ผลวิจัยจากมินเทล ผลกระทบของเงินเฟ้อต่อผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2565-2566

มินเทลเปิดผลวิจัยเรื่อง “เงินเฟ้อ” ว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคบ้าง ในช่วงปี 2565-2566 เรียกได้ว่าตั้งปต่ต้นปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกมีความผันผวน ทั้งภาวะเงินเฟ้อ สงคราม ราคาน้ำมัน ผู้บริโภคต้องปรับตัวอย่างไร และแบรนด์จะต้องทำอย่างไรบ้าง

Matthew Crabbe, Regional Trends Director, APAC Mintel ได้เปิดเผยว่า

แม้งานวิจัย Financial Tracker ของมินเทลที่จัดทำขึ้นในประเทศออสเตรเลียอินเดียญี่ปุ่นและไทยคาดการณ์ไว้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีนี้แต่มีผู้บริโภคจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่รู้สึก “มีความกังวลอย่างยิ่ง” (ประมาณ 15%) โดยผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือไม่ได้รู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามเราเริ่มได้เห็นแล้วว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปโดยมีสาเหตุจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น พวกเขาลดการใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นลงอย่างเช่นค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปกับการท่องเที่ยว เสื้อผ้า การเสริมความงาม หรือการรับประทานอาหารนอกบ้าน

นอกจากนี้ผู้บริโภคยังต้องใช้เงินที่ออมไว้บ่อยขึ้น พวกเขาจะให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของสินค้าโดยเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีราคาย่อมเยาและกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค

คำถามที่ตามมา ธุรกิจ และแบรนด์ต่างๆ จะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอด และเติบโตต่อไปท่ามกลางช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้

เมื่อทั้งโลกเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากแบรนด์ต่างๆ มีหน้าที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้บริโภค และชุมชนที่ทางแบรนด์ให้การดูแล ซึ่งการทำเช่นนี้มิได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่ถูกต้องเท่านั้นแต่ยังเป็นสิ่งที่สมควรทำในแง่ของธุรกิจอีกด้วย

ผู้บริโภคจะเลือกใช้แบรนด์หรือมีความภักดีต่อแบรนด์ที่แสดงให้พวกเขาเห็นว่าแบรนด์เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าและความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนอกจากนี้ผู้คนจะยังจดจำแบรนด์ที่ยื่นมือเข้ามา “ช่วยเหลือ” ในยามที่พวกเขาลำบากอีกด้วย

ผลการวิจัยผู้บริโภคทั่วโลกของมินเทล (Mintel Global Consumer) พบว่าผู้บริโภคประมาณ 80% ในภูมิภาค APAC เห็นด้วยว่าพวกเขาจะเลือกภักดีต่อแบรนด์ที่มีความโปร่งใส (เช่นอธิบายให้ลูกค้ารับทราบถึงสาเหตุของการขึ้นราคา) เมื่อเลือกซื้ออาหารเป็นต้นนอกจากนี้แบรนด์ต่าง ๆ ยังอาจชี้แจงสาเหตุของการขึ้นราคาโดยเชื่อมโยงเข้ากับการให้ความสำคัญในมิติของผู้บริโภคได้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความปลอดภัยสวัสดิภาพหรือโภชนาการ เป็นต้น

ในระหว่างที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ ทวีความรุนแรงขึ้นจากการระบาดใหญ่ และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้จะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจอยู่แต่ผู้บริโภคก็ต้องการที่จะเห็นแบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญกับประเด็นของความยั่งยืนและช่วยให้พวกเขาสามารถใช้จ่ายอย่างประหยัดได้ซึ่งอาจรวมไปถึงการแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ต่าง ๆ มีส่วนช่วยผู้บริโภคในการลดของเสียหรือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ผู้บริโภคยังให้ความสนใจกับความโปร่งใสเป็นอย่างมากอีกด้วยเพราะด้วยความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นมากมายผู้บริโภคต้องการที่จะมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถวางใจในแบรนด์ที่พวกเขาเลือกได้

ทางด้านของแบรนด์สามารถช่วยให้ผู้บริโภคทราบถึงความเป็นไปของสถานการณ์ปัจจุบันได้ในหลากหลายวิธี ความโปร่งใสในการขึ้นราคาซึ่งรวมไปถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่จะขึ้นราคาดังกล่าว จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเตรียมตัวและกักตุนสินค้าเอาไว้ก่อนที่ราคาจะขึ้นได้

นอกจากนี้แบรนด์ยังอาจแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าแบรนด์จะสามารถลดต้นทุนแต่ยังรักษาคุณภาพไว้ได้อย่างไรตัวอย่างเช่น ทำให้ผู้บริโภคเห็นถึงความทนทานและการใช้งานที่เป็นไปได้หลากหลายรูปแบบของตัวสินค้าแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าสินค้าชิ้นหนึ่งจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่ต่างกันและใช้งานยาวนานขึ้นได้อย่างไรซึ่งนับเป็นการพิสูจน์ถึงความคุ้มค่าและอายุการใช้งานที่ยาวนาน