อีกไม่ถึงปี นิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะอายุครบ 60 ปี แล้วก็จะเกษียณตัวเองจากตำแหน่ง แต่คนอย่างนิวัตต์บอกว่า ตัวเองไม่ใช่คนที่จะรอเวลาอะไรเฉยๆ เขายังคงมีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ ที่จะกระตุ้นและต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรก้าวทันยุคสมัยในเวลาอันจำกัดนี้
“องค์กรยังใช้ตัววัดผล (KPI) เดิมๆ แต่ในฐานะคนทำงานถ้าดูแล้วมันไม่ได้ผล เราก็ต้องพยายามหาวิธีใหม่ๆ เพื่อทำให้องค์กรสามารถแข่งขัน อยู่รอด และเติบโตขึ้น”
ตัววัดผลการดำเนินงานที่นิวัตต์พูดถึง หนีไม่พ้นการวัดผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ผลจากมูลค่าหุ้น และจากกำไรสุทธิ เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนอนาคตองค์กรที่ลูกค้าสามารถมองเห็นได้ แต่ปัญหามีอยู่ว่าการแข่งขันในธุรกิจบัตรเครดิตนั้น รูปแบบโปรโมชั่นเดิมๆ ที่นิยมทำกันเริ่มไม่ค่อยได้ผล โดยเฉพาะลอยัลตี้โปรแกรมในปัจจุบันที่เน้นการให้ส่วนลดเพิ่ม หรือ Top up ซึ่งมีตั้งแต่ 5%, 7%, 10% ความนิยมของท็อปอัพถึงขั้นที่เป็นสิ่งเตือนใจผู้บริโภคก่อนใช้บัตร บัตรไหนไม่มี ก็จะไม่ถูกเลือกใช้จากผู้ถือบัตรกันเลยทีเดียว
ปัญหาจึงเป็นว่า ลูกค้าได้ แต่การทำแบบนี้มีแต่จะตัดทอนรายรับของบริษัทบัตรเครดิต ซึ่งอาจจะหนักถึงขั้นไม่มีกำไร เพราะถูกตัดเป็นต้นทุนและท็อปอัพไปเสียหมด
“ที่สำคัญลอยัลตี้โปรแกรมเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดคัสโตเมอร์ลอยัลตี้กับแบรนด์หรือองค์กรอีกด้วย เพราะสิ่งเดียวที่ลูกค้าจะพิจารณาคือ บัตรไหนให้มากที่สุดเท่านั้น แล้วผลลัพธ์มันยังย้อนกลับไปอีกว่าผลงานของคุณจะไม่ผ่าน KPIเดิมๆ ที่วัดคุณด้วยกำไรสุทธิ ซึ่งไม่มีทางดีขึ้นได้เลยถ้าเรายังยอมสู้ต่อด้วยวิธีโง่ๆ เพราะคนที่ชนะก็คือคนที่ให้ส่วนลดมากกว่า”
นิวัตต์มองต่างมุม และตั้งข้อสังเกตว่า ลูกค้าบางกลุ่มไม่ได้สนใจท็อปอัพ เพราะต่อให้ไม่มีท็อปอัพ แต่ถ้ามีสิ่งที่ทำให้ลูกค้านึกถึงบัตรเครดิตใบนั้นได้ เขาก็ยินดีจะหยิบบัตรเครดิตใบนั้นมาใช้เช่นกัน
นี่คงเป็นเหตุผลที่ลูกค้าบัตรเคทีซีหลายคงพอจะนึกออกว่า ทำไมโปรโมชั่นท็อปอัพของแหล่งช้อปปิ้งที่ทำร่วมกับบัตรเครดิตในปัจจุบัน ไม่ปรากฏรายชื่อบัตรเคทีซีอยู่ในบัญชีท็อปอัพนั้นด้วย
ดังนั้น นิวัตต์จึงเชื่อว่า การจะตีโจทย์การตลาดของบัตรเครดิตยุคนี้ให้ออก จะต้องคิดและทำเพื่อสะท้อนกลยุทธ์ใหม่ๆ
“ถ้าตีโจทย์ตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าพนักงานเคทีซีก็จะเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยธรรมชาติ โจทย์สำหรับการคิดใหม่นั้น คุณควรว่า ลูกค้า ณ วันนี้อยู่ตรงไหน สังคมเปลี่ยนไปอย่างไร หากต้องการเข้าถึงใจลูกค้าและทำให้พวกเขาไม่ลืมเคทีซี ทำอย่างไรที่องค์กรจะปรับตัวเป็นคนกลุ่มเดียวหรืออยู่ในสังคมเดียวกับลูกค้าให้ได้”
“หากต้องการเข้าถึงใจลูกค้าและทำให้พวกเขาไม่ลืมเคทีซี หน้าที่ที่ถูกต้องก็คือ ทำอย่างไรที่องค์กรจะปรับตัวเป็นคนกลุ่มเดียวหรืออยู่ในสังคมเดียวกับลูกค้าให้ได้”
หลายครั้งที่นิตยสาร POSITIONING เล่าถึงการทำงานขององค์กรอย่างเคทีซี สิ่งหนึ่งที่มักปรากฏให้เห็นเสมอคือ รูปแบบอิสระในการคิดและการทำงาน การแบ่งปันข้อมูลและการทำงานร่วมกัน ไปจนถึงรูปแบบของสถานที่ทำงานที่เปิดโล่ง
แต่วันนี้เมื่อสแกนลึกไปกว่านั้นภายใต้รูปแบบที่เห็นด้วยตา พวกเขามีกลยุทธ์ของการดำเนินงานที่เปิดกว้างเพื่อรองรับการเปลี่ยนจาก Close Brand เป็น Open Brand อยู่แทบทุกอณูของการทำงาน ที่สำคัญคือการปรับเอาวิถีชีวิตแบบคนรุ่นใหม่เข้ามาใช้ในการทำงานอย่างสอดคล้องกัน
ดังนั้น เมื่อวันนี้ซีอีโออย่างนิวัตต์ประกาศเดินหน้าสู่การเป็นโอเพ่นแบรนด์เต็มตัว หรือการเป็นแบรนด์ที่ไม่ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหน เคทีซีจะอยู่ที่นั่นและพร้อมกับเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ (Brand Engagement) ในทุกช่วงเวลา ก่อนที่เขาจะเฉลยต่อมาว่า โลกหรือสังคมของคนรุ่นใหม่ก็คือสังคมออนไลน์นั่นเอง
“ตอนนี้ผมว่าโลกของคนรุ่นใหม่ มีคอมมูนิตี้อยู่บนออนไลน์ ถ้าเราเข้าไปเป็นสังคมเดียวกับเขาได้ เขาจะนึกถึงเรา บางเรื่องที่เราทำก็พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีท็อปอัพลูกค้าก็ยังใช้บัตร ถ้าเป็นแบบนี้ผมเชื่อว่าคำว่าลอยัลตี้จะหมดไป”
แคมเปญที่นิวัตต์อ้างถึง อาจแค่เป็นการทำตลาดผ่านเครื่องมือง่ายๆ อย่างข้อความสั้น (SMS) ส่งแคมเปญของสนามกอล์ฟถึงลูกค้าผู้ชื่นชอบกีฬากอล์ฟ เช่น มาสี่จ่ายสาม เพียงเท่านี้ก็ได้รับการตอบกลับอย่างรวดเร็ว ฯลฯ
ขณะที่ข้อจำกัดของการทำลอยัลตี้โปรแกรมแบบเดิม จะต้องใช้เวลาเก็บข้อมูล ใช้เวลาทำโปรแกรมอย่างน้อย 3-6 เดือน กว่าจะลอนช์โปรแกรม ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอาจจะหายไปแล้ว การได้คนตอบรับโปรแกรมแค่หลักหมื่นก็โอเค หลักแสนก็ดี แต่ก็ถือว่าไม่คุ้มทั้งเวลาและผลตอบรับ แถมการแข่งขันก็สูง
“แต่ถ้าเราทำให้เขาเห็นแบรนด์ของเราทุกวัน เขาก็นึกถึงเราทุกวัน เพราะฉะนั้นเราต้องรู้พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ อย่างวันก่อนมีคนกลับจากอังกฤษ เขาทวีตว่าตอนนี้อยู่ที่ร้านนี้นะ แป๊บเดียวมีเพื่อนตามไปอีก 5 คน ผมไปนั่งกินข้าวที่เอ็มโพเรียม มีเพื่อนที่ไม่เคยเจอกันหลายปีมาขอกินข้าวด้วยได้ทันที นี่คือโลกของคนรุ่นใหม่ ที่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกันได้เร็ว แล้วทำไมเราไม่ทำแบรนด์ของเราให้เป็นแบบนั้น”
นิวัตต์เล่าว่า ที่บ้านเขามี iPad2 -3 เครื่อง ภรรยาใช้ดูละครทีละ 5 ตอน ส่วนเขาก็เรียนรู้และได้รับคำแนะนำการใช้งานจากลูกชาย ซึ่งนอกจาก iPad2 ลูกชายวัย 14 ปี ยังเป็นเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชชุดใหญ่มูลกว่า 1.2 ล้านบาท มีมอนิเตอร์ 2 จอ สั่งประกอบมาจากอเมริกาอีกหนึ่งเครื่อง ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องที่แพงที่สุดในเมืองไทย
สภาพแวดล้อมที่บ้านของเขา นอกจากบรรยากาศการพักผ่อนของสมาชิกในครอบครัว ลูกชายผู้ใช้เทคโนโลยีตัวยงก็ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรๆ หลายอย่างว่า คนรุ่นใหม่ ทำอะไร สนใจอะไร และมีวิธีสื่อสารกันอย่างไร
“เวลานี้ทีวีบ้านผมเป็นหม้าย ผมเห็นวิธีการทำงาน การสื่อสารของลูก เขาสื่อสารทีละหลายช่องทาง เปิดหลายหน้าจอเปลี่ยนไปมา ผมกลับจากข้างนอกมีอาหารมาฝาก เขาก็แชร์ให้เพื่อนเห็น นี่คือภาพของคนรุ่นใหม่เห็นอะไรก็สามารถแชร์กับคนอื่นได้ทันที โซเชี่ยลมีเดียมีอิทธิพลและอิทธิฤทธิ์ค่อนข้างรุนแรงต่อชีวิตพวกเรา ก่อนนอน ตื่นเช้าก็เจอ ระหว่างที่ลูกสื่อสารอยู่กับจอ พ่อแม่นั่งอยู่ข้างๆ ไม่รู้ลูกทำอะไรเขาก็สื่อสารของเขา การรับรู้สิ่งต่างๆ ของคนรุ่นใหม่จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว”
ไม่เพียงสังเกตและสนับสนุนลูกชายคนเดียว สิ่งที่นิวัตต์ได้จากการการพูดคุยและสังเกตยังนำไปสู่การต่อยอดคุณค่าแบรนด์ใหม่ของเคทีซี ซึ่งเขาเชื่อว่า ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันนอกจากจะสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ทำอะไรได้แบบ Multi-tasking เช่นนี้แล้ว เทคโนโลยียังทำให้เกิดการ Collaborate กันได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้นด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นตัวเชื่อมโยงให้คนแต่ละที่ เข้ามามีส่วนร่วมกันได้เร็วขึ้น
เหมือนที่กลุ่มเพื่อนของลูกชายมีทวิตเตอร์ที่ผลัดกันตามข่าวสารในกลุ่มกันไม่ต่ำกว่า 20 คน และนิวัตต์เองก็อยู่ระหว่างการเรียนรู้และคาดว่าอีกไม่นาน เขาคงจะเริ่ม First tweet ของตัวเอง โดยนำแนวคิดและประสบการณ์ดีๆ มาบอกกล่าวกับกลุ่มคนที่เชื่อและชอบในวิธีคิดแบบนิวัตต์ แต่ช่วงนี้เขาขอเวลาศึกษาดูก่อน
“ทฤษฎีการตลาดเดิมต้องโยนทิ้งหมด ยุคนี้คำว่า Segmentation แบบเดิม ต้องถูกปรับมาเป็น Community of Customer คอมมูนิตี้นี้ใหญ่จะใหญ่หรือเล็กก็ได้ แต่เคทีซีมีหน้าที่ต้องเปิดแพลตฟอร์มของเราให้กว้างเพื่อรองรับคู่ค้าเหล่านี้”
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่คุณค่าแบรนด์ใหม่ของเคทีซีที่ปรับเปลี่ยนพร้อมกับการรีเฟรชและเปลี่ยนโลโก้แบรนด์ในปีนี้ จะประกอบด้วย 3 เรื่องหลักที่เป็นส่วนสำคัญจากเทคโนโลยียุคนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น 1-Collaboration 2-Multi-intelligence และ 3-Seeking the new frontier
คุณค่าอันหลังสุดนี้ ถือเป็นการหาทางออกที่ต้องตอบสนองให้ทันกับเทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ให้มนุษย์เข้าสู่สังคมรูปแบบใหม่ได้ง่ายและเร็วขึ้น เช่นเดียวกัน เมื่อแบรนด์ต้องการประสบความสำเร็จจากการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ ก็ต้องแสวงหาหนทางใหม่ๆ ที่เข้าไลฟ์สไตล์ของคนในโลกยุคใหม่ให้ได้
“เราจะไปเที่ยวบอกลูกค้าว่าคุณควรจะกินอย่างนี้ซื้อของที่นี่ เป็นไปไม่ได้แล้ว แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าบอกเราว่าเขาอยากจะทำอะไรที่ไหน อันที่สองก็คือทำด้วยความฉลาดมากขึ้น ต้องรอบรู้มากขึ้นมากๆ โดยมีโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเป็นพื้นฐาน อันที่สามหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะแอพโพรสของเหล่านี้ มีวิธีการที่จะให้บริการใหม่ๆ ซึ่งผมอยากให้คุณเชื่อว่า ต่อไปนี้คำว่าลอยัลตี้จะหายไปจากการตลาด”
รูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและเติบโตได้เร็ว ก็อยู่ในสายตาของนิวัตต์ที่จะนำมาหาวิธีคิดทำตลาดให้กับเคทีซีด้วย ซึ่งบทสรุปจากการสังเกตธุรกิจเหล่านี้ทำให้เขารู้ว่า หัวใจสำคัญของธุรกิจยุคใหม่ นอกจากต้องรู้ว่าลูกค้าอยู่ตรงไหน สังคมของพวกเขาเป็นอย่างไรแล้ว ยังมี Speed to market ก็เป็นเรื่องสำคัญ
“สมมติร้านทำผม ร้านอาหาร ร้านไวน์ แถวสุขุมวิท วันนี้โต๊ะว่างอยู่ 10 ที่ เขาก็อาจจะทำแคมเปญร่วมกับเราได้ ทวีตออกไป ให้ไปที่ร้านตอนนี้ได้ส่วนลดเท่านี้ เท่านี้ที่นั่งในร้านก็ไม่ต้องปล่อยว่างแล้ว ถ้าเรามีการ Collaborate กับลูกค้ากับคู่ค้า เราก็จะทำงานร่วมกันได้เร็วขึ้น ยุคนี้คู่ค้าของเราเขาก็ไม่ได้ต้องการลูกค้าหลักพัน หลักหมื่น ถ้าเราเข้าใจก็สามารถตอบโจทย์เขาได้ โดยไม่มีต้นทุนการตลาดมากมายอะไร”
นิวัตต์ชี้ให้เห็นว่า แนวทางสร้างโปรแกรมการตลาดใหม่ๆ จากคอมมูนิตี้ออนไลน์นั้น เพียงแค่คลิก ก็สามารถเข้าไปสร้างมูลค่าทางการตลาดได้แล้ว วิธีคิดแบบคนรุ่นใหม่หรือธุรกิจยุคใหม่ จึงไม่จำเป็นต้องคิดใหญ่ ไม่ต้องใช้เงินเยอะ เพียงแต่เลือกใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้ถูกทาง ขับเคลื่อนให้ไว อย่างน้อยไวกว่าความต้องการของลูกค้าสักหนึ่งก้าว
“ทฤษฎีการตลาดเดิมต้องโยนทิ้งหมด ยุคนี้คำว่า Segmentation แบบเดิมก็ถูกปรับมาเป็น Community of Customer คอมมูนิตี้นี้ใหญ่ จะใหญ่หรือเล็กก็ได้ แต่เคทีซีมีหน้าที่ต้องเปิดแพลตฟอร์มของเราให้กว้างเพื่อรองรับคู่ค้าเหล่านี้ คู่ค้าจะเข้ามาหรือลูกค้าจะเข้ามา เขาก็จะเห็นกันได้ทันที”
“ถ้าเราทำให้เขาเห็นแบรนด์ของเราทุกวัน เราต้องรู้พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ อย่างวันก่อนมีคนกลับจากอังกฤษ เขาทวีตว่าตอนนี้อยู่ที่ร้านนี้นะ แป๊บเดียวมีเพื่อนตามไปอีก 5 คน นี่คือโลกของคนรุ่นใหม่ ที่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกันได้เร็ว แล้วทำไมเราไม่ทำแบรนด์ของเราให้เป็นแบบนั้น”
รูปแบบคอมมูนิตี้ที่เขาพยายามอธิบายนี้ว่า ให้ดูจากคอนเทนต์ในยูทูบ ซึ่งมีทั้งคลิปที่มีคนดูตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน ไปจนถึงหลักล้านภายในไม่กี่วันที่โพสต์เข้าไป บางคลิปอยู่แบบมาราธอนมีคนดูเข้ามาต่อเนื่องไม่ขาด นอกจากนั้นยังเป็นรูปแบบที่มีการแบ่งปันความคิด มีการพูดคุย ขณะที่เจ้าของคอนเทนต์ไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนในการบริหารหรือจัดเก็บ หรือจัดการอะไรให้ยุ่งยาก
“เป็นระบบ Cloud เหมือนก้อนเมฆไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ที่เรา แต่มีอะไรเต็มไปหมด ยังมีเหตุผลอะไรที่เราจะใช้เทคโนโลยีเก่าๆ มานั่งคิดเรื่องการตลาด คำว่าลอยัลตี้ไม่มีแล้ว มีแต่คอมมูนิตี้ และสุดท้ายคือโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค เพราะถ้าเมื่อไรที่คุณรู้สึกว่าเป็นหนึ่งในเครือข่าย คุณก็ไม่ได้ลอยัลตี้กับใครเลย แต่คุณจะมูฟไปเรื่อยๆ ถ้าองค์กรมัวแต่สร้างลอยัลตี้อยู่ จะเจอปัญหา หนึ่ง-ต้นทุนสูง สอง-ลูกค้าไม่ได้อยู่กับเราจริงๆ เพราะถ้าเขารับรู้อะไรใหม่ที่ไหนดีกว่าเขาก็ไปแล้ว แทนที่จะมานั่งทำลอยัลตี้คุณมานั่งทำโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเกาะกระแสเข้าไปกับกลุ่มคน แต่ถามว่าทิ้งของเก่าไหม ก็ยังไม่ได้หยุด แต่เราจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น และภายใต้การบริหารแบบผมก็เริ่มออกมาเป็นกลยุทธ์บริษัท เป็นแวลูที่เราใช้เดินไปข้างหน้า”
การคาดการณ์ผู้บริโภคยุคใหม่ องค์กรยุคนี้ต้องอาศัยความไวอย่างแท้จริง เพราะคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่คาดเดาลำบาก ให้คำตอบแน่นอนไม่ได้ว่าเขาจะเลือกไปทางไหนแน่ หน้าที่นักการตลาดรุ่นใหม่จึงต้องจับตาและตามให้ทัน
นิวัตต์ ยกตัวอย่างจากกรณีลูกชายของเขาให้ฟังว่า ถ้าถามว่าลูกอยากเป็นอะไร คำตอบที่เขาได้รับไม่ใช่วิชาชีพเดิมๆ ที่คนรุ่นเก่าคุ้นเคยอย่างหมอ วิศวะ ผู้พิพากษา แต่คำตอบที่ได้คือความหมายของการ Seeking for new frontier คุณค่าใหม่ตัวที่สามของเคทีซีนั่นเอง
“ลูกชายผม เขาก็ไม่ตอบผมว่าอยากเป็นแบบสตีฟ จ็อบ หรือจะเป็นเจ้าของ แต่เขาอธิบายผมด้วยการเปรียบเทียบให้ดูว่า คนยุคนี้เขาสามารถสร้างรายได้หรือพัฒนาอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้บ้าง มันเป็นแอพพลิเคชั่นหลายรูปแบบที่บางแอพฯ อาจจะดูคล้ายกันมากจนแทบจะเหมือนกัน แต่ก็มีจุดต่าง เพราะมีคนพยายามพัฒนาให้ง่ายขึ้นและดีกว่า และตลาดก็เปิดกว้างทั้งผู้พัฒนาและผู้ใช้ว่าจะเลือกใช้ของใคร บางแอพฯ มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 3 หมื่นล้านครั้ง อาจจะมีราคาไม่กี่เหรียญแต่คูณด้วยจำนวนของตลาดที่เปิดกว้างก็เป็นมูลค่ามหาศาล”
หมายความว่า ภายใต้ตลาดที่เปิดกว้างด้วยเทคโนโลยีในวันนี้ คือโอกาสของทั้งผู้ขายหรือนักพัฒนา นักคิด และผู้ซื้อ ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่ใครจะ Seeking for new frontier ได้ดีกว่ากัน
สำหรับเคทีซี ภายใต้แวลูตัวสุดท้าย เป็นสิ่งที่ทำให้นิวัตต์บอกว่า เขากำลังจะเปลี่ยนตัวเองจากผู้กำกับหนังรัก ทำให้เคทีซีเป็นเจ้าของโอเพ่นแพลตฟอร์มที่อาศัยฟรีแวร์ ให้ลูกค้าเข้าถึงองค์กรได้เร็วตามความชอบได้มากขึ้น ทั้งในแง่ของการทำธุรกิจกับคู่ค้าและการสื่อสาร
“สองวันก่อนมีการรายงานผลหนังโฆษณาเรื่องล่าสุดของเรา ก็พรีเซนต์กันว่าติดท็อปอยู่กี่วัน มีคนดูในอินเทอร์เน็ตกี่คน มีคนกด Likeกี่คนไม่ชอบกี่คน เสียงจากสังคมเป็นอย่างไร ผมถามกลับไปว่าแล้วต่อไปเป็นไง ผมต้องการให้คำถามนี้เปลี่ยนวิธีคิดการทำงาน เวลาทำหนังโฆษณาสักเรื่อง ต้องใช้เวลา ต้องแต่งเพลง หาพระเอกหล่อนางเอกสวย นิวัตต์ต้องมาเป็นคนแต่งนิยายเพื่อทำหนังโฆษณาให้เป็นหนังรักเพราะคนชอบดูกันทั้งเมือง แต่ผมต้องการให้เขาเอาโจทย์ใหม่ไปทำว่าต่อไปคืออะไร”
นิวัตต์เล่าภารกิจที่อาจจะมีซีอีโอน้อยคนมีโอกาสทำได้อย่างเขา ก่อนจะเฉลยโจทย์ของตัวเองทิ้งท้ายว่า
“สิ่งที่ผมต้องการคือหนังโฆษณาสไตล์นี้ แต่ไม่จำเป็นต้องควอลิตี้มาก ฉายทุกๆ สองอาทิตย์ บนยูทูบชาแนล ที่เรียกว่าเคทีซียูทูบชาแนล ถามว่าสองอาทิตย์เร็วมั้ย…ต้องเร็วเพราะโลกเปลี่ยนทุกวัน ผมต้องการมีช่องทางให้คนเข้ามาเยอะๆ นอกจากเรื่องสื่อ เรื่องธุรกิจก็เหมือนกันเรามีแพลตฟอร์มที่ให้คนเข้ามา พอเข้ามาเยอะร้านค้าจะเสียบเข้ามาออฟเฟอร์ ลูกค้าก็จะเข้ามาเห็น แต่ถ้ามันแห้งๆ ตายๆ อย่างอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ มันเข้ามาไม่กี่พันคนต่อวันหรอก แต่คุณทำอย่างไรทำให้เหมือนคนอื่นทำที่สำเร็จ แล้วใช้อันนั้นเป็นการสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ แล้วเราเป็นตัวกลาง แล้วเงินก็จะอยู่ที่เรา”