‘เยอรมนี’–‘เดนมาร์ก’ ทุ่ม 9 พันล้านลงทุน ‘ไฟฟ้าพลังงานลม’ แทนการนำเข้าก๊าซ ‘รัสเซีย’

หลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทาง สหภาพยุโรป (EU) ก็ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงการนำเข้า พลังงาน ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซ น้ำมัน และ ถ่านหิน แน่นอนว่าการคว่ำบาตรดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิก ล่าสุด เยอรมนีและเดนมาร์กก็หันไปหาพลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

เยอรมนีและเดนมาร์ก ได้มีข้อตกลงร่วมกันมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้า พลังงานลม นอกชายฝั่งในทะเลบอลติก ซึ่งทางการระบุว่าจะช่วยให้สามารถจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับครัวเรือน 4.5 ล้านครัวเรือน ภายในปี 2573

โดยข้อตกลงนี้ เดนมาร์กต้องการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมตามแผนที่วางไว้บนเกาะพลังงานบอร์นโฮล์มจาก 2 เป็น 3 กิกะวัตต์ และข้อตกลงดังกล่าวยังรวมถึงสายเคเบิลใต้น้ำ 292 ไมล์ที่เชื่อมโยงกังหันลมของบอร์นโฮล์มกับกริดของเยอรมนี เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซและน้ำมันของรัสเซีย

ปัจจุบัน เดนมาร์กและเยอรมนีมีความสามารถด้านพลังงานลมนอกชายฝั่ง 1.5 กิกะวัตต์ และ 1 กิกะวัตต์ ในทะเลบอลติกตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของพลังงานลมในยุโรป

Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพอากาศของเยอรมนี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการ ระดับเรือธง ซึ่งจะช่วยให้ยุโรปบรรลุ ความมั่นคงด้านพลังงานและความเป็นกลางของสภาพภูมิอากาศ

“พลังงานลมจากทะเลบอลติกจะช่วยเราต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และนี่คือการลงทุนในความมั่นคงของเรา มันจะช่วยให้เราพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียน้อยลง” Annalena Baerbock รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน กล่าวเสริม

ความจุพลังงานลมทั้งหมดของโลก ทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 837 กิกะวัตต์ ตามรายงานของสภาพลังงานลมโลก จีนถือหุ้นใหญ่ที่สุดในตลาดพลังงานลมนอกชายฝั่งของโลก โดยได้เพิ่มกำลังการผลิตลมนอกชายฝั่งเป็น 27.7 กิกะวัตต์ในปี 2564

คณะกรรมาธิการยุโรปตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมทั้งหมดของประเทศเป็น 300 กิกะวัตต์ภายในปี 2593 เพิ่มขึ้นจาก 16 กิกะวัตต์ที่ติดตั้งในเดือนพฤษภาคม

Source