1000ways นักปั่น “พัน” ทาง

กลุ่ม 1000ways (Thousand Ways) หรือพันทาง เป็นการรวมตัวกันปั่นจักรยานของคนที่ทำงานโปรดักชั่นเฮาส์ที่เริ่มต้นโดยบริษัทฟิโนมิน่า โปรดักชั่นเฮาส์อันดับหนึ่งของประเทศไทย สื่อความหมายถึงหนทางมากมายที่สามารถปั่นจักรยานไปได้ กับพ้องเสียงคำว่า “พันทาง” เพื่อบอกว่า จะรถแบบไหนขอแค่เป็น “สองล้อแล้วใช้แรงคน” ก็ร่วมกรุ๊ปได้ทั้งนั้น

คันนี้ของคนหัวใจเด็ก
ไซม่อน-ศราวุธ บุญประเสริฐ เป็นคนแรกในฟิโนมิน่าที่ปั่นจักรยานอย่างจริงจัง เขาเล่าให้ฟังว่า สมัยมัธยมต้นเคยซื้อจักรยานเสือหมอบตามเพื่อนรุ่นพี่ในราคา 3,000 บาท หลังจากนั้นชีวิตกับจักรยานได้ห่างหายไปตามเวลา จนกระทั่งปี 2007 เขากลับมาขี่จักรยานอีกครั้ง โดยจับจักรยานเสือหมอบราคาเบาๆ ที่ 9,000 บาท และตอนนี้เองที่เพื่อนๆ ในบริษัทเริ่มเห็นประโยชน์ของการขี่จักรยานในเรื่องของสุขภาพ กลุ่ม 1000ways จึงถือกำเนิดขึ้นในตอนนั้น

“พอกลับมาขี่จักรยานอีกครั้งรู้สึกว่าตัวเองฟิต แข็งแรง และสุขภาพดีขึ้น แล้วพอปั่นคันเดิมไปสักพัก เมื่อกำลังขาเราดีขึ้นจักรยานคันเดิมก็ไม่เหมาะสมกับเราแล้ว รู้สึกว่าแรงเหลือ ก็เลยต้องเปลี่ยนคัน คราวนี้ราคากระโดดไปที่ 7 หมื่นเลย เพราะตั้งใจว่าจะใช้นาน เริ่มจากปั่น 20 กิโลฯ แล้วมันก็กลายเป็น 30-40 กิโลฯ จนตอนนี้ 100 กิโลฯ ตอนนั้น Fixed Gear ก็เริ่มเข้ามา มีเพื่อนขี่มากขึ้น พอทุกคนได้เริ่มขี่จักรยาน ก็ชอบ แล้วทีนี้แต่ละคนก็มองหาแนวทางของตัวเอง บางคนชอบจักรยานพับได้ บางคนก็เล่นจักรยานคลาสสิก” ไซม่อนกล่าว ขณะเดียวกันเขาก็มีจักรยานตามมาอีกหลายคัน เช่น จักรยานพับได้สำหรับปั่นไปทำธุระใกล้ๆ กับ Fixed Gear ที่บางครั้งก็เอามาปั่นร่วมก๊วน Fixed Gear ในเวลาขี่ระยะทางไกลๆ เพราะกลัวเพื่อนหาว่าเอาเปรียบที่ใช้จักรยานทดแรงเกียร์

“ชีวิตวัยเด็กของทุกคนก็ผ่านการขี่จักรยานมาด้วยกันทั้งนั้น แต่พอโตขึ้นก็เหลือแค่ส่วนเดียวที่ยังคลุกคลีอยู่ เสน่ห์ของจักรยานก็คือ ความสนุก เหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ผมคิดว่าคนขี่จักรยานยังไงก็ไม่แก่นะ วัยรุ่นที่ขี่จักรยานก็ทำให้กลับไปเป็นเด็ก ถ้าคนแก่ขี่ก็ทำให้กลับมาเป็นวัยรุ่น”

Bike Never Lies
สำหรับเส้นทางการปั่นของกลุ่ม 1000ways มักเริ่มต้นจากแยกเหม่งจ๋าย ใกล้แหล่งทำงานของพวกเขา แต่ก็มักจัดทริปเพื่อขี่จักรยานรอบกรุงเทพฯ รวมทั้งไปสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ตลาดเก่าในจังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพฯ แทนที่จะขับรถไปก็เปลี่ยนเป็นปั่นจักรยานไปแทน โดยการปั่นแต่ล่ะครั้งมักรวมตัวกันประมาณ 10 คนขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือกันเวลามีปัญหา และคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก บางครั้งก็ไม่ถึงจุดหมาย แต่ก็ได้ความสนุกสนานมาโพสต์เล่าเรื่องราวบอกสมาชิกในแฟนเพจ 1000ways Commune โซเชี่ยลมีเดียที่ใช้เป็นช่องทางการสื่อสารหลัก ตอนนี้ในแฟนเพจของกลุ่ม 1000ways มีสมาชิกอยู่ประมาณ 1000 คน เป็นที่พูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องจักรยาน และอะไหล่ ไม่รวมการพูดคุยในคอมมูนิตี้อื่นของคนรักจักรยาน อย่างเว็บไซต์ BKKFixed กับ Thaimtb อย่างไรก็ตาม ช่องทางที่ทำให้นักปั่นรู้จักกันได้มากขึ้น คือร้านขายอุปกรณ์ทั้งหลายที่ตอนนี้เกิดขึ้นมากมาย

“การบอกว่าจักรยานเป็นเรื่องของกระแสก็คงไม่ใช่ แต่เป็นของเดิมที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่มันวนกลับมาเท่านั้น อย่างกลุ่มคนที่เล่น BMX ก็ยังคงมีอยู่ Fixed Gear ที่เข้ามาฮิตอยู่ตอนนี้ ความจริง Fixed Gear เป็นจักรยานแบบแรกๆ ของโลกด้วยซ้ำ” ไซม่อนพูดถึงกระแสจักรยาน

“ถ้าบอกว่าพวกเราตามเทรนด์ หรือเทรนดี้นี่ไม่ใช่นะ พวกเรานำเทรนด์ต่างหาก ส่วนหนึ่งที่พวกเราขี่ Fixed Gear ไม่ใช่เพราะว่าคนอื่นขี่ แต่ Fixed Gear ขี่ง่าย ดูแลรักษาง่าย แค่เปลี่ยนโซ่ เปลี่ยนยาง” เมลวิน หว่อง หนึ่งในสมาชิกกล่าว

อีกประโยชน์ของการขี่จักรยานสำหรับกลุ่มคนทำงานในบริษัทที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ คือการได้ตกแต่งจักรยานได้ดั่งใจตามสไตล์ของตัวเอง และสะท้อนความชอบส่วนบุคคล ส่วนเรื่องแฟชั่นการแต่งกายของตัวเอง 1000ways จะเล็งด้านอรรถประโยชน์ให้สอยบนหลังอานมากกว่าแค่แต่งแล้วเท่

“แฟชั่นต้องเกิดมาพร้อมฟังก์ชัน พอขี่ Fixed Gear ไม่มีตะกร้า แต่เราจำเป็นต้องเอาของไปด้วย มันถึงได้มีกระเป๋าขึ้นมา ที่ต้องใส่รองเท้า Vans ใส่กางเกงยีนส์เวลาเล่นท่า เพราะเป็นรองเท้าพื้นเรียบ เกาะกับบันไดจักรยาน และใส่กางเกงขายาวเพราะบางครั้งเกิดการผิดพลาดบันไดตีขึ้นมาที่หน้าแข้ง ถ้าใส่ขาสั้นแข้งคงแหกไปแล้ว ส่วนพวก Fixed Gear ที่เขาต้องพับขากางเกงขึ้นมา เพราะมันจะได้ไม่พันที่โซ่” ไซม่อนอธิบายในฐานะที่เขาเป็นคนที่รู้เรื่องจักรยานดีที่สุดในกลุ่ม และโดยส่วนตัวก็เป็นพวกขี่เล่นทริค

“การขี่จักรยานทำให้ใจเย็นขึ้น เหมือนมีเวลาอยู่กับตัวเอง แล้วจักรยานโกหกเราไม่ได้ เคยมีคนถามผมบ่อยๆ ว่าเวลาเลือกจักรยานจะเลือกแบบไหนดี บางคนกังวลว่าเอาจักรยานขี่เล่นท่าหนักๆ แล้วจักรยานจะพัง ผมบอกได้เลยว่า ศักยภาพของคนทั่วไปไม่ได้มากพอจะทำให้จักรยานระดับมาตรฐานมันพังก่อนเวลา คนที่ขี่จนพังได้คือพวกโปรฯ ที่ไม่ใช่คนกันแล้ว นอกจากคนที่ไปถูกร้านขายจักรยานหลอกมาเท่านั้นแหละ การขี่จักรยานทำให้เรารู้จักตัวเอง จักรยานที่แพงกว่าแต่ถ้าแรงขี่ของเราไม่ถึง จักรยานก็ไม่ไป”

แบรนด์วัยรุ่นน่าจะโดน
สำหรับการเชื่อมโยงจักรยานเข้ามาสู่ชิ้นงานโฆษณา หรือการสื่อสารการตลาดทั้งหมด กลุ่มนักปั่นของฟิโนมิน่า มองว่า สินค้าที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นน่าจะให้ความสนใจแนวโน้มจักรยานมากขึ้น รวมทั้งสินค้าประเภทกีฬากับสินค้าที่ต้องการภาพลักษณ์เรื่องสิง่แวดล้อมก็น่าจะเข้ากับการหยิบเอาเทรนด์จักรยานมาสื่อสารได้ แต่สำหรับแบรนด์ที่ต้องการผู้บริโภคระดับ Mass มากๆ อาจจะไม่เหมาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fixed Gear เพราะค่อนข้างเป็นความนิยมเฉพาะกลุ่ม และ Fixed Gear มีความเป็น Individual สูงมาก ทั้งดีไซน์และไซส์

“อะไรที่ฮิตอยู่ในตอนนั้นในหนังโฆษณา มิวสิกวิดีโอ ก็ต้องมีอยู่แล้ว เพราะอยากส่งสารไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย อะไรที่ผู้บริโภคต้องการ หรือทาร์เก็ตต้องการอะไรในตอนนั้น โฆษณาก็ต้องใส่เข้าไปด้วย ต่อไปก็อาจจะเป็น Long Board ที่มาแทนที่จักรยานก็ได้ เพราะเล่นได้ทั้งผู้ชาย-ผู้หญิง” นี่คือความเห็นของเหล่าคนทำโฆษณา