ส่องกรณีศึกษา 3 ประเทศ แก้ฝุ่นจิ๋ว เปลี่ยนฝุ่นหนาเป็นอากาศดีได้จริง

ไทยเผชิญปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 มาหลายปี ไม่เฉพาะพื้นที่ กทม. และปริมณฑล แต่กินพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ

รายงานเมืองคุณภาพอากาศยอดแย่ของ IQAir พบว่า วันนี้ (25 ม.ค.68) กทม. อยู่ที่ 172 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ติดอันดับ 9 ของโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ช่วง 1-24 ม.ค. 68 ของ กทม. อยู่ที่ 123 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ดี แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้ว ก็ยังเคยเผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 “Positioning” พาถอดบทเรียนการแก้ฝุ่นในต่างประเทศที่เห็นผลจริง!

1.จีน

จีนเคยเจอปัญหาฝุ่น PM2.5 ทำให้ AQI เฉลี่ยสูงกว่า 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง ปี 2013 หลังจากดำเนินมาตรการแก้ไข ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ลดลงมากกว่า 50% ภายใน 7 ปี หรือประมาณปี 2020

มาตรการที่ใช้

  • ลดการใช้ถ่านหิน : รัฐบาลกำหนดให้ลดสัดส่วนการใช้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้า พร้อมทั้งปิดโรงงานถ่านหินที่เก่าและปล่อยมลพิษสูง
  • ส่งเสริมพลังงานสะอาด : ขยายการผลิตพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ รวมถึงเพิ่มการใช้ก๊าซธรรมชาติ
  • ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม : การกำหนดมาตรฐานใหม่เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงาน โดยมีการตรวจสอบเข้มงวด
  • ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า : มีนโยบายสนับสนุนการผลิตและใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมจำกัดจำนวนรถยนต์สันดาปในเขตเมืองใหญ่
  • โครงการ “Blue Sky Action Plan” : ตั้งเป้าลด PM2.5 ลงในเมืองใหญ่ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ AQI ปัจจุบัน ของจีนอยู่ในช่วง 50–150 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แล้วแต่พื้นที่

2.เกาหลีใต้

เกาหลีใต้ เผชิญค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกิน 150 ไมโครในปี 2016 โดยเฉพาะในกรุงโซล หลังใช้มาตรการต่าง ๆ ค่า PM2.5 ลดลง 35% ภายใน 5 ปี (2016–2021)

มาตรการที่ใช้

  • ควบคุมยานพาหนะ : จำกัดการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษสูงในเมืองใหญ่ เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับรถยนต์ที่ไม่มีมาตรฐานมลพิษ รวมไปถึงในปัจจุบันได้เปลี่ยนรถขนส่งอาหารเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนรถเครื่องยนต์ดีเซลก็เร่งเปลี่ยนเป็นรถที่ปล่อยมลพิษต่ำแทน
  • ลดมลพิษจากโรงงาน : ใช้มาตรการควบคุมมลพิษเข้มงวดในภาคอุตสาหกรรม เช่น การลดการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษสูงในโรงไฟฟ้า
  • ส่งเสริมพลังงานสะอาด : การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศ
  • ความร่วมมือระดับภูมิภาค : ทำงานร่วมกับจีนและญี่ปุ่นเพื่อลดมลพิษข้ามพรมแดน โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยีด้านการจัดการฝุ่น

โดยปัจจุบันเกาหลีใต้มีดัชนี AQI เฉลี่ยในโซลอยู่ที่ 40–80 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

3.สหรัฐอเมริกา

สหรัฐฯ เป็นอีกประเทศที่เคยมีปัญหา PM2.5 พีก ๆ ระยะหนึ่งในช่วงปี 1990 เมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส ดัชนี AQI สูงกว่า 200 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นประจำ หลังจากดำเนินมาตรการลดมลพิษ ค่า PM2.5 ลดลงกว่า 40% ภายใน 10 ปี หรือประมาณปี 2000 (แต่ปัจจุบันค่าฝุ่นลอสแอนเจลิสพุ่งขึ้นสูงจากเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่เผาเมืองวอด)

มาตรการสำคัญที่ใช้

  • กฎหมาย Clean Air Act : กฎหมายนี้เป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมมลพิษ โดยกำหนดมาตรฐานระดับชาติสำหรับอุตสาหกรรมและยานพาหนะ รวมถึงบทลงโทษที่ชัดเจนหากฝ่าฝืน
  • การควบคุมยานพาหนะ : มีการบังคับใช้ระบบกรองไอเสีย (catalytic converter) และพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมลพิษต่ำ
  • ปรับปรุงโรงงานและโรงไฟฟ้า : ติดตั้งระบบกรองและเทคโนโลยีดักจับฝุ่นในโรงไฟฟ้าถ่านหิน และสนับสนุนให้เปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติหรือพลังงานหมุนเวียน
  • ส่งเสริมการวิจัย : การสนับสนุนเทคโนโลยีที่ช่วยลดมลพิษ เช่น การพัฒนายานพาหนะพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาด

ทั้งนี้ AQI ปัจจุบันของสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยในเมืองใหญ่ อยู่ในช่วง 20–50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงมาตรการตัวอย่างการแก้ปัญหาฝุ่นของหลายประเทศ ที่เคยเผชิญปัญหาเฉกเช่นไทย ต้องจับตากันต่อไปว่า ไทยจะมีนโยบายอะไรแก้ PM 2.5 นอกเหนือไปจากการหยุดโรงเรียน และให้ประชาชนขึ้นรถสาธารณะฟรี 7 วัน เพราะแท้จริงแล้วปัญหาฝุ่น ไม่ได้เกิดเฉพาะกรุงเทพฯ แต่ขยายขอบเขตไปหลายภูมิภาคในไทย!