Fixed Gear จักรยานที่ถูกเรียกขานให้เป็นจักรยานสำหรับคนเมือง หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะรถประเภทนี้ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเห็นได้ตามเขตเมือง และย่านเศรษฐกิจ สำนักงาน ออกมาโฉบเฉี่ยวให้เห็นกันหนาตาขึ้น
ด้วยรูปลักษณ์ที่ทันสมัย ความโดดเด่นของอุปกรณ์ ความเท่ของผู้ขับขี่ ทำให้จักรยาน Fixed Gear แพร่หลายอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น การขยายตัว และรวมกลุ่มของผู้ใช้มีมากขึ้น การใช้งานเฉพาะกลุ่มก็เริ่มขยายสู่ Mass มากขึ้น
ในแวดวงจักรยาน Fixed Gear ร้าน Sixty Fixy ของสมชาย กลันทมาศ หรือ “ตี๊” ถูกเรียกขาน และได้การยอมรับจากกลุ่มผู้ใช้ในระดับแถวหน้า ว่าคือส่วนหนึ่งของกลไกที่ทำให้จักรยาน Fixed Gear เป็นที่นิยม และกลายเป็นเทรนด์ในช่วงนี้
สร้าง Fixed Gear ด้วย Mix idea
การสร้างโอกาสให้ Fixed Gear เกิดในตลาดจักรยาน ตี๊อาจไม่ได้มีความรู้มากมายในเรื่องการตลาด หรือบริหารธุรกิจ แต่สิ่งที่เขาทำให้กับตลาดรถ Fixed Gear เป็นกลยุทธ์และเป็นขั้นตอนที่น่าสนใจ
“ช่วงแรก ก็อาศัยโฆษณาขายรถในเว็บไซต์ bkkfixed ของบอล และในเว็บก็มีการตอบกระทู้ปัญหาต่างๆ ผมเข้าไปตอบกระทู้ ให้คำแนะนำทุกกระทู้ จนเป็นที่รู้กันในเว็บว่า มีปัญหามาถามที่นี่ เจ้าของร้านตอบได้ทุกคำถาม และแก้ปัญหาได้”
สิ่งที่ตี๊ทำคือการสร้างกลุ่มผู้ใช้จากวงเล็กๆ โดยไม่เกี่ยงว่าจะซื้อรถจากใคร จนทำให้เกิดการบอกปากต่อปาก และขยายวงขึ้น
เมื่อขั้นตอนแรกเริ่มเป็นที่รู้จัก และยอมรับในกลุ่มผู้ใช้แล้ว ตี๊ก็ลงมือขาย Fixed Gear อย่างจริงจัง ด้วยการเปิดขายอย่างเป็นทางการในชื่อร้าน Sixty Fixy มีสัญลักษณ์เป็นหมายเลข 60 อยู่ในวงกลม ซึ่งเดิมการขาย Fixed Gear เป็นส่วนหนึ่งของร้านจักรยานพับที่ทำมาก่อน
ช่วงแรกคือการให้บริการประกอบรถ Fixed Gear ขึ้นมาทั้งคัน โดยเจ้าของรถเป็นคนจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ มา เพราะช่วงแรกมีอุปกรณ์ และอะไหล่น้อยมาก ร้านจำหน่ายก็ไม่ประกอบรถ จึงทำเรื่องบริการประกอบ ซ่อม ก่อน จนสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจทำร้านแบบ One stop shopping คือถือเงินมาซื้อรถกลับไปเลย ได้รถใหม่ประกอบเสร็จทั้งคันไม่ต้องตะเวนหาอุปกรณ์ชิ้นส่วนมาประกอบ
Brand แรกที่ขายก็คือ Create เป็นการทดลองว่าจะไปได้หรือไม่ โดยช่วงนั้นราคารถใหม่ทั้งคันอยู่ที่ 13,500 บาท ในขณะที่รถประกอบราคา 20,000 บาทขึ้นไป
“ลอตแรกสั่งรถไป 6 สี 6 คัน ตามที่โรงงานผลิตออกมา ปรากฏว่าเดือนแรกขายไม่ได้เลย จนถอดใจจะเลิกขายแล้ว แต่ปรากฏว่ามีเด็กมาซื้อ แต่มีเงื่อนไขว่า ของสลับล้อจากรถสีอื่นมาใส่รถที่ซื้อ ตอนนั้นจะเลิกขายอยู่แล้ว ก็บอกได้ แล้วก็สลับสีให้เลย และจากนั้นรถคันที่ถูกสลับล้อสีก็ขายออกเป็นคันที่ 2”
ตี๊ มองเห็นช่องวางและการผลักดันให้ตลาด Fixed Gear เติบโตได้ด้วยกลยุทธ์สลับสีของอุปกรณ์ต่างๆ ให้เกิดเป็นรุ่นใหม่ขึ้นมา และเป็นจักรยานที่ไม่เหมือนใคร Fixed Gear ที่ซื้อจากร้านของตี๊ จึงกลายเป็นตัวแทน และสัญลักษณ์ของ Fixed Gear ไปในตัว เพราะความที่ไม่เหมือนใคร
จักรยานตัวถังสีดำ ล้อหน้าสีแดง ล้อหลังสีขาว โซ่สีแดง เบาะสีขาว จึงเกิดขึ้นและเป็นเทรนของรถ Fixed Gear ไปในตัว ทำให้ผู้ซื้อรถ Fixed Gear ไม่เคยมีรถสีเดียวทั้งตัวถังและล้อ จะต้องเป็นแนวทางที่ตี๊ทำไว้
ด้วยการที่ Fixed Gear สามารถแต่งและปรับเปลี่ยนได้ FreeStyle แบบนี้ถูกกับความต้องการของผู้ใช้กลุ่มคนทำงาน กระแส Fixed Gear จึงแรงแบบที่ตี้ก็คาดไม่ถึงเช่นกัน
“ผมถ่ายรูปรถจักยานร้านผมที่สลับสี จอดโชว์ไว้หน้าร้าน ส่งไปให้ทางบริษัท Createbike ในต่างประเทศดู ล่าสุดเว็บไซต์ของ Createbike ในอังกฤษนำภาพของผมไปขึ้นไว้บนเว็บไซต์เป็น Banner ของบริษัทไปเลย”
เมื่อแนวทางการสลับอุปกรณ์ให้ได้สีสันตามที่ลูกค้าต้องการ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มประสบความสำเร็จ ตี้กลายเป็นร้านที่ขายจักรยาน Create มากที่สุด แซงหน้าตัวแทนจำหน่ายที่อยู่เชียงใหม่เสียอีก
จากที่เคยสั่งครั้งละ 6 คัน ก็เปลี่ยนเป็นสั่งครั้งละ 100 คัน บางครั้งก็ 150 คัน จนบางครั้งลูกค้าเข้าใจว่าเขาคือตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการก็มี
เขายังตอกย้ำ Brand ของ Create ให้แข็งแรงขึ้นด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือในตัวสินค้าด้วยการใช้คลิปวิดีโอ การขับขี่รถ Fixed Gear ของ Create ในสไตล์เดียวกับต่างประเทศ มีการโชว์การขับขี่ ด้วยนักขี่จักรยานคนไทย ซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่น
“ผมให้เด็กที่มีทักษะในการขี่จักรยาน และโปรโมตเขาให้เป็นโปรทางด้านการขี่ Fixed Gear ทำคลิปวิดีโอ ที่ถ่ายทำเองแบบง่ายๆ โพสต์ไปใน Facebook ของทางร้าน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากมาย จนทำให้ Brand ของ Create แข็งแรงขึ้น และจักรยานรุ่นที่ตัวแทนจำหน่ายต้องการขาย แต่ยอดขายไม่วิ่ง ก็สามารถขายได้จนหมด”
เขารู้จักใช้อิทธิพลของคลิปวิดีโอ Social Network ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
เทรนด์ Fixed Gear ลุกลามสู่ Mass
“กลุ่มคนที่เล่น Fixed Gear ช่วงแรกคือคนที่ทำงานแล้ว เป็นพนักงานบริษัทเอกชน หรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัว แต่ตอนนี้ตลาดเริ่มขยายตัวขึ้น เริ่มเข้ไปสู่ตลาดนักศึกษา และล่าสุดลงมาถึงระดับมัธยมแล้ว” ตี๊ อธิบายถึงแนวโน้มการเติบโตของรถ Fixed Gear
การที่มีนักศึกษา และนักเรียนเข้ามาสนใจ น่าจะเป็นการได้เห็น และการใช้งานของกลุ่มผู้ใช้เดิม รวมถึงความแปลกที่ไม่เหมือนกับจักรยานอื่นๆ ความมีสีสัน ไม่ซ้ำซาก และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ
เมื่อตลาดเริ่มลงมาที่ตลาด Mass มากขึ้น จำนวนผู้ขายรถ Fixed Gear ก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ก็คงเช่นเดียวกับตลาดรถจักรยานพับที่แคยประสบมา การมีผู้จำหน่ายมากขึ้นสิ่งที่ตามมาก็คือ ราคาก็เริ่มมีการปรับลดลง เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ซึ่งมีกำลังซื้อน้อยกว่าผู้ใช้กลุ่มแรก เพราะกำลังศึกษาอยู่ จึงมีสินค้าราคาถูกออกมาจำหน่าย
ตี๊ก็มองเห็นแนวโน้มการเติบโตของตลาด Mass ซึ่งเจาก็รับมือกระแสที่บูมด้วยการมีสินค้าราคาต่ำออกมาเปรียบเหมือน Fighting Brand มาสนองความต้องการของลูกค้าเช่นกัน
Infinity คือ Brand จากประเทศไต้หวันที่ส่งรถประกอบเสร็จทั้งคันมาจำหน่าย ตี๊ติดต่อรับมาขายเป็นอีก Brand หนึ่งของร้าน ตั้งราคาขายที่ไม่เกิน 9,000 บาท เพื่อให้เป็นจักรยานขวัญใจนักเรียน และผู้ที่ต้องการเริ่มต้นกับจักรยาน Fixed Gear
ลูกค้าที่เพิ่งเริ่มต้น ให้ความสนใจกับ Brand นี้ไม่น้อยทีเดียว เพราะปัจจัยเรื่องราคา และการการันตีจากตี๊ ทำให้ Infinity มียอดขายที่น่าพอใจ
ด้วยความที่ลูกค้าเริ่มเด็กลง ตี้มองเห็นปัญหาในเรื่องการขับขี่ และความปลอดภัยของผู้ใช้ เพราะ Fixed Gear สายพันธุ์แท้ เป็นจักรยานที่ไม่มีเบรก ต้องอาศัยความชำนาญ และทักษะในการขี่
“ผมมองความปลอดภัยของผู้ใช้ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีพื้นฐาน ผมเลยเพิ่มเบรกหน้าและหลังเขาไปในรถ Fixed Gear โดยบอกกับผู้ใช้มือใหม่ว่า ให้เน้นเรื่องปลอดภัยก่อน เมื่อขี่แข็ง เข้าใจการใช้งานแล้ว ค่อยมาเอาเบรกออก”
การติดเบรกให้กับ Fixed Gear แบบนี้ หลายๆ คนถึงกับบอกว่า จะเรียก Fixed Gear ได้อย่างไร ของแท้ต้องไม่มีเบรก
ความจำเป็นอีกด้านหนึ่งก็คือ เมื่อมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักเรียน ผู้ปกครองก็ต้องการให้ลูกปลอดภัย ตี้จึงต้องแก้ไขให้สินค้าตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ให้ได้ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้คือฐานใหญ่ และสามารถเติบโตไปกับ Fixed Gear ได้
ออก Brand ตัวเอง รักษากระแส Fixed Gear
เมื่อ Fixed Gear ได้รับควมนิยม และเริ่มขยายสู่ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น การเข้ามาของผู้จำหน่ายรายอื่นๆ จึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องปรกติของการทำธุรกิจ
“ผมพยายามประเมิน และติดตามตลาดตลอดเวลา ว่าตลาด Fixed Gear จะเป็นเหมือนกับตลาดรถจักรยานพับหรือเปล่า เพื่อที่จะได้เตรียมรับมือได้ทัน” บทเรียนในอดีตที่เขาประสบมา เป็นเครื่องเตือนใจได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่เขาพบในช่วงนี้ก็คือ เริ่มมีผู้จำหน่ายเข้ามามากขึ้นตามที่คาดไว้ แต่มีปัญหาเพิ่มเข้ามาคือ คุณภาพของรถที่ประกอบขึ้นของผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน ใช้เรื่องราคามาเป็นจุดขาย โดยมีการตั้งราคาต่ำกว่ารถประกอบเสร็จจากต่างประเทศ 1,000 – 2,000 บาท สร้างความสับสนให้กับลูกค้าใหม่ๆ พอสมควร
ตี้ ต้องการรักษากระแสความนิยมของรถ Fixed Gear ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงพยายามสร้างมาตรฐานของ Brand ไทยในรถ Fixed Gear ขึ้นมา เริ่มต้นจากที่ร้านของเขาก่อน
“โครงรถที่ผมลองตลาดทำเป็น Brand ของทางร้านคือ Sixzero โดยสั่งผลิตจากโรงงานในไต้หวัน และมาติดตราของที่ร้าน ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ลูกค้าเลือกสั่งประกอบตามกำลังเงิน และความชอบ”
Sixzero จึงเป็นรถ Fixed Gear ลูกครึ่งของคนไทยก็ว่าได้ และเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยการโปรโมตของตี้ จากการส่งเข้าแข่งขันรถ Fixed Gear ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศมาหลายรายการ
แม้ว่าระยะนี้ความร้อนแรงของ Fixed Gear ยังคงมีต่อเนื่อง แต่ตี๊เองก็ยังติดตามการเข้ามาของผู้ขายรายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาว่ามีเพิ่มขึ้นระดับไหน และการแข่งขันเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ประเมินสถานการณ์ได้ว่า เขาจะทำอย่างไรต่อไปในธุรกิจนี้ แต่เวลานี้เขายืนยันว่า รถ Fixed Gear ยังไปได้ดี และยังขยายตัวได้อีก
การขยายตัวของจักรยาน Fixed Gear | |
พ.ศ. 2552 |
• Fixed Gear เริ่มเข้ามาในไทย นำเข้ามาประกอบเอง กลุ่มที่ใช้คือ มีเจ มณฑล จิรา และ สมโภช จินดาอุฬาร เป็นผู้เริ่มต้น • ตั้งกลุ่ม Bkkfixed ราคารถ Fixed Gear อยู่ที่ 15,000 บาท • ประชากร Fixed Gear ประมาณ 50 คัน |
พ.ศ. 2553 |
• เริ่มมีผู้นำเข้ารถ Fixed Gear จากต่างประเทศ เช่นแบรนด์ Fuji, Biangchi, Masi, Create • ราคารถเริ่มต้นที่ 15,000 – 200,000 บาท • จัดการแข่งขัน Fixed Gear เป็นครั้งแรก ผู้เข้าแข่ง 30 คัน • กลุ่มคนทำงาน ดารา นักร้อง เริ่มสนใจ Fixed Gear |
พ.ศ. 2554 |
• Fixed Gear เป็นพาหนะของนางเอกในภาพยนตร์ไทย จักกะแหล่น • Fixed Gear ถูกนำมาเป็นรางวัลแจก ของสินค้าหลายตัว • กลุ่มลูกค้า เริ่มขยายสู่กลุ่มนักศึกษา นักเรียน • จัดการแข่งขัน Fixed Gear เป็นครั้งที่สอง ผู้เข้าแข่ง 200 คัน • จัดทริปออกต่างจังหวัด ของชมรมต่างๆ • ประชากร Fixed Gear ทั่วประเทศ 4,000 คัน |
ประเภทของ Fixed Gear | |
ประเภท | คุณสมบัติ |
แข่ง | แต่งแนว Retro ใช้เฟรมจักรยานประเภทรถลู่มาตกแต่งใหม่ รูปทรงเพรียวบาง แฮนด์บาร์เหมือนเสือหมอบทั่วไป ขนาดขอบล้อ 700C และยาง 28 |
Trick | เฟรมมีขนาดยาวกว่า ตะเกียบหน้ามีขนาดยาวและกว้างขึ้น ล้อที่ใช้มี 3 ขนาดคือ 700C, 650C และดัดแปลงล้อ BMX MTB มาใช้ |
Trend จักยาน Fixed Gear | |
ประเภท | คุณสมบัติ |
OUT | แฮนด์สั้น ยางสี และตัวรถที่มีสีสันฉูดฉาด |
IN | แฮนด์กว้าง ยางใหญ่ Frame ดำด้าน และ Frame เปลือย ยางสี |
มูลค่าตลาดจักรยานปี 2552 | |
จำนวน | 2.2 ล้านคัน |
มูลค่า | 2,000 ล้านบาท |