NRF บริษัทด้านอาหาร วางวิสัยทัศน์บริษัทกู้วิกฤตสภาวะอากาศ เล็งธุรกิจใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหา “เผาทางการเกษตร” ตั้ง “โรงงานดักจับคาร์บอน” รับซื้อซังข้าวโพดผลิตเป็นไบโอคาร์บอนจำหน่าย คาดเริ่มต้นได้ภายในปี 2566 ทางภาคเหนือของไทย ด้านธุรกิจ plant-based ไทย NRPT บริษัทร่วมกับ ปตท. จะเริ่มเปิดร้านค้าปลีก “Alt Eatery” แห่งแรก
NRF เป็นบริษัทที่มีพื้นฐานจากการผลิตและส่งออกเครื่องปรุง-อาหาร ก่อนที่เมื่อ 2-3 ปีก่อน บริษัทได้ยกระดับตนเองว่าจะเป็น “ฟู้ดเทค” ระดับโลก พร้อมกับการบุกเข้าตลาด plant-based เนื้อทำจากพืช แตกไลน์ธุรกิจอาหารแนวใหม่
มาถึงปี 2565 “แดน ปฐมวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) ประกาศเพิ่มวิสัยทัศน์ของบริษัทต้องการเป็น Global Clean Food Tech Company ใช้เทคโนโลยีช่วยกระบวนการผลิตอาหารให้สะอาดต่อโลก แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน (Climate Change)
แดนอธิบายว่า การแก้ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะนอกจากปัญหาทางตรงต่อสภาพอากาศซึ่งส่งผลกับทุกคนบนโลกแล้ว ในเชิงเศรษฐกิจประเทศ หากไทยไม่เร่งแก้ปัญหาลดการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก อนาคตจะถูกกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้รับซื้อสินค้า เช่น สหภาพยุโรป (EU) อาจตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าที่ผลิตในไทยสูงถึง 40% เพราะถือเป็นประเทศก่อมลพิษ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงการพิจารณาลงทุนตั้งฐานผลิตในไทยของบริษัทประเทศอื่นด้วย
ที่ผ่านมาบริษัทมีความพยายามให้กระบวนการผลิตทั้งสายของบริษัทมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เช่น ติดตั้งโซลาร์รูฟ เพื่อใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด แต่การใช้พลังงานสะอาดยังไม่พอ เพราะเป็นเพียงกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน (Carbon Neutral) แต่ไม่สามารถลดคาร์บอนที่มีอยู่แล้วลงได้ (Carbon Negative)
เมื่อมองซัพพลายเชนการผลิตอาหารของไทย ต้นน้ำของอาหารมาจากการเกษตร และไทยมีปัญหาการ “เผาทางการเกษตร” อยู่ทุกปี ทำให้เกิดคาร์บอน ก่อมลพิษ ต้นเหตุของ PM2.5 โดยไทยมีการเผาทางการเกษตรเฉลี่ย 17 ล้านตันต่อปี (ทั้งนี้ แดนให้ข้อมูลด้วยว่า การเผาทางการเกษตรเกิดขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาด้วย)
ดังนั้น NRF ต้องการจะหยุดวงจรนี้ตามวิสัยทัศน์บริษัท โดยจะตั้ง “โรงงานดักจับคาร์บอน” ขึ้นมาในประเทศไทย
“โรงงานดักจับคาร์บอน” ผลผลิตนำไปใช้ทำอะไร?
แดนกล่าวต่อว่า โรงงานดักจับคาร์บอน จะนำของเหลือทางการเกษตรไปผ่านกระบวนการและออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ 3 อย่าง คือ 1.ไบโอคาร์บอน 2.น้ำมันชีวภาพ และ 3.ไฟฟ้าชีวมวล
“ไบโอคาร์บอน” มีประโยชน์ในการนำไปใช้เป็นวัตถุบำรุงดิน กลับคืนสู่ไร่นาของเกษตรกร เมื่อฝังลงในดินแล้วจะทำให้ดินอุ้มน้ำมากขึ้น 7-14% และลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวได้ 25% ส่วน “น้ำมันชีวภาพ” สามารถใช้ทดแทนยางมะตอยบนถนน และพัฒนาใช้ทดแทนน้ำมันเดินเรือได้
แดนยอมรับว่าปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางตรงจากการดักจับคาร์บอน ยังต้องอาศัยเวลาเพื่อทำการตลาดในไทย แต่สิ่งที่จะสามารถขายหรือนำไปใช้ได้เลย ได้แก่ “คาร์บอนเครดิต” ขายให้กับบริษัทที่ต้องการนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตของบริษัทตนเอง และ “ไฟฟ้าชีวมวล” ที่ NRF มีแผนจะนำไปเชื่อมกับ “เหมืองขุดบิตคอยน์” แทนการใช้ไฟฟ้าปกติซึ่งไม่ใช่พลังงานสะอาด
เริ่มทางภาคเหนือ ภายในปี 2566
แผนการตั้งโรงงานดักจับคาร์บอน จะเริ่มในสหรัฐฯ ก่อน โดยใช้วิธีเข้าร่วมทุนกับบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน แดนระบุว่า ขณะนี้คาดว่าจะดีลร่วมลงทุนในโรงงานขนาดเล็ก กำลังผลิตรับได้ 50 ตันต่อวัน
ส่วนในไทย คาดว่าจะเริ่มทางภาคเหนือที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันมาก และคาดว่าจะตั้งเป็นโรงงานลักษณะ Mobile Factory เพื่อให้เหมาะกับภูมิประเทศ การเคลื่อนย้ายโรงงานเข้าไปใกล้ไร่จะเหมาะกว่าการขนวัตถุดิบออกมา เบื้องต้นโรงงานเคลื่อนที่ได้นี้น่าจะมีขนาดราวตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต สามารถรับวัตถุดิบได้ 1 ตันต่อชั่วโมง และใช้เงินลงทุนราว 10 กว่าล้านบาทต่อตู้
“เรามีทีมลงพื้นที่คุยกับภาครัฐและเกษตรกรในพื้นที่ก่อนแล้ว ทราบว่าความกังวลของเกษตรกรคือมองว่าพวกเขาจะได้อะไร” แดนกล่าว
โมเดลธุรกิจตั้งต้นของ NRF น่าจะเป็นการจ้างเกษตรกรเพื่อนำซังข้าวโพดจากไร่ส่งโรงงาน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ ส่วนผลผลิตปลายทาง NRF จะหาทางบริหารจัดการต่ออีกครั้ง ในไทยมองว่าอาจจะยังไม่หวังกำไรในช่วงแรก ต้องการให้เป็นโมเดลเพื่อสังคมไปก่อน
plant-based ปีนี้เตรียมเปิดร้านค้าปลีกร่วม ปตท.
ด้านธุรกิจที่กำลังขยายตัวอย่าง plant-based ปีที่แล้ว NRF เริ่มเดินเครื่องโรงงานผลิตในอังกฤษแล้ว และมีการร่วมทุนกับ ปตท. ตั้ง บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ จำกัด (NRPT) ขึ้น ซึ่งบริษัทนี้จะก่อตั้งโรงงาน plant-based ในไทยที่ จ.อยุธยา คาดเดินเครื่องได้ไตรมาส 2 ปี 2566 เฟสแรกกำลังผลิต 3,000 ตันต่อปี
แต่ก่อนที่โรงงานผลิตจะเดินเครื่อง NRPT จะเริ่มรุกตลาดค้าปลีก ด้วยการตั้งศูนย์รวม plant-based และอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ชื่อ “Alt Eatery” ขึ้นในซอยสุขุมวิท 51 ลักษณะเป็นทั้งร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต สามารถจัดอีเวนต์หรือคลาสทำอาหารได้
“มองระยะยาวต้องการให้ Alt Eatery ขยายเป็นเชนร้านค้า แต่ก็ต้องดูผลตอบรับสาขาแรกก่อน” แดนกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทจะผลิต plant-based ภายใต้เฮาส์แบรนด์ “Alt” ส่งลงตลาดประเทศไทยด้วย จับกลุ่มทั้ง B2C และกลุ่ม B2B เข้าร้านอาหาร ฟู้ดเซอร์วิสต่างๆ
ขณะที่การตั้งโรงงาน plant-based อีกแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในแผนมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน แดนระบุว่ามีการเจรจาเข้าซื้อโรงงานแห่งหนึ่ง แต่ชะลอออกไปก่อนเนื่องจากไม่มั่นใจผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจต้องรอความชัดเจนของปัจจัยข้อนี้อีกสักพัก
ปัจจุบัน NRF ลงทุนในธุรกิจหลากหลาย ทั้งอาหาร-เครื่องปรุงรส (Ethnic Foods), plant-based, อาหารสัตว์เลี้ยง, กัญชง-กัญชา, บริษัทขายตรง, แบรนด์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในสหรัฐฯ หลายยี่ห้อ รวมถึงมี Corporate Venture Capital ลงทุนในสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหาร แต่ธุรกิจที่ยังเป็นหลักในพอร์ตขณะนี้คืออาหาร-เครื่องปรุงรส
รายได้ปี 2564 ของบริษัททำได้ที่ 2,100 ล้านบาท เติบโต 49% กำไรสุทธิ 221 ล้านบาท เติบโต 42% สำหรับปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 50-70%