ก้าวใหญ่ ‘อุ่นใจ ไซเบอร์’ ของ ‘เอไอเอส’ ’กับการผนึก 4 องค์กรรัฐ ติดอาวุธ ‘เยาวชนคนไทย’ รู้ทันการใช้ดิจิทัล


จากข้อมูลของ We Are Social พบว่าช่วง 6 เดือนแรกคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 9.06 ชั่วโมงต่อวัน แค่เฉพาะเวลาที่ใช้กับโซเชียลมีเดียอยู่ที่ 2.59 ชั่วโมงต่อวัน เรียกได้ว่า โลกออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้าน อินเตอร์เน็ตมีประโยชน์ก็จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีโทษ และนี่คือสิ่งที่ เอไอเอส (AIS) ตระหนักและพยายามจะสร้าง ภูมิคุ้มกันไซเบอร์ ให้กับเยาวชนและคนไทยทั่วไปมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว


ทำไม ภูมิคุ้มกันไซเบอร์ ถึงสำคัญ

จริง ๆ การใช้อินเตอร์เน็ตแบบไม่รู้เท่าทัน ไม่ใช่แค่เกิดผลเสียกับสภาวะจิตใจเท่านั้น แต่ส่งผลไปถึงสุขภาพกายอีกด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า การที่คนใช้เวลากับออนไลน์มากขึ้นก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกาย เช่น ภาวะเนือยนิ่ง ลดการออกกำลังกาย การขยับตัว การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สายตาที่ต้องใช้ ดังนั้น แม้ไม่ได้ทำงานออฟฟิศก็เกิดออฟฟิศซินโดรมได้

ส่วนสุขภาพจิตก็มีทั้งความเครียดโดยตรงและโดยอ้อม อาจก่อให้เกิดความก้าวร้าวจากออนไลน์ได้ด้วย นำไปสู่ความเครียดที่สูงขึ้น และถ้าเป็นเยาวชนที่อยู่ออนไลน์มาก ๆ ก็จะส่งผลต่อทักษะการอ่านเขียน แม้ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านออนไลน์แต่ถ้าเกิน 2 ชั่วโมงก็อาจส่งผลเสียได้


ยกระดับภูมิคุ้มกันไซเบอร์ด้วยหลักสูตร 4P4ป

หากพูดถึงการสร้าง ภูมิคุ้มกันไซเบอร์ ของเอไอเอส คงต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงปี 2562 ที่ถือกำเนิดภายภารกิจ อุ่นใจ ไซเบอร์ เพื่อช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence Quotient : DQ) โดยทางเอไอเอสได้มีทั้งการทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่นำมาจากต่างประเทศ หรือใครหลายคนน่าจะจำโฆษณา “ถ้าเราทุกคนช่วยกัน เพราะเราทุกคนคือเครือข่าย” ที่สะท้อนถึงปัญหาที่เยาวชนต้องเผชิญจากการมาของอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการติดเกม, การบูลลี่ (Bully)

“แน่นอนอินเตอร์เน็ตมีประโยชน์มากมาย แต่มันก็มีโทษเช่นกัน ดังนั้น ในฐานะผู้ให้บริการ Digital Service Provider และเรามุ่งมั่นตั้งใจทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือ สังคมและสิ่งแวดล้อม เราจึงตั้งใจจะเสริมสร้าง DQ ตั้งแต่ปี 2562” นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS ย้ำ

สำหรับหลักสูตร อุ่นใจ ไซเบอร์ นั้น เอไอเอสระบุว่าเป็นการต่อยอดและร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้เข้ากับบริบทของคนไทย ผ่ายการนำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้

  1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
  2. Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
  3. Protection:  เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
  4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม

ที่ผ่านมา เอไอเอสพยายามผลักดันหลักสูตรอุ่นใจ ไซเบอร์ เพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจับมือกับ จอยลดา (joylada) แพลตฟอร์มแพลตฟอร์มนิยายแชทชั้นนำเพื่อ ย่อยเนื้อหา 4P สู่นิยายแชท 7 เรื่อง หรือการนำหลักสูตรไปทดลอง ทดสอบ เสมือนจริงใน Sandbox และมีคุณครูพร้อม นักเรียน ที่เข้าเรียนและสอบผ่านไปแล้วกว่า 160,000 คน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ดังนั้น จึงถึงเวลาที่จะขยายผลของหลักสูตรดังกล่าว


ผนึก 3 กระทรวง 1 มหา’ลัยดันหลักสูตรเข้าถึงคนไทย

เพื่อขยายผลของหลักสูตรให้เข้าถึงเยาวชนและคนไทยในวงกว้าง เอไอเอสได้ร่วมมือกับ 3 กระทรวงหลักของประเทศ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ได้พัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีออกแบบให้อยู่ในลักษณะขอกราฟิกหรือแอนิเมชัน และมีกระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ที่ช่วยรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษา ที่พร้อมให้นักเรียนสามารถเข้ามาเรียนได้ เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทยที่ส่งต่อไปยังโรงเรียนในสังกัดเช่นกัน

ทั้งนี้ การร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้หลักสูตรอุ่นใจ ไซเบอร์ถูกส่งต่อไปยังสถานศึกษากว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะยิ่งช่วยให้เป้าหมายของเอไอเอสที่ต้องการผลักดันให้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าถึงเยาวชน 5 ล้านคนให้ได้เร็วที่สุด

“หลักสูตรจะยิ่งช่วยสร้างความตระหนักรู้ด้านดิจิทัลเปรียบเสมือนเป็นการ ติดอาวุธสำหรับใช้งานดิจิทัล ให้กับเยาวชนและคนไทยทั่วไป ดังนั้น ยิ่งหลักสูตรเข้าถึงคนได้มาก ประโยชน์ก็ยิ่งเกิดมาก” สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจเรียนหลักสูตร อุ่นใจ ไซเบอร์ สามารถเรียนออนไลน์ได้ที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย