ปัญหาภัยแล้งใหญ่ในประเทศจีนซึ่งเป็นผลจากคลื่นความร้อนกำลังส่งผลทำให้อุตสาหกรรมผลิตสินค้าต่างๆ หยุดชะงักลงจากปัญหาพลังงานขาดแคลน อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์มองว่าผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวจะไม่หนักหนาเท่ากับในปี 2021 ที่ผ่านมา
สื่อในประเทศจีนอย่าง China Daily ได้รายงานข่าวโดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาว่าคลื่นความร้อนในประเทศจีนหลายมณฑลไม่ว่าจะเป็น มณฑลชานซี มณฑลหูหนาน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางสี นั้นจะทำให้เมืองเหล่านี้มีอุณภูมิสูงถึง 39 องศาเซลเซียส ขณะที่มณฑลฉงชิ่ง มณฑลฟูเจี้ยน มณฑลสีฉวน อุณภูมิสูงสุดนั้นอาจถึง 40 องศาเซลเซียสในช่วงไม่กี่วันข้างหน้านี้
โดยสื่อจีนได้รายงานว่าคลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมจีนในตอนนี้ถือว่าเป็นคลื่นความร้อนที่รุนแรงสุดในรอบ 60 ปีในจีน นับตั้งแต่มีการก่อตั้งสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของจีนในปี 1961 เป็นต้นมา
ขณะเดียวกันด้วยคลื่นความร้อนในประเทศจีนยังทำให้เกิดปัญหาตามมานั่นก็คือภัยแล้งครั้งใหญ่ของประเทศจีน โดย สื่อจีนอีกรายอย่าง Global Times รายงานว่ามณฑลเสฉวน ซึ่งต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนนั้นเกิดปัญหาน้ำในเขื่อนมีปริมาณลดลงจากภัยแล้ง แต่ความต้องการในการใช้ไฟฟ้าของจีนกลับสูงเนื่องจากผลของคลื่นความร้อน ส่งผลทำให้พลังงานไฟฟ้าไม่พอกับความต้องการ จนทำให้จีนต้องเร่งนำเข้าถ่านหินเพิ่มเติมด้วย เพื่อที่จะเร่งผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ
ข้อมูลจาก BloombergNEF นั้น ในปี 2020 สัดส่วนของเขื่อนในประเทศจีนได้ผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 18% ของกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด
ปัญหาขาดแคลนพลังงานของจีนยังสร้างปัญหาต่อเนื่อง หลายเมืองต้องปันส่วนไฟฟ้าให้กับเมืองใหญ่ หรือแม้แต่ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ เป็นต้น ขณะเดียวกันในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ก็มีมาตรการประหยัดพลังงานออกมา ไม่ว่าจะเป็นการปิดไฟประดับตามตึกสูง งดใช้ลิฟต์บางตัว การปิดแอร์ เป็นต้น
ผลของไฟฟ้าที่ขาดแคลนในประเทศจีนทำให้ผู้ผลิตสินค้าหลายรายเริ่มวิตกกังวลไม่น้อย โดยบริษัทอย่าง Tesla ได้เตือนว่าปัญหาด้านพลังงานอาจทำให้โรงงานในเซี่ยงไฮ้มีกำลังการผลิตที่ลดลง ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นอย่าง Toyota รวมถึง CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ กลับต้องปิดโรงงานเนื่องจากปัญหาพลังงานขาดแคลน
หรือแม้แต่ Tongwei บริษัทผลิตซิลิคอนสำหรับเอาไว้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์นั้นก็ได้รับผลกระทบแล้ว โดยบริษัทกล่าวว่าไม่สามารถหาวัตถุดิบได้ เนื่องจากสภาวะตลาดที่ตึงตัว
ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของประเทศจีนลงมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า GDP ของจีนจะต่ำกว่า 4% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่วางไว้ 5.5%
อย่างไรก็ดี David Fishman ผู้บริหารระดับอาวุโสของ Lantau Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานที่มีสำนักงานในฮ่องกง ได้กล่าวกับ New York Times ว่าปัญหาการขาดแคลนพลังงานของประเทศจีนในรอบนี้นั้นถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับในช่วงเดือนกันยายนของปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว
สำหรับภาพความแห้งแล้งครั้งใหญ่ในประเทศจีนรวมถึงผลกระทบในด้านความเป็นอยู่สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ BBC และ The Guardian
ที่มา – CNN, Bloomberg, New York Times