ThaiMTB.com ปั่นสนุกกว่าเดิมในออนไลน์

จากจุดเริ่มต้นปั่นจักรยานในหมู่บ้าน จนออกมาสู่พื้นที่กว้างไกล ได้พบกับคอมมูนิตี้ของคนรักการปั่นจักรยานในเว็บบอร์ด BluePlanet เว็บไซต์ Pantip ในที่สุดก็ส่งแรงให้ชุมชนนี้เติบโตขึ้นจนกลายเป็น ThaiMTB.com

“โนบิตะ” คือนามแฝงที่เจ้าตัวไม่อยากเปิดเผยตัวจริง ชื่อจริง เขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเว็บมาสเตอร์ของ ThaiMTB.com ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนคนรักจักรยานที่พัฒนาการมาจากเว็บบอร์ด BluePlanet จนเปิดเป็นส่วนของคลังกระทู้เฉพาะจักรยาน แล้วออกมาทำเว็บฝากไว้กับเว็บไซต์ที่ให้บริการโฮสต์ฟรี จนเมื่อปี 2542 ก็เปิดเว็บไซต์ของตัวเองที่ ThaiMTB.com สำหรับคนรักการขี่จักรยานเสือภูเขา กว่า 10 ปีที่ผ่านมาชุมชนเติบโต จนคนรักจักรยานหลากหลายประเภทก็เข้ามาแวะเวียนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเสือภูเขา เสือหมอบ หรือกลุ่มฟิกเกียร์

ด้วยพื้นฐานเป็นวิศวกรของ “โนบิตะ” เขาเขียนโปรแกรมสำหรับเว็บไซต์ให้ทำงานได้อย่างอัตโนมัติ ทุกวันนี้แม้จะมีหน้าที่การงานประจำที่ต้องรับผิดชอบสูง จึงสามารถดูแลชุมชนนี้ได้ พร้อมกับมีผู้ช่วยอีก 1 คนเท่านั้น ส่วนหน้าที่ของเว็บไซต์ก็เพิ่มเนื้อหาขึ้นเรื่อย ๆ จากการพูดคุยเรื่องจักรยาน การจัดทริปขี่จักรยานตามสถานที่ต่างๆ มีการขายสินค้าจากร้านค้ากว่า 200 ร้าน และสินค้ามือสองของจักรยาน ถือเป็นแหล่งเชื่อมโยงคนรักจักรยานที่เหนียวแน่น จากเดิมที่เรื่องการขายสินค้าไม่สามารถทำได้ในพันทิป

จากช่วงแรกคนเข้ามาเป็นดูแค่หลักร้อย จนปัจจุบันเป็นหลักหมื่น และเมื่อเปิดให้ลงทะเบียนเมื่อ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เพราะกระแสของจักรยานมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีสมาชิกที่ลงทะเบียนประมาณ 40,000 คน มีสถิติจากทรูฮิตส์ที่คนเข้ามาดูเว็บไซต์ประมาณ 30,000 IP ต่อวัน เพจวิว 6 แสนเพจต่อวัน วันจันทร์-ศุกร์จะมีสมาชิกเข้ามาดูกันมาก ส่วนเสาร์-อาทิตย์ไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ไปปั่นจักรยานกันมากกว่า

โปรแกรมที่เขียนไว้ทำให้ ThaiMTB.com ได้คนที่สนใจจักรยานจริงๆ เข้ามาเป็นสมาชิก เพราะใช้ระบบที่คนสมัครเป็นสมาชิกจะต้องใช้เวลารวมๆ แล้วประมาณ 1 ชั่วโมงซึ่งอาจเข้ามาหลายครั้งในการดูเนื้อหาในเว็บไซต์ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่ใครแฝงตัวมาเพื่อหาประโยชน์ในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ามาโพสต์ขายสินค้า ที่ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมสมัครเป็นสมาชิกแล้วโพสต์ขายของ พอถูกปิดก็สมัครใหม่ แล้วเข้ามาขายของใหม่

สำหรับที่มาของรายได้นั้นเกือบทั้งหมดมาจากแบนเนอร์โฆษณา จากบริษัทจักรยานประมาณ 10 บริษัท ที่ผูกยาวซื้อแบนเนอร์เป็นปี ในเฉลี่ยเดือนละ 3,000-4,000 บาท ต่อแบนเนอร์ ซึ่งเป็นการเดินเข้ามาเองบริษัทเหล่านั้น ซึ่งอัตรานี้คำนวณจากต้นทุนที่ต้องใช้สำหรับบริหารเว็บไซต์ ที่มีค่าเซิร์ฟเวอร์ และค่าเช่าเท่านั้น ซึ่ง ณ ต้นเดือนสิงหาคม 2554 มีโฆษณาอยู่ประมาณ 20 แบนเนอร์

เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน และค่อนข้างมีรายได้ เพราะจักรยานคันหนึ่งมีราคาสูง อย่างเสือภูเขาต่ำสุดก็หลักหมื่นบาท สูงไปจนถึงกว่า 2 แสนบาท ดังนั้นนอกจากบริษัทที่ทำธุรกิจขายจักรยาน และอะไหล่จักรยานอยากเข้ามาโปรโมตสินค้าในนี้แล้ว ยังมีแบรนด์สินค้าอื่นๆ ที่ต้องการเจาะลูกค้ากลุ่มนี้ พยายามติดต่อเพื่อใช้เป็นพื้นที่โฆษณาด้วย แต่ “โนบิตะ” บอกว่าไม่รับ

นอกจากนี้ยังมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการเปิดให้ร้านค้าที่ต้องการขายสินค้าเกี่ยวกับจักรยานที่มีอยู่ประมาณ 200 ร้านที่มาลงทะเบียน เก็บค่าบริการเดือนละ 500 บาท แต่ด้วยความที่ไม่ได้มุ่งหวังทำกำไรจากเว็บไซต์นี้ เพราะเขามีหน้าที่การงานที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว จึงทำให้ไม่ได้เฝ้าติดตามการจ่ายค่าบริการของร้านค้ามากนัก บางรายไม่จ่ายเป็นปีก็ยังเคยเกิดขึ้น

สำหรับความนิยมของสมาชิกในการเข้ามาในเว็บไซต์อันดับแรกๆ คือประมาณ 60% ของเพจวิวจะเข้ามาที่กระดานขายของที่ให้สมาชิกเสนอซื้อขายสินค้ามือสองกัน เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมของคนขี่จักรยานไม่ใช่ซื้อ 1 คันและจบ แต่จะมีการเปลี่ยนอะไหล่ตลอดเวลา จึงทำให้เกิดการซื้อขายกันอย่างคึกคักในนี้ รองลงมาเป็นการเข้ามาดูทริปชวนปั่น ที่สมาชิกที่อยู่ทั่วประเทศจะโพสต์ทริปที่จัดตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และยังมีส่วนของการชวนแข่งก็ได้รับความสนใจไม่น้อย

ที่สำคัญการทำหน้าที่ของเว็บที่คล้ายโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คผสมกับเว็บบอร์ด ที่ให้สมาชิกโพสต์รูป หรือคลิป มีการคอมเมนต์คุยกันหรือจะคุยกันส่วนตัวก็มีฟีเจอร์ Private Message ให้เลือก ก็ทำให้เสือแต่ละท่านมีการโพสต์รูปมาอวดกันอย่างคึกคัก บางทริปไปกัน 2 คน ก็มาโพสต์กันอย่างเต็มที่

จักรยานที่กำลังกลายเป็นเทรนด์ คอมมูนิตี้เพื่อนนักปั่นในโลกออฟไลน์ จึงยิ่งสนุกมีสีสัน และรู้จักกันกว้างมากขึ้นเมื่อชุมชนออนไลน์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ