ต่อยอดโปรเจกต์ “สีเขียว” ด้วย “จักรยาน”

เทรนด์ความนิยมจักรยาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมซีเอสอาร์ และแคมเปญการตลาดอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา และจะมีต่อเนื่องนับจากนี้ กลายเป็นเสน่ห์ดึงความสนใจ ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมได้อย่างดี นี่คือกระแสที่ทำให้หลายหน่วยงานใช้เป็นจังหวะสร้างโปรเจกต์ โดยส่วนใหญ่มาจากจุดเริ่มต้นของแนวคิดการรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งบางหน่วยงานทำต่อเนื่อง แต่บางแห่งก็แค่ชั่วคราว มีตัวอย่างดังนี้

“มหิดล” จักก้า (ยาน) is cool
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีแนวคิดเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว เริ่มจากโครงการ “จักรยานสีขาว” นำจักรยานเก่ามาซ่อมและใช้เป็นจักรยานสาธารณะ ใครจะมาใช้ก็ได้ ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นการเปิดศูนย์ “จักก้าเซ็นเตอร์” ซ่อม ขาย ไม่เอากำไร รณรงค์ให้คนในมหาวิทยาลัยใช้จักรยานมากกว่าใช้รถยนต์ จนขณะนี้มีจักรยานสีขาวกว่า 400 คัน จักรยานผู้บริหาร 80 คัน และจักรยานส่วนบุคคล 3,700 คน จากจำนวนบุคลากรและนักศึกษาทั้งหมด 20,000 คน เพิ่มเส้นทางจักรยานในมหาวิทยาลัยจาก 2.5 กิโลเมตร เป็น 5 กิโลเมตร

งานนี้ โค้ก ที่กำลังเดินหน้ากิจกรรมเพื่อมัดใจกลุ่มนักศึกษา จึงโดดเข้าร่วมโครงการนี้ทันที มอบรถจักรยาน 520 คัน ให้กับมหิดลไปใช้งาน นี้เรียว่าได้ทั้งแบรนด์ได้ทั้ง CSR

จักรยานกลางเมือง
มูลนิธิโลกสีเขียว ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นสปอนเซอร์ โครงการจักรยานกลางเมือง ระยะเวลาโครงการ มกราคม 2554 – ธันวาคม 2555 เพื่อรณรงค์และจุดประเด็นให้คนกรุงเทพฯ มีความสนใจในการเลือกใช้จักรยานเพื่อสัญจรในกรุงเทพฯ ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2554 ได้เริ่มสำรวจเส้นทางจักรยาน ไว้เป็นข้อมูลจัดทำแผนที่ขี่จักรยานใน กทม.

Bangkok Car Free Sunday
กรุงเทพมหานครร่วมกับเครือข่ายรณรงค์การใช้จักรยานในกรุงเทพฯ (Bangkok Bicycle Campaign) , กลุ่มต้นไม้มหานคร (Bangkok Big Trees และมูลนิธิโลกสีเขียว ชวนชาวกรุงเทพฯ ร่วมปั่นจักรยาน เริ่มกิจกรรมไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี แน่นอนมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพร้อมคณะผู้บริหารร่วมอีเวนต์นี้ด้วย

จักรยานปั่นปัน
ในแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีกลุ่มจักรยาน อย่างเช่น กลุ่ม Bike in University คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เพิ่งจัดโครงการจักรยานปั่นปัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นการแบ่งปันจักรยานเพื่อใช้ในมหาวิทยาลัย เพื่อลดโลกร้อน เป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากโครงการประกวด “โครงการลดโลกร้อน” ของ British Council ในชื่อโครงการ Climate Cool โดยความร่วมมือระหว่างสถานทูตอังกฤษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นิตยสาร a day และ Youth Venture Thailand ซึ่งนักศึกษาของคณะได้ร่วมโครงการ และได้รับมอบเงินสนับสนุนโครงการมาจัดซื้อจักรยาน 8 คันมาให้บริการแก่นักศึกษาในสถาบัน

จักรยานชมเกาะ (รัตนโกสินทร์)
โครงการ “จักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์” (Green Bangkok Bike) ตามนโยบายกรุงเทพฯ สีเขียว เริ่มตั้งแต่สมัย “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน เพื่อบริการนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีบริการ 300 คน มีจุดจอด 8 จุด รอบเกาะรัตนโกสินทร์

อีเวนต์ท้องถิ่นปั่นสะสมทุน
จักรยานยังเป็นสีสันของอีเวนต์ทั่วประเทศ อย่างเช่น สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน 102.75 MHz. อุบลราชธานี ร่วมกับ ชมรมจักรยานจังหวัดอุบลราชธานี ดีแทค และกลุ่มบริษัทเบญจจินดา มีโครงการปั่นจักรยานเพื่อน้อง เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นปีที่ 3 เพื่อรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน และปั่นเพื่อสะสมระยะทาง นำระยะทางแลกเงินซื้อจักรยานใหม่ให้น้อง โดยผู้สนับสนุนโครงการจะมอบเงินสนับสนุน กิโลเมตรละ 10 บาท

หาที่จอดให้จักรยาน
ขึ้นอยู่ว่าใครเห็นปรากฎการณ์นี้ก่อนกัน เพราะบรรดานักปั่นเวลานี้ ล้วนแต่เป็นคนชั้นกลางที่มีสตางค์ เป็นอีกปรากฎการณ์ ที่เป็นผลมาจากกระแสความนิยมจักรยานของคนเมืองเวลานี้ ส่งให้อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าสยามพารารอน ห้างคอมมูนิตี้มอลล์ อย่างเค วิลเลจ ต้องลงทุนขยายที่จอดจักรยานสำหรับนักปั่นโดยเฉพาะ อาคารบางแห่งอย่างตึกอื้อจือเหลียง ที่มีธุรกิจนำเข้ารถจักรยาน นอกจากมีที่จอดรถให้แล้ว แล้วยังมีห้องอาบน้ำให้ชาวจักรยานด้วย

จะเป็นเพราะเจ้าของห้างสรรพสินหรือเจ้าของอาคาร จะหันมาออกกำลังกายด้วยจักรยานหรือไม่ก็ตาม แต่นี่คือโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ที่เกิดจากไลฟ์สไตล์คนเมือง พักอยู่คอนโดมิเนียม นั่งชิลตามร้านกาแฟ ร้านอาหารดีไซน์ มีจักรยานไว้ว้ขี่ชมเมือง งานนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นโอกาสนี้ก่อนกัน