แซวกันเยอะ! แต่ปรากฏว่า Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta คือเรื่องที่ดีในเชิงการตลาด

Metaverse
Photo : Shutterstock
ตั้งแต่ Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta เพื่อสะท้อนวิสัยทัศน์ใหม่ขององค์กรที่จะเข้าสู่โลกเมตาเวิร์ส ใครๆ ต่างเพ่งเล็งและวิพากษ์วิจารณ์ แต่ปรากฏว่าการเปลี่ยนชื่อบริษัทและแบรนดิ้งกลายเป็นเรื่องที่ดีในเชิงการตลาด

เสียงโจมตี “มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก” ยิ่งดังมากขึ้นตั้งแต่บริษัทเปลี่ยนไปมุ่งเน้นโลกเมตาเวิร์ส ทำให้ดูราวกับว่าการเปลี่ยนชื่อและจุดประสงค์บริษัทจาก Facebook Inc. เป็น Meta นั้นเป็นความผิดพลาดในเชิงแบรนดิ้ง

ทว่าความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น อ้างอิงจากดัชนี FutureBrand Index ที่จัดอันดับ Top 100 บริษัทระดับโลกมานาน 8 ปี โดยวัดจากชื่อเสียงของบริษัทในหลายแง่มุม เช่น ในมุมมองของคนทั่วไปเห็นว่าบริษัทเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้สูงหรือไม่ หรือในเชิงมาร์เก็ตแคปก็นำมารวมด้วย โดยตัวเลขมูลค่านี้ประเมินโดย PwC

ดัชนีนี้ที่จัดในปี 2022 Meta พุ่งขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 5 เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2021 ขณะที่บริษัทยังใช้ชื่อ Facebook ปีนั้นบริษัทอยู่ในอันดับที่ 49

ใครๆ ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนชื่อ แต่การวัดผลของดัชนีนี้บอกให้เรารู้ว่าการเปลี่ยนชื่อคือการพัฒนาแบรนด์ Meta อาจจะถูกนำไปทำเป็นมุกตลก ทั้งจากโร้ดแมปการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดูไม่ชัดเจน อวาตาร์ไร้ขาที่ถูกปล่อยออกมา หรือความพยายามล่าสุดที่จะเปลี่ยนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเองให้กลายเป็น TikTok สาขาสอง แต่สุดท้ายแล้ว หากมองเฉพาะ “ชื่อแบรนด์” การเปลี่ยนไปเรียก Meta แทนคือเรื่องที่เป็นผลดี

Mark Zuckerberg ขึ้นให้การต่อสภาคองเกรสในสหรัฐอเมริกา กรณี Cambridge Analytica นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปใช้ประโยชน์ในโฆษณาทางการเมือง (photo: MARTINEZ MONSIVAIS / wired.com)

การเลื่อนขั้นในการจัดอันดับอาจจะไม่น่าแปลกใจก็ได้ เพราะชื่อ Facebook ดั้งเดิมนั้นเปรอะเปื้อนไปด้วยข่าวฉาวมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา Facebook ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นตัวการเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกความร้าวฉานระหว่างกัน การเป็นเครื่องมือให้กับเผด็จการทั่วโลก การเป็นตัวกลางปล่อยข่าวปลอมเพื่อหวังผลทางการเลือกตั้ง และยังทำให้เด็กวัยรุ่นสูญเสียความมั่นใจ แบรนด์ Facebook จึงกลายเป็นแบรนด์ที่มีภาพเป็นลบไปแล้วตั้งแต่ปีก่อน

การจัดอันดับของ FutureBrand ทำให้เห็นว่า การที่บริษัทเปลี่ยนตัวเองให้มีภาพลักษณ์ของการพัฒนา VR เป็นหลัก มากกว่าการพัฒนาโซเชียลมีเดีย อาจจะสลัดหลุดจากสิ่งเหล่านี้ได้ จากการสำรวจผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามพบว่า Meta ได้คะแนนที่ดีขึ้นมากเพราะคนมองว่าบริษัทกำลังมองไปที่อนาคต มากกว่าจะยึดติดอยู่กับอดีต

ทั้งนี้ การเก็บข้อมูลมาตลอดของ FutureBrand จะเห็นได้ว่าการรีแบรนด์ของเทคคัมปะนีรายใหญ่ไม่ได้จะส่งผลดีทุกครั้งไป ตัวอย่างเช่น Google เมื่อครั้งที่เปลี่ยนชื่อบริษัทแม่เป็น Alphabet กลับกลายเป็นว่าทำให้อันดับตกลง

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของการจัดอันดับปี 2022 คือ 10 อันดับแรกที่อยู่ในลิสต์ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่บริษัทที่ผลิตสินค้าในชีวิตประจำวัน ดังที่เห็นตามอันดับด้านล่างนี้

อันดับ 1 NextEra Energy บริษัทโฮลดิ้งผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
อันดับ 2 Reliance Industries Limited  บริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ทำธุรกิจหลากหลาย เช่น พลังงาน ค้าปลีก โทรคมนาคม
อันดับ 3 CATL บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของจีน
อันดับ 4 Tata Consultancy Services บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นส่วนหนึ่งของเครือ Tata จากอินเดีย
อันดับ 5 Meta บริษัทโซเชียลมีเดียจากสหรัฐฯ ที่กำลังผันตัวไปสู่โลกเมตาเวิร์ส
อันดับ 6 Nvidia บริษัทเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จากสหรัฐฯ
อันดับ 7 Apple บริษัทเทคโนโลยี เชี่ยวชาญด้านฮาร์ดแวร์สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์
อันดับ 8 Abbvie บริษัทด้านเภสัชกรรมจากสหรัฐฯ
อันดับ 9 TSMC บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวัน
อันดับ 10 ASML บริษัทสัญชาติดัตช์ผู้ผลิตระบบลิโทกราฟีแบบใช้แสงที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สามารถติดตามลิสต์ Top 100 FutureBrand ได้ที่นี่

Source