องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย อาสาสมัคร และ ตัวแทนผู้บริโภคที่ใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์ ทำกิจกรรมรณรงค์บริเวณพื้นที่สี่แยกหลักและบริเวณหน้าสาขา KFC ของทั้งสามแฟรนไชส์ซีในกรุงเทพฯ ได้แก่ บริษัท เรสเทอ รองตส์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัดและ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด โดยเรียกร้องให้ KFC ประเทศไทย เร่งประกาศนโยบายยุติการทรมานไก่ในฟาร์มโดยด่วน เพื่อยกระดับคุณภาพของอาหารให้มีความใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ก่อนถึงมือผู้บริโภค พร้อมเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมลงชื่อในแคมเปญ The Real Secret Recipeผลักดันเพื่อยกระดับสวัสดิภาพไก่ให้ดีขึ้น
ช่วงเช้าวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2565 อาสาสมัครฮีโร่พิทักษ์สัตว์กว่า 50 คนร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ พร้อมชูป้ายข้อความ “The Real Secret Recipe สูตรลับของผู้พันที่แท้จริง ผู้พันอย่าทอดทิ้งไก่” บริเวณสี่แยกไฟแดงหลัก เพื่อส่งเสียงแทนไก่จำนวนมากที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากระบบฟาร์มโรงงาน จากนั้นได้เดินทางไปยื่นจดหมายที่ KFC ประเทศไทย 3 สาขาใหญ่ เพื่อส่งข้อความถึงผู้บริหารแฟรนไชส์ซียักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ราย โดยผ่านตัวแทนทั้ง 3 สาขา การเเสดงพลังของผู้บริโภคชาวไทย และอาสาสมัครฮีโร่พิทักษ์สัตว์ในครั้งนี้ เรียกร้องให้ร่วมผลักดันให้เกิดการยกระดับคุณภาพของอาหารในจาน ต้องไม่ได้มาจากวิธีปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณ และในฐานะที่ KFC เป็นแฟรนไชส์ระดับโลก ให้มีนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ไม่ใช่เป็นลักษณะสองมาตรฐานอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “ที่ผ่านมาเรามีความมุ่งมั่นที่จะยื่นข้อเสนอการปรับปรุงสวัสดิภาพไก่ในห่วงโซ่อุปทานของ KFC ประเทศไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้กับ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมเสียงผู้บริโภคชาวไทยกว่า 20,000 คน แต่กลับถูกเพิกเฉยมาโดยตลอดในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ถึงเวลาแล้วที่ KFC ประเทศไทยจะต้องเร่งเปิดเผยข้อมูล และนโยบายในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานถึงการคัดเลือกแหล่งที่มาของไก่ เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานปรับเปลี่ยนมาตรฐานยกระดับสวัสดิภาพ พร้อมทั้งยุติการทรมานไก่ทั้งระบบ รวมถึงเร่งประกาศนโยบายเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพไก่แก่สาธารณะ เพื่อเป็นการสะท้อนความห่วงใยผู้บริโภคและความใส่ใจในประเด็นด้านมนุษยธรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง”
ซึ่งนอกจากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัดแล้ว บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัดและ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับสิทธิบริหารร้าน KFC ในประเทศไทย มีบทบาทและความรับผิดชอบต่อประเด็นนี้ไม่ต่างกับบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัดจึงควรแสดงความรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพไก่ที่อยู่ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานของตนเองและทำงานร่วมกับ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในการจัดการปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์และความทารุณกรรมสัตว์ให้หมดสิ้นจากห่วงโซ่อุปทาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562 KFC ใน 8 ประเทศในฝั่งทวีปยุโรป ที่มีมาตรการทางกฎหมายและความตื่นตัวของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องความทุกข์ทรมานของสัตว์ได้แสดงความเป็นผู้นำด้านการปรับปรุงสวัสดิภาพของไก่ โดยการลงนามใน ข้อตกลงเรื่องความมุ่งมั่นในการพัฒนาสวัสดิภาพของไก่ (Better Chicken Commitment) ซึ่งเป็นสัญญาที่ให้แก่ผู้บริโภคว่าจะปรับปรุงมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ แต่ในทางกลับกัน ผู้บริโภคในประเทศไท ซึ่งถือเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับต้นๆของโลก กลับไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะเข้าถึงเนื้อไก่ที่มีสวัสดิภาพทีดีได้ ดังนั้น KFC ประเทศไทย ต้องแสดงความจริงใจต่อผู้บริโภคและ ประกาศความมุ่งมั่นลงนามใน Better Chicken Commitment เพื่อยกระดับสวัสดิภาพไก่ เพื่อให้สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างเร่งด่วน
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้ KFC ประเทศไทย ลงนามใน Better Chicken Commitment ที่จะคัดเลือกไก่ ตามข้อเสนอต่อไปนี้ ภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนี้
- จัดการความหนาแน่นในโรงเรือนให้ไม่เกิน 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร
- มีแสงอย่างน้อย 50 ลักซ์ รวมแสงธรรมชาติ
- ควรจัดวางคอนที่มีความยาวอย่างน้อย 2 เมตร และจัดหาอุปกรณ์ที่ช่วยกระตุ้นให้ไก่แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างน้อย 2 ชิ้นต่อไก่จำนวน 1,000 ตัว
- ใช้สายพันธุ์ไก่ที่โตช้าลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP หรือโดย RSPCA (Broiler Breed Welfare Assessment Protocol)
- มีการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบโดยบุคคลที่ 3 หรือหน่วยงานภายนอกและจัดทำรายงานประจำปีที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์
ร่วมลงชื่อเรียกร้องเพื่อยกระดับสวัสดิภาพไก่ได้ที่ The Real Secret Recipeและสามารถติดตามความเคลื่อนไหวอื่นๆได้ที่เพจเฟซบุ๊กองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกwww.facebook.com/WorldAnimalProtectionThailand