ผลสำรวจเผย Li Ning เป็นแบรนด์ที่เติบโตมากสุดในจีน หลังสินค้าโดนใจ กระแสชาตินิยมมาแรง

ภาพจาก Shutterstock

Kantar BrandZ เผยผลการสำรวจมูลค่าแบรนด์ในประเทศจีน โดยแบรนด์ที่เติบโตมากที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ Li Ning แบรนด์กีฬาชื่อดัง ขณะเดียวกันทางด้านของ Tencent ยังเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศจีน

ผลสำรวจจาก Kantar BrandZ ได้เผยว่าแบรนด์กีฬาชื่อดังของจีนอย่าง หลี่ หนิง (Li Ning) กลายเป็นแบรนด์ที่มีอัตราการเติบโตที่สุดในประเทศจีน ในปีที่ผ่านมานั้น Li Ning มีอัตราการเติบโตของแบรนด์มากถึง 66% โดยแบรนด์กีฬาชื่อดังนี้มีมูลค่าแบรนด์อยู่ที่ 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Li Ning มีอัตราการเติบโตมากที่สุดนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของนวัตกรรมที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกันยังรวมถึงกระแสชาตินิยมที่ชาวจีนหันมาใช้แบรนด์ในประเทศมากขึ้น หลังจากที่จีนมีความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา

ขณะที่แบรนด์จีนที่มีการเติบโตในปีที่ผ่านมารองจาก Li Ning นั้นได้แก่ China Telecom ผู้ให้บริการโทรคมนาคม Chow Tai Fook แบรนด์ขายเครื่องประดับรายใหญ่ของจีน Xing Hua Cun แบรนด์ร้านอาหารในจีน BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชื่อดัง รวมถึง Haier แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งรายชื่อแบรนด์เหล่านี้ต่างมีอัตราการเติบโตของมูลค่าแบรนด์มากกว่า 25%

อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมา ผลสำรวจจาก Kantar BrandZ กลับพบว่าแบรนด์จีนกลับมีมูลค่าลดลง 20% ซึ่งสวนทางกับแบรนด์อย่าง Li Ning โดย 100 แบรนด์จีนมีมูลค่าแบรนด์อยู่ที่ 1.24 ล้านล้านดอลลาร์ สาเหตุที่แบรนด์จีนมีมูลค่าลดลงนั้นมาจากสภาพธุรกิจที่เปลี่ยนไป การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้มีการล็อกดาวน์ตามเมืองต่างๆ เป็นต้น

สำหรับรายชื่อแบรนด์จีนที่มีมูลค่าสูงสุดจาก Kantar BrandZ

  1. Tencent มีมูลค่าแบรนด์ 204,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
  2. Alibaba มีมูลค่าแบรนด์ 137,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
  3. Moutai แบรนด์เหล้าชื่อดัง มีมูลค่าแบรนด์ 108,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
  4. Douyin แพลตฟอร์ม TikTok สำหรับผู้ใช้งานในจีน มีมูลค่าแบรนด์ 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
  5. Meituan แพลตฟอร์มส่งอาหารใหญ่สุดในจีน มีมูลค่าแบรนด์ 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับมูลค่าแบรนด์ที่ Kantar BrandZ รายงานนั้นจะใช้ข้อมูลทางการเงินและการวิจัยมูลค่าแบรนด์เพื่อประเมินการมีส่วนร่วมของแบรนด์ที่มีต่อประสิทธิภาพทางการเงินของธุรกิจ ซึ่งข้อมูลทางการเงินในแบรนด์ที่เป็นบริษัทซื้อขายในตลาดหุ้นจะต้องมีการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี ขณะที่แบรนด์ที่อยู่นอกตลาดหุ้นนั้นจะต้องมีข้อมูลทางการเงินที่เปิดเผยต่อสาธารณชน

ที่มา – Bloomberg, Kantar