เมื่อตลาดแมสไม่โต ตลาดแชมพูพรีเมียมจึงเป็นเป้าหมายที่ผู้ผลิตแชมพูต่างก็พยายามช่วงชิงกันอย่างหนักมาตลอด จนล่าสุดจึงต้องแตกไลน์สร้างเซ็กเมนต์ใหม่เพื่อให้ตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้น คราวนี้มาในรูปของ “แชมพูไฮบริด” หรือแชมพูที่เคยวางจำหน่ายในซาลอน ซึ่งมีภาพลักษณ์ความเชี่ยวชาญ โดยเน้นช่องทางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต และ Selective Channel อย่างวัตสัน และบูทส์ เช่น ไซออส วิดัล แซสซูน ฯลฯ รวมถึงน้องใหม่ในตระกูลซันซิลที่วางตลาด เคราติโนโลจี บาย ซันซิล ซึ่งล้วนชูจุดขายของเทคโนโลยีและภาพลักษณ์พรีเมียมที่เหนือกว่าแชมพูระดับแมส โดยจำหน่ายในราคาสูงกว่า เป็นการเพิ่ม Value ให้กับตลาดแชมพู และยังตอบโจทย์ความต้องการของผู้หญิงไทยที่มีพฤติกรรมสลับซับซ้อนในการดูแลสุขภาพเส้นผมได้อีกด้วย
นอกจากภาพลักษณ์ที่ชูความเชี่ยวชาญในการดูแลเส้นผมแบบซาลอนและสูตรที่พรีเมียมกว่าแล้ว ยังแข่งกันที่บรรจุภัณฑ์ ดีไซน์เด่น ทั้งรูปทรง สลาก เพื่อดึงดูดสายตาและสร้างความแตกต่างบนชั้นวาง ยังส่งผลให้ตั้งราคาสูงขึ้นจากแชมพูระดับแมสราว 10-30% เช่น เคราติโนโลจี บาย ซันซิล มีสนนราคา 119-359 บาท แต่เมื่อเทียบกับแบรนด์ที่จำหน่ายในซาลอน โดยเฉพาะแล้วกลับมีราคาถูกกว่า
“พรีเมียมมีหลายมิติ คือ ออกสินค้าแบรนด์เดิมแต่มีคุณภาพสูงขึ้น หรือออกไลน์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านได้ดียิ่งขึ้น” วรศิษย์ ตุรงค์สมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ประจำประเทศไทย บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บอก
โดยกลุ่มแชมพูลูกผสมเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่สลับซับซ้อนของผู้บริโภคยุคใหม่ เน้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทรีตเมนต์และมาร์สกแบบล้ำลึก เช่น ทรีตเมนต์บำรุงผมตอนเช้า ตอนกลางคืน สเปรย์ป้องกันเส้นผมจากความร้อน เป็นต้น
อีกเหตุสำคัญคือเซ็กเมนต์บิวตี้แข่งขันกันแบบรอบด้าน โดยเฉพาะสงครามราคา ทำให้แม้แต่ละแบรนด์จะขายดี แต่มูลค่าตลาดกลับไม่โต ปีนี้ยังมีแบรนด์กลับเข้ามาทำตลาดอีกครั้งพร้อมกลยุทธ์ช่องทางแบบ Selective Channel อย่างวิดัล แซสซูน ซึ่งทั้งไซออสจากญี่ปุ่นโดย เฮงเคล และวิดัล แซสซูนจากสหรัฐอเมริกาโดยพีแอนด์จี ล้วนจำหน่ายในซาลอนมาก่อน
ผู้เล่นในตลาดแชมพูต่างดิ้นหาทางโต ทั้งการแต่งตัวใหม่ ปรับสูตร หรือแม้กระทั่งแตกแบรนด์เพิ่ม วรรณิภา ภักดีบุตร รองประธานกรรมการบริหารด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ความงาม บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด บอกว่า “เทรนด์ของผู้หญิงวัยทำงานรุ่นใหม่มักเกาะติดเทรนด์แฟชั่นโดยเฉพาะแฟชั่นผม ผู้หญิงกลุ่มนี้จะเข้าซาลอนเฉลี่ยเดือนละ 2-3 ครั้ง เพราะพวกเธอรู้สึกมั่นใจเมื่อได้รับการดูแลจากซาลอน ทั้งการสระ ไดร์ การดัด ยืด ทำสี แต่เมื่อกลับมาถึงขั้นตอนการดูแลผมด้วยตัวเองที่บ้าน กลับไม่สามารถดูแลผมให้สวยเหมือนตอนออกมาจากซาลอนใหม่ๆ”
ด้านแพนทีนแม้จะไม่แตกซับแบรนด์ใหม่ (ในโกลบอล มีแพนทีน คลีนิคแคร์ พัฒนาร่วมกับเวลล่า) แต่ก็สร้างภาพลักษณ์พรีเมียมอีกครั้ง ด้วยการส่งแคมเปญ “Break the Cycle” หรือการทำลายวัฏจักรที่นำมาสู่ผมเสียอย่างไม่จบสิ้น เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบของผู้หญิงยุคใหม่ ที่ต้องการได้รับการปรนนิบัติผมเหมือนที่ซาลอน อันเป็นอีกทิศทางหนึ่งของการยกระดับความเชี่ยวชาญของแบรนด์แพนทีนสู่ความเป็นพรีเมียมที่พยายามทิ้งห่างคู่แข่งมากขึ้น พร้อมทัพแบรนด์ แอมบาสเดอร์ 4 คน) คือ นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี รถเมล์ คะนึงนิจ จักรสมิทธานนท์ แอน ทองประสม และล่าสุดนัท มีเรีย เบเนเนตตี้
แชมพูไฮบริด จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าจับตา แม้จะมีราคาสูงกว่าเคยแต่ใช่ว่าผู้หญิงไม่ยอมจ่าย
มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและความสะอาดเส้นผม 10,000-13,000 ล้านบาท | |
แชมพู | 70% |
ครีมบำรุงผมและทรีตเมนต์ | 30% |
ส่วนแบ่งการตลาด (by company) | |
ยูนิลีเวอร์ | 47.7% |
พีแอนด์จี | 31% |
อื่นๆ (คาโอ ลอรีอัล เฮงเคล ฯลฯ) | 21.3% |
ส่วนแบ่งการตลาด (by brand) | |
ซันซิล | 23% |
แพนทีน | 16% |
เคลียร์ | 13% |
โดฟ | 11.3% |
เฮดแอนด์โชลเดอร์ | 6.8% |
เฮอร์บัล เอสเซนส์ | 1.4% |
อื่นๆ | 29.5% |