“เบอร์ลิน” กำลังรณรงค์ออกกฎหมายเปลี่ยนพื้นที่ใจกลางเมืองขนาด 88 ตร.กม. ให้เป็น Car-free Zone พื้นที่ห้ามนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อแก้ปัญหามลพิษ โลกร้อน อุบัติเหตุ มีพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ประชาชนใช้รถสาธารณะ จักรยาน หรือเดินเท้าแทน
แคมเปญนี้เริ่มรณรงค์กันมาตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2021 โดยกลุ่มนักกิจกรรมใช้ชื่อแคมเปญว่า “Car-free Berlin” รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายแก้ไขให้พื้นที่ใจกลางเมือง “เบอร์ลิน” เป็นพื้นที่ Car-free Zone ห้ามนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าพื้นที่ และพวกเขาทำสำเร็จในขั้นต้นไปแล้ว เพราะรวบรวมรายชื่อได้ 50,000 รายชื่อเมื่อเดือนตุลาคม 2021 ขั้นต่อไปจะมีการลงประชามติในปี 2023
ความฝันของกลุ่มนักกิจกรรม มีจุดประสงค์เพื่อลดมลพิษและภาวะโลกร้อน โดยจะเปลี่ยนพื้นที่ใจกลางเมืองเบอร์ลินขนาด 88 ตร.กม. ให้เป็น Car-free Zone
พื้นที่นี้นับเฉพาะวงด้านในของรถไฟสาย S-Bahn Ring ซึ่งวิ่งรอบเมืองเป็นวงกลม ขนาดพื้นที่นี้ใหญ่มาก หากทำสำเร็จจะกลายเป็น Car-free Zone ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ชั้นใน ตั้งแต่พระนครไล่เรื่อยไปถึงสาทร ปทุมวัน จนถึงสุขุมวิทโซนทองหล่อเลยทีเดียว
แน่นอนว่าการจำกัดรถยนต์เข้าออกจะมีข้อยกเว้นให้กับรถ 6 กลุ่ม ได้แก่ รถเมล์, รถแท็กซี่, รถขนส่ง, รถตำรวจ, รถดับเพลิง และรถที่ผู้ใช้งานมีความจำเป็นด้านร่างกาย ทั้งนี้ จะมีข้อยกเว้นให้นำรถยนต์ส่วนตัวเข้าเขตได้ 12 ครั้งต่อปี เพราะบางครั้งประชาชนก็อาจมีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องใช้รถเข้าพื้นที่ เช่น การย้ายบ้าน
นอกเหนือจากนั้นจะไม่สามารถเข้าได้ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้รถสาธารณะ เดินเท้า ขี่จักรยาน ทำให้พื้นที่ผิวถนนจะถูกนำมาใช้ประโยชน์อื่นเพิ่ม เช่น พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว แก้ปัญหามลพิษ ภาวะโลกร้อน และลดอุบัติเหตุ
ในขณะที่ประเทศอื่นหรือเมืองอื่นอาจมองข้ามช็อตไปที่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่เบอร์ลินยังคงเรียกร้องที่จะเป็น Car-free Zone โดยสิ้นเชิง ต่อประเด็นนี้ Nik Kaestner หนึ่งในนักกิจกรรมที่ผลักดันแคมเปญ กล่าวกับสำนักข่าว The Guardian ว่า เป็นเพราะถ้าหากเบอร์ลินจะลดการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางได้ตามเป้าหมาย คนในเบอร์ลินต้องเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 50%
แต่ปัจจุบันเบอร์ลินมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแค่ 1.3% เท่านั้น ดังนั้นการรอรถยนต์ไฟฟ้าคงจะไม่ทันการ และการห้ามรถยนต์เข้าไปเลยก็มีประโยชน์อื่นดังที่กล่าวไปข้างต้นด้วย
แคมเปญนี้เป็นไปได้แค่ไหน? ในเมืองหลักของเยอรมนีนั้นมีค่าเฉลี่ยครอบครองรถยนต์ส่วนตัวประมาณ 1 คันต่อประชากร 2 คน กล่าวคือในประชากร 1,000 คน มีรถยนต์อยู่ประมาณ 450 คัน แต่ผู้เชี่ยวชาญพบว่าส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ใช้งานตลอดเวลา มักจะจอดทิ้งไว้ในที่จอดรถ มีรถยนต์เพียง 150 คันที่ถูกนำมาใช้เป็นประจำ เมื่อประชากรใช้รถน้อยอยู่แล้ว ก็เป็นไปได้ที่คนจะเห็นด้วยกับการมี Car-free Zone
เบอร์ลินไม่ใช่เมืองแรกของยุโรปหรือของโลกที่จะมี Car-free Zone หลายเมืองในยุโรปเริ่มทำไปก่อนแล้ว (แม้จะไม่ใหญ่ขนาดนี้) เช่น สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ใจกลางเมืองจะปิดไม่ให้รถเข้าในช่วงหน้าร้อนระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน และเมืองอื่นๆ ก็กำลังออกแบบและเสนอกฎหมายห้ามรถเข้ากลางเมืองเช่นกัน เช่น เวียนนา ประเทศออสเตรีย, ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
Source: Timeout, Ampler Bikes