10 ประเทศที่ได้รับ “ผลเสีย” หนักที่สุดจาก “ภาวะโลกร้อน”

โลกร้อน
(Photo: Shutterstock)
ภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) กำลังเล่นงานโลกใบนี้อย่างหนัก ปีนี้ปากีสถานเผชิญกับมหาอุทกภัยที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน แต่ในยุโรปและประเทศจีนกลับเกิดภัยแล้งจนพืชผลการเกษตรเสียหาย สิ่งเหล่านี้เกิดจากภาวะโลกร้อน (Climate Change) ที่หนักข้อขึ้น

แม้ว่าทั้งโลกจะได้รับ “ผลเสีย” จาก “ภาวะโลกร้อน” กันทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วมีประเทศที่ต้องรับผลหนักกว่าประเทศอื่น ส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศรายได้ต่ำ เพราะไม่มีทรัพยากรเพียงพอเท่ากับประเทศรายได้สูงเพื่อที่จะรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ

ข้อมูลจาก Notre Dame Global Adaptation Initiative และ Germanwatch’s Climate Risk Index ประเมิน 10 ประเทศที่ได้รับผลเสียหนักที่สุดจากภาวะโลกร้อน ไว้ดังลิสต์ด้านล่างนี้ (*เรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ)

1.อัฟกานิสถาน

ระหว่างปี 1950-2010 อุณหภูมิในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้น 1.8 องศาเซลเซียส และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1.4 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 (กรณีเลวร้ายที่สุดอาจเพิ่มขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียสภายในปี 2100)

อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้น้ำฝนน้อยลงถึง 40% และเกิดภัยแล้ง แต่ในขณะเดียวกัน ความร้อนทำให้หิมะบนเทือกเขาละลายและเกิดน้ำท่วมตามริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อเผชิญสภาพที่ทั้งแล้งและน้ำท่วม พืชผลเกษตรจึงเสียหายหนัก และทำให้ประเทศขาดแคลนอาหาร

อัฟกานิสถาน (Photo: Mohammad Husaini / Pexels)
2.บังคลาเทศ

ระหว่างปี 2000-2019 บังคลาเทศเผชิญสภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ไปทั้งหมด 185 ครั้ง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ 3,720 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.35 แสนล้านบาท)

USAID เคยรายงานไว้เมื่อปี 2018 ว่า 89% ของชาวบังคลาเทศอาศัยอยู่ในพื้นที่ “เสี่ยงสูง” หรือ “เสี่ยงสูงมาก” ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และมีชาวบังคลาเทศถึง 11% ที่จะต้องสูญเสียแผ่นดินบ้านเกิดตัวเองไปในภายในปี 2050 เนื่องจากระดับน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น

3.ชาด

ชาด ประเทศในทวีปแอฟริกา เผชิญกับภัยแล้งรุนแรงในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ทะเลสาบชาดซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แห้งเหือดไปแล้วถึง 90% จนทะเลสาบกลายสภาพเป็นเหมือนแอ่งฝุ่นมากกว่าแอ่งน้ำ

ชาดยังเป็นประเทศทะเลทรายด้วย ทำให้เมื่อเกิดภาวะอากาศสุดขั้ว เกิดฝนตกหนักผิดปกติเมื่อใดประเทศก็จะต้องเผชิญน้ำท่วมใหญ่ในปีนั้น เนื่องจากทะเลทรายไม่สามารถอุ้มน้ำเอาไว้ได้

ทะเลสาบชาดหดตัวรุนแรง ทั้งจากการใช้น้ำมากเกินไปและภัยแล้ง (By Blank_Map-Africa.svg: Andreas 06derivative work / Common Wiki)
4.เฮติ

“ภาวะโลกร้อนคือความหวาดหวั่นใหญ่หลวงในเฮติ มันยากมากสำหรับเราที่จะต่อสู้กับโลกร้อน” Joseph Jouthe รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม (ณ ขณะนั้น) ของเฮติ กล่าวไว้ในงาน COP25 ปี 2019

เฮติเป็นหนึ่งในประเทศทะเลแคริบเบียนซึ่งอยู่ในเขตเข็มขัดเฮอริเคน ทำให้ต้องเผชิญผลเสียของภาวะโลกร้อนสูง ไม่ใช่แค่เฮติที่โดนหนัก ประเทศโดมินิกันซึ่งเป็นเพื่อนบ้านก็เช่นกัน แต่เฮติมีทรัพยากรในการป้องกันประเทศจากภัยพิบัติต่ำที่สุด 96% ของชาวเฮติจะอยู่ในความเสี่ยงหากเกิดภัยพิบัติขึ้น รวมถึงปัญหาทางการเงินทำให้ประเทศฟื้นตัวได้ยาก

ธนาคารโลกเคยประเมินไว้ว่า แผ่นดินไหวปี 2010 ที่คร่าชีวิตคนเฮติไป 250,000 คน และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจไป 120% ของจีดีพีโลก ต่อมาในปี 2016 เฮอริเคนแมทธิวสร้างความเสียหายไป 1 ใน 3 ของจีดีพีประเทศ

5.เคนยา

ภัยแล้งคือปัญหาหนักที่สุดของเคนยา ประเทศในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา แค่เพียงปี 2019 ปีเดียว ภัยแล้งสร้างความเสียหายให้เคนยาไปแล้ว 708 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 25,800 ล้านบาท)

เคนยาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกา แต่ก็ยังหนีไม่พ้นปัญหาโลกร้อน ในทางกลับกัน การที่เคนยาเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ก็จะเกิดผลต่อเนื่องแก่ประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งรัฐบาลเคนยาก็ไม่นิ่งนอนใจ ทั้งที่เคนยามีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.1% ของโลก แต่ประเทศได้ให้คำมั่นไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 32% ให้ได้ภายในปี 2030

เคนยา (Photo: Adi Perets / Pexels)
6.มาลาวี

มาลาวีเป็นประเทศในเขตแอฟริกาตะวันออก และเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในจุดศูนย์กลางไซโคลนอิดาอีเมื่อปี 2019 ไซโคลนลูกนั้นถือเป็นพายุที่คร่าชีวิตคนไปมากที่สุดและสร้างความเสียหายสูงที่สุดเท่าที่มีบันทึกในภูมิภาคนี้ โดยผลจากไซโคลนอิดาอีทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน มีคนได้รับผลกระทบกว่า 3 ล้านคน และสร้างความเสียหายกว่า 2,200 ล้านเหรียญ (ประมาณ 80,000 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ล่าสุด ประเทศนี้ต้องเผชิญผลจากโลกร้อนมาตั้งแต่ปี 1961 ภาวะอากาศสุดขั้วทำให้เกิดทั้งปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ภัยแล้ง และน้ำท่วม จนพืชผลเกษตรเสียหาย โดยประเทศนี้มีประชากรถึง 80% ที่พึ่งพิงรายได้จากการเกษตร

บ้านเรือนพังเสียหายจากไซโคลนอิดาอีในมาลาวี (Photo: Shutterstock)
7.ไนเจอร์

80% ของคนไนเจอร์พึ่งพิงรายได้จากการเกษตร ทำให้ประเทศอยู่บนความเสี่ยง เพราะอุณหภูมิของประเทศปรับสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลก 1.5 เท่า ภายในปี 2100 ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนคาดว่าไนเจอร์จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3-6 องศาเซลเซียส จากปัจจุบันที่ไนเจอร์มีปัญหาขาดแคลนอาหาร ขาดแคลนน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดอาชญากรรมในประเทศ อนาคตข้างหน้าจะยิ่งเต็มไปด้วยวิกฤตและความตึงเครียด

ตั้งแต่ปี 1968 ไนเจอร์เกิดภัยแล้งติดต่อกันหลายปีมาหลายครั้ง ธนาคารโลกรายงานว่า พื้นที่เกษตรของไนเจอร์ลดลงและลดคุณภาพลงด้วยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970s แต่ในทางกลับกัน น้ำท่วมกลับรุนแรงขึ้นทุกทีโดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศ ภาวะโลกร้อนจึงทำให้เกษตรกรไนเจอร์เป็นผู้รับผลหนักที่สุด

8.ปากีสถาน

ประเทศที่เพิ่งเผชิญภัยพิบัติครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคม แต่สัญญาณเตือนมีมาตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 ซึ่งอุณหภูมิในเมืองจาโคบาบัดของปากีสถานพุ่งขึ้นไปถึง 126 องศาฟาเรนไฮต์ ร้อนจนถูกขนานนามว่าเป็นเมืองที่ร้อนที่สุดในเอเชีย และร้อนรุนแรงจนมนุษย์ทนไม่ได้ อีกเมืองหนึ่งของปากีสถานคือเมืองการาจี ก็เป็นจุดศูนย์รวมแห่งภัยพิบัติอันเนื่องมาจากโลกร้อน โดยที่เมืองนี้มีคนอยู่อาศัยถึง 14.9 ล้านคน

ประเทศปากีสถานเองมีการกระทำที่ยิ่งเร่งปฏิกิริยานั่นคือการตัดไม้ทำลายป่า ปัจจุบันปากีสถานเหลือป่าเพียง 4% ของพื้นที่ประเทศ เพราะประเทศนี้มีกลุ่มมาเฟียตัดไม้ผิดกฎหมาย เมื่อป่าไม้น้อยลง มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะพุ่งขึ้น 3.9 องศาฟาเรนไฮต์ภายใน 3 ทศวรรษ

เมื่ออากาศร้อนขึ้น ธารน้ำแข็งจากเทือกเขา 3 ลูกของปากีสถาน คือ ฮินดูกูช, หิมาลัย และการาโกรัม จึงละลายออกมาต่อเนื่อง ทำให้เกิดทั้งภัยแล้งรุนแรงและน้ำท่วมอย่างที่เกิดในปีนี้

ธารน้ำแข็งบนยอดเขา K2 ปรากฏภาพการละลายมาตั้งแต่ปี 2011 (Photo: Shutterstock)
9.โซมาเลีย

เหมือนกับเคนยา โซมาเลียเผชิญภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุดของแอฟริกาในรอบ 40 ปี จนทำให้บางภูมิภาคของประเทศเข้าขั้นเกิดภัยพิบัติขาดแคลนอาหาร มากกว่า 60% ของประเทศนี้เป็นกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ทำให้การมีน้ำฝนเพียงพอเป็นเรื่องสำคัญมากในการหล่อเลี้ยงฝูงสัตว์ของพวกเขา แต่ในทศวรรษที่ผ่านมา เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โซมาเลียเกิดสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งยิ่งทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองและระบบป้องกันภัยพิบัติล้มเหลว

10.ซูดาน

เมื่อปี 2016 นักวิทยาศาสตร์ด้านโลกร้อน Jos Lelieveld กล่าวว่า ภายในศตวรรษนี้ ส่วนหนึ่งของทวีปแอฟริกาเหนือจะร้อนจน “ไม่สามารถอยู่อาศัยได้” และประเทศหนึ่งที่เสี่ยงที่สุดคือ ซูดาน

เหมือนกับหลายประเทศในแอฟริกา ซูดานพึ่งพิงการทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ทำให้ต้องพึ่งพิงฟ้าฝนในการอยู่รอด แต่ความขัดแย้งในประเทศก็ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาไม่เกิดขึ้นเหมือนๆ กับโซมาเลีย

Source

 

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม