IMF ชี้เงินเฟ้อทั่วโลกกำลังทำจุดสูงสุดแล้ว ย้ำปัญหา Supply Chain ทำค่าครองชีพสูงขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ให้มุมมองถึงเรื่องของเงินเฟ้อที่กำลังสร้างปัญหาแก่เศรษฐกิจโลก ณ ตอนนี้นั้น โดยเธอให้ความเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้ว แต่ผู้บริโภคเองอาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยของ Supply Chain ที่กำลังแยกตัวออกจากกัน ซึ่งจะทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อลดลงได้ช้า

คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้ว และเธอยังเตือนถึงความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะเผชิญและแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นเนื่องจากการล่มสลายในห่วงโซ่อุปทานของโลก

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันการบุกยูเครนของรัสเซียได้ทำให้ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้เองเธอยังชี้ว่าธนาคารกลางในแต่ละประเทศพยายามที่จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันเธอยังได้เตือนเรื่องการแยกห่วงโซ่การผลิตออกจากกัน และจะทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อที่จะกลับไปสู่ช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 2% ต้องใช้เวลายาวนานขึ้นด้วย

ผู้อำนวยการของ IMF ยังได้ชี้ถึงความปลอดภัยของ Supply Chain ก็มีส่วนสำคัญ และการกระจายตัวของ Supply Chain นั้นส่งผลทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รายงานของ IMF ได้คาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่จะทำจุดสูงสุดในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่ง IMF คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ที่ 9.5% และตัวเลขจะลดลงเหลือ 4.1% ในช่วงปี 2024

ในช่วงที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้ให้ความเห็นถึงเรื่องความขัดแย้งของมหาอำนาจ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้การย้ายฐานการผลิต รวมถึงโยกย้าย Supply Chain ที่เกี่ยวข้องไปยังแหล่งผลิตใหม่ หรือไม่ก็เป็นแหล่งผลิตสินค้าที่ใกล้กับลูกค้ามากที่สุด แม้ว่าสินค้านั้นราคาจะแพงขึ้นก็ตาม

ที่มา – The Guardian