มะเร็งถือเป็นโรคที่มีสถิติการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และในแต่ละปีมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย 90 % ของการเกิดโรคมะเร็งเกิดจากปัจจัยภายนอกและการปฏิบัติตัวให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เช่น อาหารการกิน ความเครียด การติดเชื้อไวรัส การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เป็นต้น ดังนั้น การรักษามะเร็งจึงมีการพัฒนาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้นและเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยที่สุด
นพ.วิกรม เจนเนติสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า การรักษามะเร็งมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจุบันในประเทศไทยได้มีการคิดค้นการรักษามะเร็งด้วย “วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคล” ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อการรักษามะเร็งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นการรักษาโดยใช้ข้อมูลการกลายพันธุ์ของมะเร็งที่ตรวจพบในผู้ป่วยมาสกัดเป็นวัคซีน เพื่อฉีดกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็งนั้น ๆ และมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับมะเร็งมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีการกลายพันธุ์ของมะเร็งที่ต่างกัน
การรักษามะเร็งด้วยวัคซีนเฉพาะบุคคล จะเริ่มต้นจากการนำชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยมาถอดรหัสทางพันธุกรรม เพื่อตรวจหาการกลายพันธุ์ของมะเร็ง จากนั้นนำมาผลิตเป็นวัคซีนรักษามะเร็งและฉีดกลับเข้าในร่างกาย ซึ่งหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว จะไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด T Cell ให้รู้จักการกลายพันธุ์ของมะเร็งอย่างจำเพาะ และช่วยชะลอหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยลดขนาดก้อนมะเร็ง, ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง หรือกำจัดเซลล์มะเร็งที่ไม่ถูกฆ่าโดยการรักษาวิธีอื่น ๆ เช่น การผ่าตัด ฉายแสง หรือให้ยาเคมีบำบัด โดยการรักษาด้วยวัคซีนสามารถใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งด้วยวิธีการอื่นๆ ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ได้แก่
- การผ่าตัด เป็นการรักษาโรคมะเร็งแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะการรักษามะเร็งในระยะเริ่มต้น เนื่องจากก้อนและการกระจายยังอยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงสามารถรักษาให้หายขาดได้จากการผ่าตัดที่เหมาะสม
- การฉายรังสี เป็นการรักษามะเร็งโดยใช้คลื่นเอกซเรย์ขนาดสูง หรือ คลื่นกัมมันตรังสี เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่ยังมีข้อจำกัดของการรักษาเนื่องจากมีมะเร็งไม่กี่ชนิดที่ตอบสนองต่อการฉายรังสี และมีความจำเพาะค่อนข้างต่ำทำให้เนื้อเยื่อข้างเคียงได้รับผลกระทบ และการฉายรังสีบริเวณกว้างอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในตำแหน่งใหม่ที่โดนรังสีอีกด้วย
- ยาเคมีบำบัด หรือ คีโม เป็นการรักษาที่มีความจำเพาะต่ำ แม้ยาจะออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งแต่ก็ทำลายเนื้อเยื่อดีด้วย ผลข้างเคียงจะเกิดความไม่สุขสบายแก่ผู้ป่วย แต่ก็มีข้อดีของยาเคมีบำบัดคือ ตัวยาจะกระจายไปตามกระแสเลือด จึงสามารถออกฤทธิ์ได้ทั่ว เหมาะกับมะเร็งระยะแพร่กระจายที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งหรือผ่าตัดออกได้หมด
- ฮอร์โมนบำบัด เป็นการให้ฮอร์โมนหรือสารบางชนิด เพื่อยับยั้งฮอร์โมนที่ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากฮอร์โมนบางชนิดสามารถกระตุ้นมะเร็งได้ การรักษาด้วยวิธีนี้จึงปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อยแต่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ไม่กี่ชนิด
- ยามุ่งเป้า เป็นการให้ยารักษาที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็ง มีประสิทธิภาพจำเพาะเฉพาะในรายที่มีการกลายพันธุ์ตรงกับตัวยา อาการข้างเคียงไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับยาเคมีบำบัด
- ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการให้ยาหรือสารเพื่อไปปรับระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่ออกฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง และลดการทำงานของภูมิคุ้มกันบางส่วน
ทั้งนี้ แนวทางการรักษามะเร็งที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทีมแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ในแบบสหสาขาวิชา ร่วมกันดูแลผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสม เพื่อร่วมวิเคราะห์หาแนวทางที่เหมาะสม ได้ผลดี และเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยที่สุด