“พรานไพร” ผักสดติดแบรนด์ ความหวังใหม่ของพรานทะเล

เมื่อวัตถุดิบทั้งกุ้ง ปลา และปลาหมึก ซึ่งใช้ในการทำอาหารทะเลแช่แข็ง ราคาพุ่งสูงขึ้นทุกปีเฉลี่ย 30-50% พรานทะเลจึงต้องแสวงหาโอกาสจากตลาดอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะตลาดที่มีวัตถุดิบจำนวนมหาศาลอย่าง “ผักสด” ที่ต้องขนทิ้งกันวันละหลายคันรถ หลังพบว่าธุรกิจ OEM ผักสดที่ทำให้กับเทสโก้ โลตัส มานานกว่า 2 ปี ไปได้สวย

เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา พรานทะเลเทกโอเวอร์ธุรกิจโรงงานผักมาจากบริษัท กู๊ดดี้ จำกัด ในมูลค่า 18 ล้านบาท และตั้งชื่อแบรนด์ใหม่เป็น “พรานไพร” ซึ่งเป็นแบรนด์สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งที่ไม่ใช่ซีฟู้ด และต่อยอดออกมาเป็นผักสด-ผักตัดแต่งติดแบรนด์

อนุรัตน์ โคว้คาศัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาดและฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บอกว่า “ขณะนี้คู่แข่งในตลาดผักตัดแต่งยังมีน้อยรายและไม่โดดเด่น ถ้านึกถึงผักตัดแต่งติดแบรนด์ นึกไม่ออกเลยว่ามีแบรนด์ไหนบ้าง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานเล็กๆ ทำยากเพราะแปลงปลูกต้องได้รับมาตรฐาน GMP แต่พรานไพรจะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น และต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักภายใน 3 ปีและตั้งเป้ามียอดขาย 500 ล้านบาท”

การสร้างแบรนด์ผักพรานไพร จะใช้โมเดลเดียวกับพรานทะเล คือ นำสินค้าทั่วไปที่ไม่นิยมหรือไม่เคยติดแบรนด์มาก่อน มาติดแบรนด์และสร้างแบรนด์จนกลายเป็น Top of Mind ในใจผู้บริโภค

อนุรัตน์ประเมินว่ามูลค่าของตลาดผักตัดแต่งในโมเดิร์นเทรดมีมากกว่า 3,000 ล้านบาท เฉพาะเทสโก้ โลตัส อาจมีสูงถึง 1000 ล้านบาท เพราะผักตัดแต่งที่พรานไพรนำส่งให้กับเทสโก้ โลตัส มูลค่า 300 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 30% ของผักตัดแต่งทั้งหมดที่เทสโก้ โลตัสสั่งจากซัพพลายเออร์

พรานไพรเตรียมเปิดตัวผักตัดแต่งในรูปแบบรีเทล แพ็ก โดยเริ่มต้นที่กูร์เม่ต์ มาร์เก็ต สยามพารากอนและท็อปส์ โดยจะเน้นกลยุทธ์โปรโมชั่นและสื่อ ณ จุดขาย ซึ่งยังไม่มีคู่แข่งรายใดทำ

ปัจจุบันมี Contract Farming รายใหญ่ 4-5 ราย ทั้งผักบุ้ง กะหล่ำปลี ผักกาดขาว มะนาว ฯลฯ รวมกันมีผักราว 50-60 ชนิด

อนาคตยังสนใจผักออร์แกนิกและไฮโดรโพนิก ซึ่งเป็นที่ต้องการของบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะเป็นเทรนด์สุขภาพที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการต่อยอดไปยังผลไม้ต่างๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าใกล้เคียงกัน และยังมองไกลถึงตลาดส่งออกต่างประเทศด้วย

ขณะที่ตลาดในประเทศสนใจที่จะทำเซตเมนูพร้อมปรุง (TV Dinner) ซึ่งผสานวัตถุดิบทั้งซีฟู้ด หมู ไก่ และผักนานาชนิดที่มี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตต่อไป

หลังทุ่มงบการตลาดและโฆษณาเพื่อสร้างแบรนด์มาอย่างหนักตลอดระยะเวลาเกือบ 7 ปีที่ผ่านมา แม้ผลที่ได้จะนับว่าคุ้มค่าเพราะคนรู้จักแบรนด์ “พรานทะเล” ในฐานะซีฟู้ดติดแบรนด์รายแรกของไทย แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรานทะเลประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด แต่ปี 2554 นี้จะเป็นปีแรกที่มีผลกำไร ราว 20%

ปัจจุบันพรานทะเลมียอดขาย 1,200 ล้านบาท ขณะที่พรานไพรมียอดขาย 300 ล้านบาท

มูลค่าตลาดและสัดส่วนการขายของพรานทะเล
Ready-to-Cook เฉพาะซีฟู้ด 1,000 ล้านบาท 30%
Readty-to-Eat 3,600 ล้านบาท 30%
Sushi ในโมเดิร์นเทรด 700 ล้านบาท 30%
ฟู้ดคอร์ท 1,500 ล้านบาท 10%