คุยกับ “ธนิดา ซุยวัฒนา” กับเส้นทาง 10 ปี “ลาซาด้า” แลนด์สเคปของอีคอมเมิร์ซที่เปลี่ยนไป

เส้นทางของลาซาด้า หนึ่งในผู้เล่นตลาดอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในไทย ธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็นการเผาเงินมากที่สุด ลาซาด้าเข้ามาในยุคที่ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคยกับการช้อปปิ้งออนไลน์ จนกระทั่งโลกดิจิทัลได้ดันพฤติกรรมช้อปออนไลน์เป็นกิจกรรมหลักของชาวเน็ตจนได้

ปีแรกท้าทายสุด

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็จริง แต่ก็ยังเป็นธุรกิจที่ไม่ทำกำไร ผู้ประกอบการหลายรายยังประสบปัญหาขาดทุนหลายพันล้าน เนื่องจากต้องในงบลงทุนในการอัดโปรโมชัน ทำการตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ลาซาด้าเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่เข้ามาทำตลาดในไทยได้ 10 ปีแล้ว เรียกว่าเข้ามาตั้งแต่ช่วงที่ตลาดอีคอมเมิร์ซยังไม่เป็นที่รู้จัก ผ่านช่วงการเผาเงิน การแข่งขันอันดุเดือด จากมีผู้เล่นในตลาดหลายราย จนตอนนี้มียักษ์ใหญ่ที่ยืนหยัดอยู่ได้ 2 ราย

ธนิดา ซุยวัฒนา หรือ มอลลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ (CBO) บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) ผู้ทำงานร่วมกับลาซาด้ามาแล้ว 6 ปี ได้เริ่มเล่าว่า

“ช่วงแรกที่เข้ามาทำตลาด ตั้งแต่ลูกค้ายังไม่รู้จักอีคอมเมิร์ซ เป็นปีแห่งการให้ความรู้ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย เป็นความยากของแพลตฟอร์ม ต้องให้ความรู้ ทำให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโต สมัยนั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนมีจำกัด แต่ปัจจุบันไม่ต้อง Educate แล้ว ตอนนี้อัตราคนใช้มือถือ 90% ระบบการชำระเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น น่าเชื่อถือ เป็นปัจจัยเสริมทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโต ตอนนี้ยังมีสิ่งใหม่ๆ ในตลาดตลอด ต้องตามเทรนด์ คาดเดาเทรนด์”

ธนิดาเสริมข้อมูลอีกว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้บริโภครายใหม่ 1 ล้านรายที่เข้ามาใช้ออนไลน์ และมีผู้บริโภค 36.6 ล้านราย ซื้อของออนไลน์ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 43.5 ล้านรายในปี 2568

สำหรับธนิดา เป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารที่ลาซาด้า ประเทศไทย มีประสบการณ์ 10 ปีในด้านอีคอมเมิร์ซ ได้ร่วมงานกับลาซาด้าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดในเดือนมกราคม 2561 และล่าสุดเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ

ก่อนหน้าที่จะมาร่วมงานกับลาซาด้า ธนิดาเคยเป็นผู้อำนวยการระดับภูมิภาคด้านการเงิน และธุรกิจอัจฉริยะของบริษัทสตาร์ทอัพ aCommerce และ Ensogo LivingSocial ได้นำความเชี่ยวชาญด้าน Big Data การวางแผนเชิงกลยุทธ์ และการระดมทุนมาใช้สำหรับ 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ยังเคยร่วมงานกับ Ernst & Young ในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 4 ปี ในตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินระดับอาวุโส ธนิดาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจทางการเงินจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และถือใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชี (CPA) ของไทย

COVID-19 จุดเปลี่ยนที่สุด

ถ้าถามว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงปีแรกเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุด ช่วงที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สุดคงจะหนีไม่พ้นช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก วิกฤตนี้ส่งกระทบในเชิงกว้างทั้งทางธุรกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ตลาดอีคอมเมิร์ซบูมขึ้น คนเข้ามาใช้งานมากขึ้น จนกลายเป็นพฤติกรรมปกติ

มีข้อมูลว่า ในปี 2563 ช่วงที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนักไปทั่วโลก ในโซนอาเซียนมีคนใช้งานอินเทอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านราย การใช้งานออนไลน์มากขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน

ธนิดาบอกว่า ช่วง COVID-19 สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในวงการอีคอมเมิร์ซจริงๆ ทั้งในแง่ของผู้ซื้อ และผู้ขาย กลายเป็นว่าอีคอมเมิร์ซไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ต้องใช้ มีผู้ขายที่ต้องการเข้าหาแพลตฟอร์มมากขึ้น ทางแพลตฟอร์มเองก็มีแพ็กเกจมาช่วยร้านค้า งดค่าคอมมิชชั่น และพัฒนาเรื่องการชำระเงินให้ดีขึ้น

สินค้าที่ขายดีตลอดช่วง COVID-19 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าตกแต่งบ้าน เพราะมีการอยู่บ้านเยอะ ได้แก่ โคมไฟ, อุปกรณ์ทำสวน, ก้านไม้น้ำหอม และเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ

แลนด์สเคปอีคอมเมิร์ซเปลี่ยนไป

อีกหนึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เห็นได้ชัด ตอนนี้การซื้อของออนไลน์ได้กระจายเข้าไปในระดับชุมชนแล้ว แต่ก่อนจะเห็นการซื้อของออนไลน์ส่วนใหญ่จะอยู่เฉพาะคนในเมือง หรือหัวเมืองใหญ่ แต่ตอนนี้ทุกตำบล หมู่บ้านเล็กๆ ก็มีสั่งของออนไลน์แล้ว

รวมไปถึงสินค้าที่ขายในแพลตฟอร์มก็หลากหลาย ของชิ้นใหญ่ ของพรีเมียม ของชำ อาหาร หรือของเล็กๆ น้อยๆ ก็มีขาย จากแต่เดิมที่ผู้บริโภคไม่เปิดใจ ไม่กล้าซื้อของออนไลน์ เพราะกลัวโดนโกง ก็ซื้อของมากขึ้น จนบางครั้งอาจมีการเทียบราคาในช่องทางออนไลน์ก่อนซื้อด้วยซ้ำไป

ถึงแม้ว่าปีนี้จะเจอกับปัจจัยความผันผวนรอบด้าน แต่ผู้ใช้งานของลาซาด้าก็ยังเติบโต 2 เท่าจากปีที่แล้ว อาจจะมีกระทบในเรื่องของกำลังซื้อบ้าง เพราะการจับจ่ายใช้สอยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโดยรวม เพียงแค่ปริมาณการซื้อถี่ขึ้น แต่จำนวนราคาเล็กลง เพราะราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการซื้อสินค้า 52% ของนักช้อปยังคงรอส่วนลด หรือดีลปังๆ อาจจะเอาสินค้าใส่ตะกร้าไว้ก่อน แต่รอส่วนลดทีหลัง

ยังเป็นเด็ก ต้องพัฒนาอีกเยอะ

ถ้าถามว่าตอนนี้ลาซาด้าอยู่ในช่วงของยุคไหน ธนิดาบอกว่า ยังเป็นเด็กอยู่ ยังไม่วัยรุ่นมาก ยังต้องมีพัฒนาการอีกเยอะ ทั้งในเรื่องการวางรากฐานของระบบโลจิสติกส์ หลังจากอยู่กับอาลีบาบาก็ได้ในเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

สำหรับเป้าหมายของลาซาด้านั้น ในระยะสั้นเป็นการรีเฟรชแบรนด์ให้ทันสมัยขึ้น และสร้างความแข็งแกร่ง มีอีเวนต์เสมือนจริง มีการลงทุนด้านโลจิสติกส์ และดิจิทัลต่อเนื่อง ส่วนเป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2573 อยากให้บริการลูกค้า 300 ล้านรายทั่วโลก และมียอดขายออนไลน์ 3.5 ล้านล้านบาท