ตั้งแต่ เอไอเอส (AIS) ก้าวเข้ามาในตลาด เน็ตบ้าน หรือ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ดูเหมือนว่าจะยิ่งสร้างความดุเดือดเป็นทวีคูณ แม้ว่าตอนนี้ตลาดยังพอมีช่องว่างให้เติบโตได้ไม่เหมือนกับตลาดโมบาย แต่โอกาสเหล่านั้นเป็นพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเอไอเอสก็ยอมรับว่าโดน รับน้อง ไม่ใช่น้อย แต่ก็เป็นโอกาสเดียวที่ต้องไปเพื่อขึ้นเป็น เบอร์ 1 ให้ได้ไม่ว่าจะ ควบรวม กับ 3BB หรือไม่ก็ตาม
ขึ้นเบอร์ 3 แซง NT เรียบร้อย
จริง ๆ แล้ว เอไอเอสได้ปักเป้าที่จะขึ้นเบอร์ 3 ของตลาดเน็ตบ้านตั้งแต่ปี 2021 แม้จะเติบโตได้ตามเป้าแต่ก็ไม่ได้ขึ้นเป็นเบอร์ 3 อย่างหวัง เพราะการรวมกันของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT สู่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที (NT)
แต่ตัวเลข ณ ไตรมาส 2 เอไอเอสสามารถสร้างการเติบโตถึง 22% ทำให้ขึ้นเป็นเบอร์ 3 ด้วยจำนวนผู้ใช้ 1.97 ล้านราย แซงหน้า NT ที่มีผู้ใช้งาน 1.9 ล้านราย โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้เอไอเอสสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วมาจากการ ขยายพื้นที่ให้บริการ ประกอบกับ ฐานลูกค้าโมบาย ที่เอไอเอสมีกว่า 44 ล้านเลขหมาย ทำให้เมื่อเข้าไปเปิดให้บริการในพื้นที่ไหน ลูกค้าโมบายที่รอใช้งานเน็ตบ้านของเอไอเอส โดยปัจจุบันกว่า 80% ของฐานลูกค้าเน็ตบ้าน ล้วนเป็นลูกค้าโมบายทั้งสิ้น
โอกาสเติบโตมี แต่ไม่ใช่ทุกคนใช้เน็ตบ้าน
สำหรับตลาดโมบายในปัจจุบัน จำนวนเลขหมายนั้นมากกว่าจำนวนประชากรไทยไปนานแล้ว การแข่งขันจึงเน้นไปที่การดึงลูกค้าย้ายค่ายหรือเบอร์ที่ 2-3 แต่สำหรับเน็ตบ้านนั้นดูเหมือนจะยังมีช่องว่างให้เติบโตมากกว่า โดย Internet Broadband Penetration ในประเทศไทย ปัจจุบันมีประมาณ 58.8% หรือราว 13 ล้านครัวเรือน จาก 20 ล้านครัวเรือน
แม้ว่าจะดูเหมือนตลาดยังเปิดกว้าง แต่จะเป็นในส่วน ต่างจังหวัด เพราะในกรุงเทพฯ ตลาดแทบไม่มีที่ว่างแล้ว นอกจากนี้ ลูกค้าบางคนยังมองว่า เน็ตบ้านไม่จำเป็น เพราะใช้งานโมบายอยู่แล้ว ไม่อยากเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนอีก ส่งผลให้การแข่งขันเน็ตบ้านจึงรุนแรงไม่ต่างกับโมบาย ทั้งในแง่ความเร็ว และราคา ส่งผลให้ ARPU หรือรายได้เฉลี่ยต่อลูกค้าที่ลดลง 6-7% ต่อปี หรือราว 400 กว่าบาท/เดือน
ส่งผลให้ปัจจุบัน ราคาเริ่มต้นของตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 399 บาท/เดือน สำหรับเอไอเอสเองมีลูกค้ากลุ่มเริ่มต้นประมาณ 30% ส่วนกลุ่มกลางราคา 499 บาท/เดือน มีสัดส่วนราว 60% ส่วนกลุ่มบนราคา 799 บาท/เดือน มีส่วนแบ่งราว 10%
“การแข่งขันในต่างจังหวัดตอนนี้รุนแรงกว่าในกรุงเทพฯ ยิ่งเราเป็นน้องใหม่ที่พึ่งเข้าไปทำตลาดในพื้นที่นั้น ๆ เราก็โดนคู่แข่งที่อยู่มานานรับน้อง และจากสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ การแข่งราคาเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ธนิตย์ ชัยยะบุญธนิตย์ รักษาการกรรมการผู้จัดการธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ AIS บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าว
เน้นคุณภาพ เลี่ยงสงครามราคา
ธนิตย์ ย้ำว่า เอไอเอสไม่ได้เริ่มสงครามราคาต้องการ ต่อสู้อย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงพยายามจะโฟกัสที่บริการเป็นหลักเพื่อให้เกิดความมั่นใจและ บอกต่อ ของลูกค้า โดยที่ผ่านมาเอไอเอสเน้นการสื่อสารในด้านบริการ 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้ง การส่งช่างเข้าไปแก้ปัญหา และ Call Center
ล่าสุด ได้เปิดตัว High Performance เราท์เตอร์ AX5400 Port LAN 2.5Gbps รองรับการใช้งานที่ความเร็วแรงระดับ 2Gbps ผ่าน LAN โดยจะเน้นจับกลุ่มบนในราคาค่าบริการ 1,339 บาท/เดือน นอกจากนี้ ยังนำ AI มาปรับใช้ร่วมกับเราท์เตอร์ เพื่อเสริมศักยภาพและความสามารถในการส่งสัญญาณ Wi-Fi อัจฉริยะ ที่สามารถจัดสรรการใช้งานให้สอดรับกับพฤติกรรมหลากหลายของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เรายังต้องรักษาภาพลักษณ์ ความเป็นเลิศ ทั้งเน็ตเวิร์กและเซอร์วิส ต้องทำให้เขารู้สึกว่า เร็วกว่า ดีกว่า ง่ายกว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้ลูกค้าเห็น เพราะอย่างในหมู่บ้านหรือชุมชน เขาก็จะคุยกันว่าใช้อินเทอร์เน็ตค่ายไหนอยู่ ดีหรือไม่ดี”
ดึง ต่อ-ธนภพ พรีเซ็นเตอร์ใหม่
ในปีที่ผ่านมา เอไอเอส ไฟเบอร์คว้าเอา เวียร์–ศุกลวัฒน์ คณารศ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อสื่อถึงมาตรฐานบริการ 24 ชั่วโมง โดยสาเหตุที่เลือกเวียร์เป็นเพราะเวียร์เรียนจบวิศวะ ดังนั้น จึงเหมาะที่จะใช้สื่อสารถึงภาพลักษณ์ทีม Engineer และบริการหลังการขาย
ส่วนเบอร์ 1 ไม่น้อยหน้า จับเอา หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย ที่กำลังโด่งดังจากรายการ โหนกระแส เพื่อที่จะเข้าถึง คนทุกวัย ส่วนเอไอเอสเองต้องการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงเลือก ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร เพื่อสร้างภาพให้เอไอเอส ไฟเบอร์ดู เด็กลง และเป็นที่รู้จักในหมู่วัยรุ่นมากขึ้น
“พรีเซ็นเตอร์มีผลมาก เพราะถ้าศิลปินที่ติดตามใช้อะไร แฟนคลับก็พร้อมจะสนับสนุน ยิ่งพรีเซ็นเตอร์ใช้งานสินค้าจริง แฟนคลับก็ยิ่งอิน”
คาดดีล 3BB จบ Q1 ปีหน้า
สำหรับดีลการเข้าทำการซื้อกิจการ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ เจ้าของกิจการอินเทอร์เน็ต 3BB มูลค่า 19,500 ล้านบาท เอไอเอสระบุว่ายังอยู่ในการพิจารณาของกสทช. ซึ่งถ้าทางกสทช. อนุมัติ คาดว่าจะปิดดีลได้ภายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566
อย่างไรก็ตาม ธนิตย์ ย้ำว่า การรวมลูกค้าของทางเอไอเอส ไฟเบอร์ และ 3BB นั้นอาจจะไม่ได้ช่วยให้เอไอเอสขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดเน็ตบ้านทันที เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าเอไอเอสยังมีช่องว่างห่างเจอเบอร์ 1 พอสมควร และมองว่าหากรวมกับ 3BB แล้ว การแข่งขันจะยังดุเดือด เพราะเบอร์ 1 ก็ต้องพยายามรักษาฐานลูกค้าของตัวเอง
“รวมกับ 3BB คงจะยังไม่ได้ทำให้เราเป็นเบอร์ 1 ทันที เพราะตอนนี้ 3BB มีลูกค้าประมาณ 2.4 ล้านราย ส่วนเราคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีลูกค้าเติบโตเป็น 2.2 ล้านราย หรือมีมาร์เก็ตแชร์ 19-20% ในตลาด”
คงต้องรอดูว่า ควบรวมได้ไหม และถ้าได้ถึงจะไม่ขึ้นเบอร์ 1 ในทันที แต่ต้องยอมรับว่า ใกล้มาก เพราะลูกค้า ทรูออนไลน์ มีราว 4.8 ล้านราย จากนี้ต้องจับตาดูว่าทรูจะวางกลยุทธ์อย่างไรหากจะ รักษาเบอร์ 1 ในตลาดเน็ตบ้าน เพราะต้องอย่าลืมว่าเอไอเอสยังมีลูกค้าอีกกว่า 40 ล้านคนในมือ ที่พร้อมจะเลือกใช้เน็ตบ้านกับค่ายที่คุ้นเคย