AAI เร่งลงทุนทำอาหารสัตว์ครบวงจร รับเมกะเทรนด์สัตว์เลี้ยงเหมือนสมาชิกครอบครัว

ไม่ใช่แค่เทรนด์ธรรมดาทั่วไป แต่เป็นเมกะเทรนด์ไปแล้ว สำหรับการเป็นทาสสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะทาสหมา ทาสแมว ผู้บริโภคไม่ได้มองน้องๆ เป็นสัตว์ แต่เป็นเหมือนหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ทำให้ได้เห็นตลาดอาหารสัตว์เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแบรนด์ใหม่เข้ามาบุกในตลาดอย่างต่อเนื่อง

ตลาดอาหารสัตว์บูม

บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI เป็นอีกหนึ่งผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง แต่เดิมมีทั้งกลุ่มอาหารสัตว์ และอาหารคน ปัจจุบันรายได้ของอาหารสัตว์ได้แซงหน้าอาหารคนไปแล้ว จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเร่งสปีดในการเติบโต

ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันมีศักยภาพการเติบโตสูง อ้างอิงข้อมูลจากบทวิจัย Fortune Business Insights ที่แสดงให้เห็นว่าภาพรวมตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของโลกในปี 2564 มีมูลค่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 8.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 8% ต่อปี และคาดการณ์ว่าแนวโน้มตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของโลกในปี 2572 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี

AAI คาดการณ์ว่าจะบริษัทเติบโตได้ดีกว่าอุตสาหกรรม หรือได้ไม่น้อยกว่า 10% โดยมีปัจจัยหลักมาจากผู้คนให้ความนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Millennial และ Gen Z เนื่องจากการแพร่ระบาด COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนใช้ชีวิต และทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น จึงมีความนิยมเลี้ยงสัตว์เพื่อคลายความเหงา เกิดเป็นเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว (Pet Humanization)

ส่งผลให้มูลค่าการขายอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงดังกล่าว อีกทั้งยังมีการจับจ่ายซื้ออาหารว่าง ขนมขบเคี้ยว ให้กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้นอีกด้วย

อาหารสัตว์ แซงหน้าอาหารคน

เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human Food) เป็นหนึ่งในบริษัทย่อย และเป็นบริษัทแกนหลัก (Flagship) ของการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของ กลุ่มบมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น หรือ ASIAN

ในประเทศไทยตลาดอาหารสัตว์มีมูค่า 40,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นอาหารสัตว์ 45% และอุปกรณ์เสริม สถานพยาบาลต่างๆ 55% โดยในกลุ่มอาหารแบ่งเป็นอาหารแห้ง 70% และอาหารเปียก 30%

ปัจจุบันแบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) สำหรับสุนัข และแมว ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ด มีทั้งรับจ้างผลิต OEM และแบรนด์ของบริษัทเอง ประกอบด้วย มองชู (monchou) และมาเรีย (Maria) เจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดสินค้าพรีเมียม ส่วนมองชู บาลานซ์ (monchou balanced) และฮาจิโกะ (Hajiko) เจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดแมส และโปร (Pro) เจาะกลุ่มลูกค้าระดับอีโคโนมี
  2. ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human Food) มีทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าในน้ำปรุงรส และซอสปรุงรส และผลิตภัณฑ์อาหารปรุงสุกพร้อมทาน โดยรับจ้างผลิต OEM ทั้งหมด รวมไปถึงยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ (By-product) จากการแปรรูปปลาทูน่า เช่น ผลิตภัณฑ์ปลาป่น ผลิตภัณฑ์น้ำนึ่งปลา และผลิตภัณฑ์น้ำมันปลา

เอกราช พรรณสังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI เล่าว่า

“AAI ก่อตั้งปี 2551 เป็นบริษัทลูกของเอเชียน แรกเริ่มทำอาหารคนก่อน พวกทูน่ากระป๋องต่างๆ มีอาหารสัตว์บ้าง จนปี 2554 เริ่มทำอาหารสัตว์มากขึ้น ตอนแรกอาหารคนมีสัดส่วน 90% และมีปี 2564 อาหารสัตว์มีสัดส่วนแซงหน้าที่ 80% แล้ว แต่เดิมธุรกิจหลักรับจ้างผลิตให้ลูกค้า หรือ OEM ก่อน และในปี 2561 เริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง เพราะมองเห็นเทรนด์การเติบโต และมีความรู้การตลาดมากขึ้น เริ่มทำให้ครอบคลุมทั้งอาหารเปียก และอาหารแห้ง”

AAI ได้ปรับตัวจากการเป็น OEM รับจ้างผลิตตามโจทย์ของลูกค้า มองเห็นว่ามีความได้เปรียบทั้งโรงงาน วิธีการผลิต จึงเปลี่ยนจากผู้ผลิต เป็นเจ้าของแบรนด์แทน อีกทั้งยังมีกำไรที่คงที่ด้วย

“ตอนทำ OEM ลูกค้าก็เอาสเป็กมา ผลิตตามโจทย์ของเขา ได้มีเพิ่มทางเลือกต่างๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ผันตัวมาเป็น Co-developer ร่วมกับลูกค้า ทำให้เราได้เรียนรู้เทรนด์ สิ่งที่ลูกค้าต้องการ รู้เรื่องวิธีการผลิต สินค้าตัวไหนตอบโจทย์ เอาแต่ละอย่างมาเป็นประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์ เราได้เปรียบที่มีโรงงาน รู้ว่าอะไรที่ลูกค้าต้องการ”

น้องๆ เป็นสมาชิกครอบครัว

แต่เดิมพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของคนไทย จะมองน้องๆ เป็นแค่สัตว์เลี้ยง อาจจะนำวัตถุดิบที่เหลือในครัวมาทำเป็นอาหารให้น้องๆ แต่ปัจจุบันคนเลี้ยงสัตว์ได้ขัยบตัวเป็น “ทาส” กันมากขึ้น มองเห็นน้องๆ เป็นหนึ่งสมาชิกของครอบครัว คำนึงเรื่องของใช้ และโภชนาการมากขึ้น

“เทรนด์ของการเลี้ยงสัตว์มีการปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เห็นทาสหมาทาสแมวเยอะขึ้น แต่ก่อนคนเลี้ยงจะใช้ของเหลือในบ้านมาทำเป็นอาหาร ตอนนี้เขามองว่าสัตว์เลี้ยงไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นคนในครอบครัว เริ่มแคร์เรื่องโภชนาการ เทรนด์นี้มาจากประเทศมีประชากรมากขึ้น สังคมเป็นครอบครัวเดี่ยว คนแต่งงานน้อยลง มีลูกน้อยลง เอาสัตว์เลี้ยงมาเป็นสมาชิกในครอบครัว”

หรืออย่างการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป เดี๋ยวนี้เหล่าทาสๆ มักจะพาสัตว์เลี้ยงติดตามไปด้วยแทบทุกที่ แต่ก่อนสถานที่ต่างๆ จะไม่ให้พาสัตว์เลี้ยงเข้า แต่ตอนนี้ทั้งศูนย์การค้า คาเฟ่ สายการบิน เอาใจทาสสัตว์เลี้ยงมากขึ้น สามารถพาเข้าสถานที่ได้

ธุรกิจอาหารสัตว์ กับการเข้า IPO

ล่าสุด AAI เดินหน้าเสนอขายหุ้น IPO ระดมทุนเพื่อการลงทุนในอนาคต ปัจจุบัน AAI มีทุนจดทะเบียนจำนวน 2,125 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,125 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนชำระแล้วทั้งสิ้นจำนวน 1,700 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,700 ล้านหุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 637.5 ล้านหุ้น

แบ่งเป็น 1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 425 ล้านหุ้น และ 2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม (บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น: ASIAN) จำนวนไม่เกิน 212.5 ล้านหุ้น รวมทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้

โดยจะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก สร้างคลังสินค้าอัตโนมัติแห่งที่ 2 ชำระคืนเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต โดยมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปีนี้

“การพาบริษัทเข้า IPO ต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้ AAI เติบโตได้ตัวเอง ตอนนี้มีตลาดรองรับ มีกำลังการผลิตที่ทำได้ ก่อนหน้านี้มีปฏิเสธลูกค้าไปเยอะเพราะเรื่องกำลังการผลิตไม่เพียงพอ งบลงทุนจะนำไปเพิ่มกำลังการผลิต 7,000 ตัน อีกทั้งยังจัดการดูธุรกิจต้นน้ำ มีทุนหมุนเวียน ลงทุนในต่างประเทศ ทำคลังสินค้าอัตโนมัติ”

ปี 2564 มีรายได้ 4,980 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 11% ต่อปี และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 16 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 639 ล้านบาทในปี 2564 เติบโตเฉลี่ย (CAGR)108% ต่อปี สัดส่วนของธุรกิจ OEM ยังใหญ่กว่า 93% ส่วนแบรนด์ตัวเอง 7% แต่มีการตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของแบรนด์ตัวเองเป็น 10% ใน 4-5 ปีข้างหน้า