มาร์ติน ฮุนตระกูล จอดจักรยานแบบมีดีไซน์

มาร์ติน ฮุนตระกูล ดีไซเนอร์อิสระ เป็นอีกคนที่หลงใหลการปั่นจักรยาน เขาหวนกลับมาปั่นจักรยานอีกครั้งเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากหยุดไปเมื่อวัยเด็ก ด้วยการชักชวนจากกลุ่มเพื่อนที่เรียนโรงเรียนนานาชาติด้วยกัน และนัดแนะกันขี่จักรยานเพื่อการออกกำลังกาย บริเวณพื้นที่โล่งข้างสนามบินสุรวรรณภูมิในเย็นวันอาทิตย์ เพราะพื้นที่เหมาะสมกับจักรยานเสือหมอบที่ดึงดูดให้เขาหวนกลับมาหลงเสน่ห์สองล้อใช้แรงปั่นอีกครั้ง

แต่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อเขาเป็นคนหนึ่งที่เสพติดการเดินทางด้วยวิธีนี้ จึงขยายเวลาบนอานจักรยาน จากแค่ปั่นเป็นงานอดิเรกยามว่าง ก็หยิบเอาจักรยานมาใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อต้องเดินทางในเขตเมืองที่ไม่ไกลนัก จนกระทั่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าจักรยาน ซึ่งเป็นทั้งพาหนะและแรงบันดาลใจให้กับเขา นอกจากนี้มาร์ตินยังเป็นคนที่กลุ่มนักปั้นด้วยกันนึกถึงในฐานะคนที่ทำงานเพื่อผลักดันให้เกิดพื้นที่ส่วนรวมของคนขี่จักรยาน

ปั่นเล่นๆ แบบมีดีไซน์
มาร์ตินเล่าถึงตลาดจักรยานว่า จักรยานที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือจักรยานสำหรับการกีฬา กับจักรยานทั่วไป เช่น จักรยานพับได้, Fixed Gear แต่ช่องว่างที่ยังเหลืออยู่กลับเป็นจักรยานกลุ่ม Commuting ที่เน้นดีไซน์เป็นจุดเด่น ประกอบกับเขาเองก็เป็นโปรดักต์ดีไซเนอร์จึงมองหาจักรยานมาขี่เอง จนพบกับ VANMOOF จักรยานสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่เพิ่งทำตลาดในต่างประเทศได้ไม่นาน และหลังจากที่เอามาลองใช้เองสักพัก เขาและกลุ่มเพื่อนก็กลายเป็นผู้นำเข้าจักรยานแบรนด์นี้มาจำหน่ายในประเทศไทย

“ผมเองทำงานด้านดีไซน์ เวลาที่ใช้สินค้าอะไรก็จะเลือกจากดีไซน์ของมัน เพราะต้องลองใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อศึกษาไปในตัว และคาแร็กเตอร์ของ VANMOOF กับงานของผมก็คล้ายกัน ผมชอบความเรียบง่าย ชัดเจน จักรยานคันนี้มีรูปแบบที่ Simple มาก แต่ก็มีลุคของความโมเดิร์น เรียกว่า Modern Classic”

จุดเด่นของ VANMOOF อยู่ที่ตัวเฟรม (โครงจักรยาน) ซึ่งออกแบบมาให้สอดอุปกรณ์เสริมความเช่นไฟ LED ส่องทางด้านหน้า กับไฟหลังเอาไว้ที่ตัวเฟรม ภาพลักษณ์ที่ปรากฏออกมาจึงเรียบง่าย ไม่รกรุงรัง ด้วยเหตุนี้จึงได้รางวัล Red Dot Award โทรฟี่ดังของงานดีไซน์

“จักรยานยี่ห้อนี้เกิดขึ้นมาเพื่อป้องกันขโมย โดยการออกแบบเฟรมให้แข็งแรง แล้วเอาไฟซ่อนไว้ในเฟรมเลย ทุกประเทศที่ขี่จักรยานเกิดปัญหาเดียวกัน คือการขโมยจักรยาน”

“สิ่งเดียวที่ VANMOOF ออกแบบเองคือเฟรม นอกนั้นเป็นของเดิมที่มีอยู่แล้ว อย่างอาน ก็ใช้อาน BROOKS ที่ทำมาเป็นร้อยปี ส่วนยางใช้ยางขอบขาวซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ยังไงรูปแบบของยางก็ต้องเป็นแบบนี้ ต้องเรียกว่า VANMOOF เข้าใจออกแบบอะไรอีกนิดหน่อยแล้วก็เอาของเดิมที่มีอยู่แล้วว่าเพิ่มเติม ทำให้กลายเป็นของที่มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ สำหรับคนที่เล่นจักรยาน แค่มองด้านข้างก็จะรู้เลยว่านี่แบรนด์อะไร”

ปัจจุบันยอดขายของ VANMOOF ในประเทศไทยยังอยู่ในวงจำกัดเพียงแค่หลักสิบคันเท่านั้น ด้วยราคาเริ่มต้น 3 หมื่นบาทสำหรับรุ่น Single Speed และราคาขยับขึ้นมาสำหรับรุ่นที่มีเกียร์ แต่บทบาทของมาร์ตินในวงการจักรยาน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หนึ่งในหุ้นส่วนผู้นำเข้า VANMOOF เท่านั้น เพราะเขายังเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดพื้นที่เฉพาะของคนขี่จักรยาน

ที่จอดรถ พื้นที่ที่หายไปหรือไม่เคยมีอยู่
เส้นทางการปั่นสำหรับของมาร์ติน จะเริ่มต้นจากบ้านที่ซอยเย็นอากาศ แล้วทำธุระในเขตเมืองบริเวณสาทร ถนนวิทยุ และเส้นสุขุมวิท แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ที่เส้นทางการขับขี่กับสถานที่จอดรถ ที่ไม่เอื้อกับการขับขี่

“ความจริงในกรุงเทพฯ มีเลนจักรยานเส้นหลักๆ ในเขตเมือง แต่มีคนไปตั้งของขาย หรือมีคนเข้าไปเดิน ซึ่งก็จะไปโทษคนเหล่านั้นก็ไมได้ เพราะเส้นก็สีจางหมดแล้ว แต่ถ้าไม่มีคนทำคนก็จะคิดว่า ถ้ามีปัญหาแบบนี้ก็นั่งอยู่ในรถดีกว่า และถ้ามีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คนก็จะมีทางเลือกมากขึ้น”

“ปัญหาของคนขี่จักรยานคือคนที่เข้าใจปัญหาไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจ มีแต่รับข้อมูลไปเท่านั้นเอง บางสถานที่ เช่น ห้างสรรพสินค้า เราไม่ได้ไปจอดฟรี เราเป็นลูกค้าที่ไปสนับสนุนเขา เราพยายามช่วยสังคมก็น่าจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านี้”

ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เอง มาร์ติน จึงใช้ความสามารถด้านการออกแบบของเขา เพื่อจุดประกายให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการร่วมมือกับมูลนิธิโลกสีเขียว ออกแบบพื้นที่จอดจักรยานให้กับอาคาร และห้างสรรพสินค้าหลายแห่งแบบไม่คิดมูลค่า ซึ่งแนวทางออกแบบของเขาอิงกับความเข้าใจคนขี่จักรยานเป็นหลัก เช่น พื้นที่ระยะห่างที่จักรยานแต่ละคันจะจอดได้ ทั้งในกรณีที่คันเดียว หรือว่ามาเป็นกลุ่ม, ความสูงจากพื้นที่ที่เอื้อต่อจุดล็อกจักรยาน และจุดจอดอยู่ในสถานที่ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยได้ง่ายหรือไม่

ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีสถานที่ใดใช้แบบที่เขาออกแบบมา แต่ตัวอย่างแบบร่างที่มาร์ตินส่งผ่านมูลนิธิโลกสีเขียว ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้ เค-วิลเลจจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับจอดจักรยาน และสถานที่จอดก็เป็นส่วนหนึ่งของการตอกย้ำแบรนด์ ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์แห่งนี้ได้ดีพอสมควรในสายตาของนักออกแบบ ตัวอย่างของอาคารที่มีที่จอดจักรยานซึ่งมาร์ตินกล่าวถึง ยังมีอาคารอื้อจื่อเหลียง ซึ่งผู้บริหารอาคารเองก็ขี่จักรยานอยู่แล้วทำให้มีความเข้าใจในเรื่องนี้

จากอินไซท์ของคนขี่จักรยานล้วนแล้วแต่มองหาอาคาร ห้างสรรพสินค้า และร้านที่มีที่จอดจักรยานเป็นสัดส่วนก่อนเสมอ เพราะไม่อยากมีปัญหากวนใจกับคนดูแลสถานที่ หรือว่ากังวลกับจักรยานของตัวเอง ดังนั้น “ที่จอดจักรยาน” จึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่นักการตลาดสามารถเอาไปสร้างความประทับใจได้เช่นเดียวกัน