เจ้าหนูสิงห์นักปั่น ขี่อย่างครีเอทีฟ

“เจ้าหนูสิงห์นักปั่น” เป็นแก๊งจักรยานกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่รู้จักของเหล่านักปั้นด้วยกัน เพราะกิจกรรมสารพัดที่กลุ่มนี้เป็นโต้โผจัดงานอยู่เรื่อยๆ ตามเวลาจะอำนวย หลังว่างเว้นจากงานประจำที่ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานในเอเยนซี่บริษัทโฆษณา ส่งผลให้งานโฆษณาหลายชิ้นมีจักรยานเข้าไปเป็นองค์ประกอบ จนอาจเรียกได้ว่าพวกเขาคือผู้ที่นำเอาความนิยมจักรยานออกมาจากโลกของคนขี่เฉพาะกลุ่มมาสู่สังคมในวงกว้าง

เจ้าหนูฯ เกิดตั้งแต่ยังไม่มีให้ปั่น
กลุ่มเจ้าหนูสิงห์นักปั่นถือกำเนิดประมาณกลางปี 2009 ระหว่างการสังสรรค์ของเหล่าครีเอทีฟ ในวงสนทนาได้เปิดคลิปวิดีโอจากยูทูบดูเรื่องราวต่างๆ กันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสะดุดอยู่ที่คลิปจักรยาน Fixed Gear ซึ่งตรงกับความต้องการในกลุ่มที่อยากหากิจกรรมมีประโยชน์ทำร่วมกันอยู่แล้ว จึงมาลงเอยกันที่ “จักรยาน”

ด้วยดีไซน์ เสน่ห์ และความท้าทายของฟิกซ์ เกียร์ แล้วตั้งชื่อกลุ่มว่า “เจ้าหนูสิงห์นักปั่น” เลียนแบบการ์ตูนเรื่อง ซึบาสะ เจ้าหนูสิงห์เตะ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่มีใครในกลุ่มมีจักรยานอย่างจริงจังสักคัน แต่จากจุดกำเนิดในตอนนั้น เจ้าหนูสิงห์นักปั่น ได้กลายเป็นกลุ่มคนขี่จักรยานที่มีผู้รู้จักมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ด้วยจำนวนสมาชิกประจำราว 10-30 คน และขยับไปถึง 300 คนในการจัดกิจกรรมแต่ล่ะครั้ง จากเดิมที่มองแค่จักรยาน Fixed Gear ก็กลายเป็นจักรยานหลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่ก็ขี่ Fixed Gear กันเป็นหลัก จนกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่เชื่อมโยงไปสู่นักขี่กลุ่มอื่น จนตอนนี้ภายในแฟนเพจ JNSNP (ถอดเสียงเจ้า-หนู-สิงห์-นัก-ปั่น มาแบบตรงเป๊ะ) ของกลุ่มมีสมาชิกเกือบ 3,000 คน ซึ่งเครือข่ายทางอินเทอร์เน็ตนี่เองที่เป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญ

“เริ่มแรกเรามีเว็บไซต์เอาไว้แชร์เรื่องของพวกเราเอง แล้วก็มีเฟซบุ๊กเอาไว้สร้างอินเตอร์แอคทีฟกับคน แล้วเราพยายามไม่ขาดหายไป ต้องมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด แล้วก็กลายเป็นว่าเวลามีความเคลื่อนไหวในวงการอะไร เช่น เปิดร้าน มีอีเวนต์ก็มาประชาสัมพันธ์ผ่านเรา” แต๊ก-ชายแดน เทียมไสย์ Copywriter, Creative Juice Bangkok ตัวแทนของเจ้าหนูสิงห์นักปั่น เล่า

องค์ประกอบลำดับต่อมาก็คือ ชิ้นงานที่ใช้ประชาสัมพันธ์ ด้วยฝีไม้ลายมือเชิงศิลปะที่สมาชิกในกลุ่มประกอบไปด้วยดีไซเนอร์, อาร์ตไดเรคเตอร์ ทำให้โลโก้ โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานโดดเด่น และถูกเอามาต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นอื่นๆ สำหรับเวลาขี่จักรยาน เช่น เสื้อยืด ผ้าพันคอ จนกลายเป็นเอกลักษณ์และแบรนด์ของกลุ่ม จนมีคนเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นบทพิสูจน์ว่ากลุ่มคนที่เล่นจักรยาน ไม่ใช่ขับเคลื่อนแค่ตัวเรื่องจักรยาเท่านั้น แต่วัฒนธรรมการขี่จักรยานได้หมุนไปสู่การสร้างงานศิลปะ

“มีคนที่ชอบงานของเรามากเลยเอาโลโก้ของเราไปช่วยเผยแพร่ ไปติดกางเกงยีนส์ของเขา ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องดี เพราะบางครั้งเรามีเพื่อนที่มีชื่อเสียงมาใส่เสื้อให้ เพื่อโปรโมตงานโดยที่เขาไม่ได้รับเงิน ส่วนพวกเราเองที่ทำเสื้อกันออกมาเน้นแจกมากกว่าขาย เอาไว้เวลาจัดงานของพวกเราเองขึ้นมา หรือว่าใส่ไปงานของคนอื่นเขาก็สกรีนชื่องานนั้นขึ้นมาด้านหลัง ข้างหน้าก็เป็นโลโก้ของกลุ่ม”

อาร์ต อีเวนต์เพื่อนักขี่
อีเวนต์ที่ผ่านมาของกลุ่มเจ้าหนูสิงห์นักปั่น เน้นไปทางานศิลปะ งานแรก Ride a Life ซึ่งจัดขึ้นที่เชียงใหม่ ตอนปลายปี 2009 เชิญชวนให้ศิลปินอิสระส่งงานศิลปะไม่จำกัดแขนงขอแค่ได้แรงบันดาลใจมาจากจักรยานมาร่วมแสดง

งานต่อมา คือ I’m Here รณรงค์ให้คนที่ขับขี่พาหานะชนิดอื่นร่วมถนน หันมองคนปั่นจักรยานบ้าง ขณะเดียวกันก็บอกให้คนปั่นจักรยานรู้จักเพิ่มความปลอดภัยให้ตัวเอง เช่น ติดตั้งไฟให้เห็นชัดเจน ขี่กันเป็นกลุ่ม งานนี้ถือเป็นบิ๊กอีเวนต์ของกลุ่มนักปั่น มีการประสานงานกับกรุงเทพมหานคร และ สน.ลุมพินี เพื่ออำนวยการจราจร จุดสตาร์ทอยู่ที่ลานคนเมือง ของกรุงเทพฯ เส้นทางผ่านสยาม และเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งงานนี้มีผู้ร่วมถึง 400 คน และเมื่องานนี้ประสบความสำเร็จทางกลุ่มจึงคิดจะต่อยอดไปจัดงานลักษณะเดียวกันอีกครั้ง ย่อส่วนไปทำให้เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ อีกเมืองที่มีผู้ขับขี่รองจากกรุงเทพฯ

จากการจัดกิจกรรมในแต่ล่ะครั้งที่ต้องใช้งบประมาณมาเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้แบรนด์สินค้าเข้ามามีพื้นที่ในกิจกรรมของเหล่าคนปั่นจักรยาน ที่ผ่านมาเบียร์ “ไทเกอร์” ได้แปลงตัวเป็นเสือปืนไวที่จับเอาความนิยมของจักรยานมาผสานเป็นหนึ่งในแคมเปญไทเกอร์ ทรานสเลท ซึ่งที่มาของแคมเปญนี้ก็เริ่มจากการที่แบรนด์ไทเกอร์สร้างโพสิชั่นของตัวเองผูกโยงกับงานศิลปะมาโดยตลอด กิจกรรมที่ไทเกอร์ ทรานสเลทจัดขึ้นในปี 2010 นอกจากคอนเสิร์ตที่เกิดขึ้นเป็นประจำแล้ว ก็ยังมีงานเพนต์ศิลปะแบบจัดวาง (Installation art) เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่ง และเอาใจคนปั่นจักรยานด้วยการประกาศว่า “ขี่มาเข้าฟรี” ซึ่งไทเกอร์ ก็สนับสนุนอีเวนต์ I’m Here อีกครั้งหนึ่งหลังจากเจาะใจนักปั่นไปแล้วด้วยงานคอนเสิร์ต

ดีลความร่วมมือของเบียร์ไทเกอร์กับกลุ่มเจ้าหนูสิงห์นักปั่น อันเนื่องมาจากไทเกอร์เองเป็นลูกค้าของเอเยนซี่เจดับบลิวที ซึ่งเป็นสมาชิกใน JNSNP นอกจากนี้ยังมีการติดต่อกันในงานด้านอื่นๆ ที่ไทเกอร์ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว สุดท้ายเป็นกิจกรรมที่สอดรับกับภาพลักษณ์ที่แบรนด์ตอกย้ำมาตลอด

เทรนด์อยู่ทีไหนงานโฆษณาอยู่ด้วย
ไม่ใช่แค่งานอีเวนต์ จักรยานยังปรากฏอยู่ในภาพยนตร์โฆษณาหรือสื่ออื่นๆ มากขึ้น เช่น TVC ของทรอส ที่มีเป้-อารักษ์ เป็นพรีเซ็นเตอร์หลัก มีภาพของจักรยาน Fixed Gear ปรากฏอยู่ในกลุ่มสินค้าสำหรับเส้นผม และกลุ่มบอดี้ ไม่ต่ำกว่า 3 เรื่อง ซึ่งครีเอทีฟโฆษณาจากนู้ด คอมมิวนิเคชั่นที่ดูแลงานโฆษณาชิ้นนี้ก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเจ้าหนูสิงห์นักปั่นด้วยเช่นเดียวกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ ตัวพรีเซ็นเตอร์เองก็ใช้จักรยานอยู่แล้ว

“เวลาทำงานโฆษณาก็ต้องใช้ความจริงของตัวพรีเซ็นเตอร์มาเป็นพื้นฐาน เป้เองเขาก็ใช้จักรยานอยู่แล้ว มาร์เก็ตติ้งต้องทำทุกอย่างตามเทรนด์ในตอนนั้น เพื่อแสดงภาพลักษณ์ว่าทันกระแส ไม่ตกเทรนด์ ดังนั้นกระแสอยู่ตรงไหน งานโฆษณาก็ต้องตามให้ทัน”

นอกจากนี้ยังมีมิวสิกวิดีโอเพลง Brighter Day วง Klear ที่ featuring กับกอล์ฟ พิชญะ เป็นอีกหนึ่งงานที่ใช้จักรยาน เป็นองค์ประกอบภาพ เพื่อให้ความรู้สึกอิสระมากขึ้นตรงกับความหมายของเพลง ปิดท้ายด้วยแบรนด์เสื้อผ้า MOB-F ที่มีจักรยานเป็นดิสเพลย์ และในวันที่จัดอีเวนต์เปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ก็มีการเชิญตัวแทนของเจ้าหนูสิงห์นักปั่น ไปร่วมเดินแบบ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์เสื้อผ้าวัยรุ่น

ในฐานะที่เจ้าหนูสิงห์นักปั่น คือ ครีเอทีฟโฆษณา เราขอให้เขาคิดงานโฆษณาและวางแผนกลยุทธ์การตลาดชิ้นหนึ่ง ให้กับจักรยานแบรนด์สมมุติ นาม “JNSNP” ซึ่งคาแร็กเตอร์แบรนด์ กับทาร์เก็ตที่เขาใช้เวลาเพียงเสี้ยวนาทีสกัดไอเดียออกมาก็คือ

“คงต้องมองก่อนว่าตัวตนของแบรนด์คืออะไร ดึงดูดใจกลุ่มไหน สำหรับคาแร็กเตอร์แบรนด์ก็คงมาจากพวกเรานี่แหละ คงต้องเป็นแบรนด์ที่มีความสนุก ไม่ซีเรียส แต่ต้องมีคุณสมบัติด้านคุณภาพ กลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นผู้หญิง เพราะกลุ่มคนที่ขี่อยู่ปัจจุบันรู้จักเราพอสมควรอยู่แล้ว”