LINE MAN Wongnai เดินหน้าล่า “เทคทาเลนต์ต่างชาติ” อัพทีมเทคโนโลยีชนคู่แข่งระดับโลก

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารและข้อมูลด้านไลฟ์สไตล์ จนกระทั่งปี 2020 วงใน (Wongnai) ได้ถูก ไลน์แมน (LINE MAN) แพลตฟอร์ม on-demand ส่งอาหารและส่งของของ LINE เข้าควบรวมกิจการในมูลค่า 3,300 ล้านบาท และได้รับเงินลงทุนรอบซีรีส์บีมูลค่า 9,700 ล้านบาท ทำให้ LINEMAN Wongnai ขึ้นเป็น ยูนิคอร์น ของไทย และหนึ่งในสิ่งที่บริษัทจะเร่งพัฒนาก็คือ การขยายทีมเทคโนโลยี โดยเร่งดึง เทค ทาเลนต์ เพื่อให้สู้กับแพลตฟอร์มระดับโลกได้

รู้จักโครงสร้างทีมเทคLINE MAN Wongnai 

หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของสตาร์ทอัพก็คือ เทคโนโลยี ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีของ LINE MAN Wongnai ก็คือ ภัทราวุธ ซื่อสัตยาศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี LINE MAN Wongnai ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Wongnai โดยหลังจากที่ระดมทุนรอบซีรีส์บีมาได้ หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนก็คือ ทีมเทคโนโลยีที่จะขยายจาก 350 เป็น 450 คน

ในส่วนของผู้ใช้ทั่วไปคงจะคุ้นชินกับแอป LINE MAN แต่จริง ๆ แล้วยังมีอีก 2 ส่วนก็คือ แอปสำหรับ ไรเดอร์ และ ร้านค้า ซึ่งปัจจุบันมีไรเดอร์กว่า 3 แสนราย และร้านค้าพันธมิตร 9 แสนร้านค้า นอกจากนี้ยังมีการทำ POS ให้กับร้านค้าที่มีหน้าร้าน ซึ่งอีโคซิสเต็มส์ทั้งหมดถูกดูแลโดยทีมเทคโนโลยีทั้งหมด 350 คน ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ทีมใหญ่ ๆ ได้แก่

  • Engineering
  • Product
  • Data

เน้นใช้ทาเลนต์ไทยตอบโจทย์คนไทย

ปัจจุบัน 90% ของทีมเทคโนโลยีเป็นคนไทย โดย ภัทราวุธ ให้เหตุผลว่า ต้องการที่จะ ลงลึก ถึงสิ่งที่ลูกค้าไทยต้องการมากกว่า เพราะมีความเข้าใจถึงปัญหา และใกล้ชิดกับร้านค้าพันธมิตร ทำให้สามารถคัสตอมไมซ์เทคโนโลยีได้ตามความต้องการ และภายใต้ความคาดหวังของผู้บริโภคชาวไทยที่ใช้งานแพลตฟอร์มระดับโลกจนชิน ดังนั้น UX/UI ต้องใช้งานง่าย และนำเสนอสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้แต่ละคน (Personalize)

“อย่างตอนมีโครงการคนละครึ่ง เราก็เป็นแพลตฟอร์มแรก ๆ ที่สามารถซิงก์ให้ใช้จ่ายบนแพลตฟอร์ม ซึ่งสิ่งที่ท้าทายของบริษัทเทคโนโลยีไทยคือ เทคทาเลนต์ไทยไม่ได้มีเยอะมาก แต่เราต้องแข่งกับผู้เล่นเจ้าใหญ่ ดังนั้น เราที่มีคนน้อยกว่าก็ต้องลงลึกเพื่อเอาชนะ”

นอกจาการลงลึกความต้องการคนไทยแล้ว แต่กระบวนการทำงานก็เป็นอีกส่วนที่จะทำให้ชนะผู้เล่นรายใหญ่ ซึ่งทาง LINE MAN Wongnai ได้วางเคาเจอร์ในการทำงานไว้ 2 ส่วน ได้แก่ Flat Organization คือ ไม่มีระดับขั้น ทำให้สามารถทำงานได้เร็ว และ Cross-Functional Team ทำงานสอดประสานกันในลักษณะที่สามารถแก้ปัญหาภายในได้เอง

ภัทราวุธ ซื่อสัตยาศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี LINE MAN Wongnai

ถึงเวลาดึงต่างชาติ

แม้ว่าที่ผ่านมา LINE MAN Wongnai จะใช้คนไทยทำงานเป็นหลัก แต่ในการเพิ่มทีมเทคโนโลยีจากนี้ ภัทราวุธ ยอมรับว่าอาจทำให้สัดส่วนของคนต่างชาติเพิ่มเป็น 30% เพราะถึงเวลาที่บริษัทต้องดึงทาเลนต์ต่างชาติที่มีประสบการณ์ในแพลตฟอร์มระดับโลกมาร่วมงาน เพื่อให้ต่อสู้กับคู่แข่งระดับโลก

“แต่ละปีมีคนมาสมัครเทคทีมกับเราหลายหมื่นคน แต่ตอนนี้เราอยากได้คนที่มีประสบการณ์ มีความรู้เฉพาะทาง อยากได้ทาเลนต์ที่มีไมด์เซตสเกลใหญ่ เราเลยต้องไปหาคนจากต่างประเทศ เพราะเราไม่ได้อยู่ในจุดที่ต้องมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ทีมเทคทีมเราแข็งแรงมากขึ้น”

ปัจจุบัน กลุ่มที่ขาดมากที่สุดของบริษัทคือ Platform Engineering, Data Science และ Project Manager เพราะประเทศไทยไม่ได้มีบริษัทเทคโนโลยีเยอะ ทำให้หาคนที่มีประสบการณ์ได้น้อย

มั่นใจเบเนฟิตดึงดูด

ในปีนี้ ทีมเทคโนโลยีเริ่มทำงานแบบรีโมตเวิร์กกิ้ง โดยมีทีมใหม่อยู่ที่เชียงใหม่ตอนนี้มีพนักงานราว 20 คน โดยให้ทำงานที่เชียงใหม่โดยได้เงินเดือนและสวัสดิการณ์เหมือนทำงานในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ทางบริษัทก็มีทีมที่อยู่ในต่างประเทศบ้าง เช่น จีน สิงคโปร์ อินเดีย

“เรามั่นใจว่าค่าตอบแทนของเราไม่น้อยหน้าบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ และอีกสิ่งที่จะดึดงดูดทาเลนต์ต่างชาติคือ เขาจะมาเป็นเฟืองตัวใหญ่ขององค์กรเรา บางคนเขาต้องการสิ่งนี้ เขาไม่ได้อยากจะไปอยู่บริษัทใหญ่แล้วเป็นแค่เฟืองตัวเล็กในองค์กร”

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการเปิดรับนักศึกษาฝึกงานทุกปีต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี โดย ภัทราวุธ ทิ้งว่า LINE MAN Wongnai ไม่ได้อยากเป็นแค่สตาร์ทอัพใหญ่สุดในไทย แต่อยากสร้างแรงบัลดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ๆ และอยากเป็นตัวเลือกแรกที่เขาอยากมาทำงานไม่ต้องไปต่างประเทศ ทำให้เขาเติบโตไปได้เรื่อย ๆ และสร้างอิมแพ็คให้กับสังคมได้