน”

“ตอนนี้แรนดอนเนอร์ในญี่ปุ่นก็ยังมีของใหม่ผลิตอยู่ เราสั่งซื้อได้ บางร้านก็ยังเก็บอะไหล่เก่าๆ ยุค ’40-’50 เอาไว้โดยที่ไม่ขายเป็นอะไหล่ แต่จะเก็บไว้สำหรับคนที่มาสั่งทำรถเท่านั้น ซึ่งมันแพงมากๆ และถ้าเป็นรถเก่า บ้านเรายังซื้อได้ถูกกว่าที่ญี่ปุ่น ที่นั่นเขาจะรู้ว่าแล้วว่ามันมีคุณค่ามาก” เพื่อนชาวญี่ปุ่นซึ่งรักจักรยานบอกสมัชชา

คนรักแรนดอนเนอร์ในเมืองไทยเริ่มเป็นกลุ่มเป็นก้อนเมื่อคุณนาบูตั้งกระทู้ถามหาในเว็บ ThaiMTB “ตอนนั้นผมเล่นมาสักพักแล้ว เรามีสมาชิกใหม่เรื่อยๆ ช่วงนี้ล็อกอินเพิ่มขึ้นวันละคนเลย” สมัชชาบอกว่าประชากรนักปั่นที่นิยมวินเทจสายนี้น่าจะมีไม่เกิน 5 % “เรารวมตัวกันค่อนข้างเหนียวแน่น กลุ่มเรามีประมาณ 20 คน ในสโมสรตะบันหมากของเว็บ เพราะต้องเอาอะไหล่เก่ามานั่งถูสนิมกันแบบคนตะบันหมาก ในกลุ่มยังไม่มีมีใครมีแรนดอนเนอร์ออริจินัล ต้องสั่งซื้อจากเมืองนอก ผ่านอีเบย์ก็ได้ แต่ผมแนะนำว่าควรจะเดินทางไปซื้อด้วยตัวเอง เพราะมันแพงมาก ไม่ต่ำกว่า 4,000 – 5,000 ยูเอสดอลลาร์แน่นอน สำหรับมือสอง”

“แน่นอนว่าส่วนใหญ่คนที่เล่นวินเทจแรนดอนเนอร์ก็จะมีไลฟ์สไตล์ชอบของเก่ามาก่อน พวกเฟอร์นิเจอร์เรโทร โฟล์กสวาเก้น เวสป้า แล้วก็ส่วนใหญ่เป็นพวกทำงานโฆษณา ช่างภาพ ผู้กำกับ กราฟิกดีไซน์ ไม่ค่อยหลุดไปจากนี้ครับ” เมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวน์ด้านศิลปะและดีไซน์แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้น่าจะสามารถสร้างความคึกคักในการผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์หรือแอคเซสเซอรี่ของจักรยานวินเทจได้ดีทีเดียว

“ครับ ผมเคยพยายามแล้ว แต่เวลาเราเอาแบบไปให้ช่าง เขาคงนึกว่าเราทำเล่นๆ ไม่คิดว่าโปรดักต์ของเราจะทำเงินให้เขาได้ จริงๆ ช่างในบ้านเราอย่างช่างแอร์ ช่างกลึงนี่ทำจักรยานได้เลยนะ คนไทยทำเองได้แทบทุกชิ้น ราคามันจะได้ถูกลง แต่เขายังมองไม่เห็นตลาดตรงนี้ไง ผมเคยคิดว่าคุณมานั่งทำหลุยส์วิตองปลอมกันอยู่ทำไม ในเมื่อคุณภาพที่คุณทำนี่สามารถใช้เป็นกระเป๋าหน้ารถจักรยานพวกผมได้เลย ขายได้แพงกว่าของปลอมอีก ไม่ผิดกฎหมายด้วย แถมตลาดมันก็ทั่วโลก อาจจะเป็นจักรยานบ้านเรามันเป็นธุรกิจเชิงนำเข้าอย่างเดียว เลยชินกับการสั่งของเข้ามามั้ง หรือคนไทยที่มีตังค์หน่อยก็จะไม่ทำเอง ไปจ้างไต้หวันทำ เพราะฝีมือด้านจักรยานเขาเป็นที่หนึ่งของโลก ถ้าเป็นการผลิตเชิงแมสนะ” ระหว่างที่รอให้ความฝันในการได้ไปปั่นที่เทือกเขาแอลป์เป็นจริง ปลายปีนี้เขาก็แพลนไว้ว่าจะจัดกิจกรรมพาชาวแก๊งแรนดอนเนอร์ไปปั่นทางชันที่เขาใหญ่ไปพลางๆ ก่อน

Italian Vintage Lovers
“มันแพงและเท่ไง” จตุรงค์ หิรัญกาญจน์ พี่ใหญ่แห่ง ‘C.Feroci’ กลุ่มจักรยานวินเทจที่ใหญ่ที่สุดให้เหตุแห่งความนิยมในจักรยานอิตาเลียนแบบตรงๆ “ระดับเทพที่เล่นของแพงขึ้นเรื่อยๆ เขาก็จะเล่นแต่แบรนด์อิตาลี”

“ที่ดังๆ ก็มีของอิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ผมเล่นหมดเลย ไม่มีสายหรอก แต่กลุ่มผมส่วนใหญ่เล่นอิตาเลียนไง ถ้าวันหนึ่งผมได้ของจีนของไทยมา ผมก็เล่น ตอนนี้มีอยู่ 20 คัน ประกอบเอง เป็นช่างเอง แบบช่าง…มันเถอะ”

เขามองว่าจักรยานอิตาเลียนได้เปรียบในเรื่องแบรนด์และรสนิยม “ผมว่ารถญี่ปุ่นขี่ดีกว่านะ แต่พอมันถูกกว่า ประวัติศาสตร์น้อยกว่า คนก็เลยมองจักรยานอิตาลีก่อน เหมือนโรเล็กซ์กับไซโก้ จริงๆ ผมว่ามันก็ดีทั้งคู่”

ทริปปั่นของก๊วน C.Feroci โดยหน่อง–จตุรงค์จะจัดขึ้นในความถี่ 3-4 เดือน/ครั้ง มีผู้ร่วมทริปอย่างน้อยๆ 50 คัน จากแฟนๆ ใน ThaiMTB “จริงๆ ผมไม่ได้แท็กนะว่าต้องปั่นวินเทจ แต่พอคนหน้าใหม่มาเห็นพวกผมขี่ ก็เริ่มอยากได้บ้าง จบทริปปุ๊ปเข้าอีเบย์ปั๊บ บิดกันใหญ่เลย แล้วทริปครั้งต่อไปเราก็จะเห็นเขาปั่นวินเทจมาโดยปริยาย ก็เพราะพวกผมเป็นพวกบ้าวินเทจไปแล้วไง” โดยคำไหว้วานที่เขาได้ยินบ่อยมากที่สุดก็คือ “พี่ๆ หาให้ผมคันหนึ่งสิ โนเนมก็เอา” สุดท้ายเขาบอกว่าไม่เห็นมีใครเล่นวินเทจโนเนมราคาย่อมเยากันสักคน พอเข้าวงการ ‘สับถัง’ (นิกเนมของรถวินเทจ) กิเลสก็พาไปถอยรถระดับ 70,000 -100,000 บาท กันทั้งนั้น

“วินเทจมันมาแรงทั้งในและต่างประเทศเลย ดูได้จากของในอีเบย์ที่เมื่อก่อนถูก แต่เดี๋ยวนี้แพงแล้ว อาจจะเป็นเพราะคนเอเชียมันสั่งกันเยอะ” เขาเห็นว่าแม้รถรุ่นเก่าจะบังคับยากกว่า แต่มันได้ความอิ่มเอิบใจ “เหมือนเวลาผมขับรถโบราณ คนก็มองว่าเท่ แต่จริงๆ ขับโคตรยากเลย แถมจะเสียกลางทางเมื่อไหร่ก็ไม่รู้”

“ผมไม่กล้าซื้อผ่านอีเบย์นะ เลยซื้อในเมืองไทยล้วนๆ ตอนนี้มีแหล่งใหม่ที่ตลาดนัดทีโอทีแจ้งวัฒนะ มีครบทุกจักรยานเลย พ่อค้าวินเทจก็มีอยู่หลายเจ้า” จตุรงค์บอกว่าพวก ‘พ่อค้าสมัครเล่นมืออาชีพ’ เหล่านี้ใช้วิธีซื้อรถเชียงกงทั้งคัน แล้วเอามาระเบิดขายเป็นชิ้นๆ ซึ่งจะทำให้ขายได้ราคาไม่ต่ำ 2 เท่า บางรายสั่งจองตั้งแต่โหลดลงเรือที่ญี่ปุ่น “ที่เชียงกงก็แพงมาก เมื่อสามปีก่อนเป็นขยะ พันเดียวก็ซื้อได้ เมาเท่นไบค์แพงกว่าเป็นหมื่น แต่ตอนนี้วินเทจแซงแล้ว กลายเป็นเริ่มต้นที่สองหมื่น ถ้าเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักหน่อยก็คันละแสนกว่าๆ อย่างรุ่นท็อปของ Conaco, Pinarello, De Rosa, Dioss, Bianchi หรือพวกที่ใช้เฟรมโครโมลี่ตัวท็อปของโคลัมบัส ฯลฯ”

งาน ‘Bangkok Vintage Cycle Day’ ที่จตุรงค์เป็นโต้โผในการจัดมา 2 ปี ก็มีแรงกระเพื่อมที่น่าสนใจ “พอดีผมเห็นว่าพวกศิลปากรมันบ้าวินเทจ แล้วผมเป็นพวกชอบจัดกิจกรรม ก็เลยถามว่าจะจัดงานโชว์จักรยานเลยมั้ยล่ะ เพราะมีแฟนวินเทจอยู่ในเว็บ ThaiMTB หลายร้อยคน” งานครั้งแรกในปีที่แล้ว มีผู้นำจักรยานวินเทจมาร่วมโชว์ราวๆ ร้อยคัน เป็นชาวต่างชาติก็มี ครั้งที่ 2 ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม แม้จะมีคนนำจักรยานมาโชว์เพิ่มขึ้นไม่มาก แต่คนที่แวะเวียนมาชมงานกลับมีสูงขึ้นเป็นเท่าตัว “บางคนลงทุนนั่งรถไฟ นั่งเครื่องบิน เพื่อมาดูจักรยาน สองครั้งแรกพวกเราศิษย์เก่าศิลปากรเป็นเจ้าภาพ เลยไม่กระตือรือร้นเรื่องหาสปอนเซอร์เท่าไหร่ (ติสต์จัด) ผมก็เลยลองคุยกับเพื่อนต่างสถาบันดูบ้าง เขาก็ชวนให้เปลี่ยนมาจัดที่หอศิลป์กรุงเทพปลายปีนี้ แล้วก็จะหาสปอนเซอร์ให้ ผมยินดีมากๆ เพราะตรงนั้นมันเป็นที่เปิด เป็นย่านดาวน์ทาวน์ ซึ่งน่าจะมีคนมาดูเยอะขึ้นไปอีก”

จตุรงค์เห็นว่าจักรยานวินเทจน่าจะยังอยู่ในกระแสไปอีกนาน เพราะชาวตะวันตกเป็นนักอนุรักษ์ของเก่าตัวยง ในขณะที่คนไทยก็นักสะกดรอยตามแฟชั่นตะวันตกตัวแม่