สายฝนที่กระหน่ำลานพารากอนพาร์ค กลับยิ่งทำให้เสียงกรี๊ดของแฟนคลับ 5 หนุ่ม SHINEE ศิลปินค่าย “เอสเอ็มทาวน์” เกาหลีดังกว่าเดิม และพลังนี้นี่เองคือเสียงคอนเฟิร์มว่าการร่วมทุนของค่ายเอสเอ็มทาวน์และกลุ่มทรูวิชั่นส์ คือพันธมิตรธุรกิจที่ถูกคู่ ถูกเวลาของธุรกิจบันเทิง
เป็นบิ๊กดีลที่ทั้งสองค่ายให้ความสำคัญแม้เงินลงทุนไม่สูง เพราะจดทะเบียนบริษัทเพียง 20 ล้านบาท แต่เม็ดเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน บิ๊กบอสของทั้งสองจึงมาเองโดยเอสเอ็ม เอนเตอร์เทนเม้นท์ มี “คิม ยง มิน” ประธานคณะผู้บริหาร บินตรงจากเกาหลีด้วยตัวเอง ส่วนค่ายทรูวิชั่นส์ “ศุภกิต เจียรวนนท์” ประธานคณะกรรมการลูกชายคนโตของเจ้าสัวธนินท์ ที่ปกติจะไม่ค่อยปรากฏตัวเป็นข่าวก็มาเอง
ค่ายธุรกิจบันเทิง “เอสเอ็มทาวน์” เบอร์ 1 ของเกาหลีกำลังรุกตลาดโลกจากเอเชีย อเมริกา และยุโรป ด้วยเป้าหมายต้องการเป็นค่ายเพลงอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนกลุ่มทรูวิชั่นส์กำลังมองหาคอนเทนต์ใหม่เพื่อขยายฐานรายได้ การเจรจาร่วมทุนตั้งบริษัทในไทย “เอสเอ็ม ทรู” จึงใช้เวลาแค่ 6 เดือนก็ลงตัว
ต่อไปนี้ เอสเอ็มทรู จะบริหารลิขสิทธิ์ของศิลปินเพลงทุกเบอร์ของเอสเอ็มทาวน์ ตั้งแต่จัดคอนเสิร์ต การดึงศิลปินเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้แบรนด์ในไทย จนถึงสินค้าที่ระลึก ที่คาดว่าจะทำให้รายได้ของเอสเอ็มทาวน์จากไทยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำากว่า 20% จากเดิมที่เอสเอ็มทาวน์ใช้วิธีเข้าตลาดไทยโดยเจรจาผ่านนายหน้าหลายคน และจัดอีเวนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตเล็กหรือใหญ่
ทรูวิชั่นส์ตัดสินใจลงเล่นกับค่ายเอสเอ็มทาวน์เพราะได้เจอกับตัวเองว่าธุรกิจนี้เบ่งบานและมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน หลังจากที่ทรูมิวสิคเคยจัดคอนเสิร์ต “Super Junior” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าเอลฟ์ (E.L.F ชื่อเรียกคนที่ชื่นชอบวงซูเปอร์จูเนียร์) มากันเพียบ ตั๋วขายหมดภายในไม่กี่ชั่วโมงและบางคนยังบินไกลมาจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียจำนวนมาก
ขณะที่ “คิม ยง มิน” บอกว่าเขาไม่ได้มองหาพันธมิตรธุรกิจที่เป็นค่ายเพลงเพื่อร่วมทุน แต่ต้องการเครือข่ายและช่องทางอย่างกลุ่มทรูฯ ที่ไม่ใช่แค่มีเครือข่ายทีวีเท่านั้น แต่ยังมีช่องทางอื่นอย่างการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่จะทำให้คอนเทนต์ของเอสเอ็มทาวน์เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย เป็นการใช้กลยุทธ์ “การเข้าถึงง่าย” ในการทำตลาด เและส่วนหนึ่งเพื่อต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ดีที่สุด เมืองไทยจึงเป็นประเทศเดียวที่ในโลกที่เอสเอ็มทาวน์ตัดสินใจจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยไม่เพียงบุกไทย แต่จะบุกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตด้วย
1,000 ล้านบาท คือมูลค่าธุรกิจคอนเสิร์ตในไทยต่อปี
40% เป็นสัดส่วนของศิลปินจากเกาหลี
100% คือต้นทุนในการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีที่มากกว่าคอนเสิร์ตไทย เพราะต้องการผลการแสดงที่ดีทั้งแสงสีเสียงที่ส่วนใหญ่นำอุปกรณ์มาจากสิงคโปร์
10% คืออัตราเฉลี่ยกำไรของผู้จัดคอนเสิร์ตเกาหลีในแต่ละครั้ง
ที่มา : ทรูวิชั่นส์