PLUSONE : First Thai Custom Cycle Cap

ล่าสุด กระแสความนิยมในการปั่นจักรยานยังได้ส่งแรงกระเพื่อมมายังบรรดานักออกแบบไทย ผ่านการดีไซน์เสื้อผ้า และกระเป๋าสะพาย (เฉียง) ซึ่งในอเมริกาและยุโรปถือว่าเป็นตัวแทนอารยธรรมสตรีทแฟชั่นที่คูลเป็นลำดับต้นๆ และเมื่อเดือนที่ผ่านมา บ้านเราก็มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับ “PLUSONE” หมวกสำหรับคนขี่จักรยานแบรนด์แรกของไทยโดย ณรงศักดิ์ พรหมมาลา ซึ่งน่าจะเป็นไอเท็มใหม่ของคนขี่จักรยานที่น่าสนใจมากทีเดียว

“ผมปั่นฟิกซ์เกียร์และทำงานด้านศิลปะ กราฟิกดีไซน์อยู่ครับ ผมเองมีโอกาสได้แสดงงานในนิทรรศการศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากจักรยาน พอเราไปอยู่กับจักรยานนานๆ ก็เกิดอาการอยากหาแอคเซสซอรี่ที่เกี่ยวกับจักรยานมาใส่ เลยเริ่มศึกษากระทั่งไปเจอแบบหมวกต่างประเทศซึ่งผมชอบมาก”

หมวกผ้าสำหรับนักปั่นในเมืองนอกมีราคาเริ่มต้นอย่างน้อยๆ 30 – 60 เหรียญสหรัฐ ขึ้นไป ณรงศักดิ์จึงนึกถึงพ่อผู้เป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้ามา 30 ปี “ผมเย็บผ้าเป็นตั้งแต่เด็ก และเสียดายความรู้ด้านแพตเทิร์นของพ่อ เมื่อต้นปีผมก็เลยเริ่มจากเอาแบบหมวกจากในเน็ตมาให้พ่อดู พ่อบอกว่างั้นเรามาเริ่มแกะแพตเทิร์นกัน แรกๆ ก็ทำแจกเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ขี่จักรยาน ปรากฏว่าทุกคนชมว่ามันประณีตมาก ผมก็เลยคิดว่าเราน่าจะทำเป็นแบรนด์ได้”

ณรงศักดิ์นำความรู้ในเชิงช่างตัดเย็บของพ่อมาผสานเข้ากับความสามารถทางศิลปะและการออกแบบของเขาจนกลายเป็นหมวกจักรยานทำมือร่วมสมัย หรือกระทั่งย้อนไปสู่แฟชั่นเรโทรผู้ดีอังกฤษเก่าที่กลับมาพร้อม โบ้ทชู เสื้อเชิ้ต กางเกงขาสั้น และหมวกผ้า “ความพิเศษของมันอยู่ที่ยางยืดด้านหลังที่ช่วยให้ไม่ปลิวเวลาปั่นจักรยาน และปีกหมวกที่มีองศาพอดีสำหรับบังแสงอาทิตย์ครับ”

หมวกแฮนด์เมดแบรนด์ PLUSONE กำหนดราคาอยู่ที่ 550 บาท ในขณะที่ถ้าเป็นหมวกแบบ “คัสตอม” ซึ่งผลิตขึ้นเฉพาะคนโดยการวัดรอบศีรษะ เลือกผ้าเลือกแบบและปักชื่อเจ้าของได้ตามรสนิยม ก็จะมีราคาอยู่ที่เพียง 850 บาทต่อใบ ที่ผ่านมาลูกค้า PLUSONE ส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนในแวดวงศิลปะและบันเทิง อาทิ คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง แห่ง a Day, พฤษ์พล มุกดาสนิท หรือ Mamafaga แห่ง B.O.R.E.D.และศิลปินกลุ่ม P7 ฯลฯ

นอกจากนี้เขายังใช้ “นิทรรศการศิลปะ” ซึ่งดูเหมือนอยู่คนละโลกกับมาร์เก็ตติ้งมาเริ่มต้นสร้าง “แบรนด์”

“วิธีคิดก็เหมือนกับที่แบรนด์อื่นใช้เซเลบฯ ซึ่งเป็นดารานักร้อง ของผมก็ใช้เซเลบฯ เหมือนกันครับ แต่เป็นเซเลบฯ ในวงการศิลปะ ใช้ธีมเปิดตัวแบรนด์ ผ่านนิทรรศการหมวกจักรยานที่ “ยกย่องความเป็นศิลปินด้วยศิลปะ” โดยให้ศิลปินชื่อดัง 30 ท่านได้คัสตอมหมวกของตัวเองตามทักษะที่เขาถนัด ล่าสุดเรานำนิทรรศการไปจัดที่ร้าน Pedalicious เพื่อให้มันมีความเคลื่อนไหวในการเปิดตัว กลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรกที่ผมตั้งไว้ก็คือ คนปั่นจักรยานและคนที่ชื่นชอบแฟชั่นในระดับเทรนด์เซตเตอร์ครับ”

“อนาคตน่าจะมีเสื้อ และกางเกงของคนขี่จักรยานครับ เพราะเราทำงานโดยแก้ปัญหาจากสิ่งที่ไม่ เช่น ผมอยากปั่นจักรยานไปทำงานโดยไม่ต้องมีกระเป๋าสะพายหลัง ไม่อยากใส่ผ้ายืดเข้ารูป ผมว่าจะออกแบบเสื้อเชิ้ตสำหรับคนปั่นจักรยานที่ด้านหลังเสื้อทำเป็นกระเป๋าใส่ของเสียเลย แขนก็อาจจะมีฟังก์ชันที่ให้มันพับง่ายขึ้น ส่วนผ้าบัฟที่ทั้งใช้พันคอเท่ๆ และปิดจมูกจากฝุ่นควัน ซึ่งผมเคยได้รับเชิญให้ออกแบบให้กับ TCDC ก็อาจจะดีไซน์ใหม่ให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ผม”

“ผมว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับจักรยานมีความน่าสนใจมากนะครับ ผมมองว่ามันไปได้ในตลาด เพราะสำหรับเมืองไทย จักรยานยังอยู่ในช่วงเริ่มแรกเท่านั้นเอง ความยั่งยืนในตลาดต่างประเทศก็รองรับได้หลากหลาย อย่างคนที่เพิ่งมาปั่นฟิกซ์เกียร์ ปั่นโรดไบค์ โดยคาแร็กเตอร์พวกเขาก็ต้องการใส่หมวกที่เป็นดีไซน์ของตัวเอง กลุ่มคนที่ชอบแฟชั่นก็ชอบความมีอัตลักษณ์ เขาอยากได้หมวกที่ไม่เหมือนใคร ใส่แล้วต้องนำเทรนด์ ซึ่งก็สอดคล้องกับแบรนด์ของผม ที่ทำหมวกสไตล์งานคราฟให้เฉพาะเขาคนเดียว”