ไขความลับ “รองเท้าแตะ” หนทางเปิดกว้างไอเดียธุรกิจของ “สตีฟ จ็อบส์”

ย้อนไปช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2022 ชาวเน็ตได้เห็นข่าวน่าตื่นใจว่ารองเท้าแตะของสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ถูกประมูลไปในราคา 218,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.8 ล้านบาท ความสนุกของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การส่งต่อรองเท้าแตะของผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิล (Apple) ไปสู่เจ้าของคนใหม่ด้วยราคาสูงลิ่วเท่านั้น แต่อยู่ที่ข้อมูลของสินค้าไม่ธรรมดาชิ้นนี้ ซึ่งสามารถนำเสนอได้เก๋ไก๋จนสะท้อนเคล็ดลับการเฟ้นหาไอเดียของนักธุรกิจพ่อมดระดับโลกได้ชัดเจน

จูเลียนส์ออคชั่นส์ (Julien’s Auctions) บริษัทประมูลที่เป็นเจ้าภาพนำเสนอรองเท้าคู่นี้อีกครั้ง ไม่ได้เล่าเรื่องเพียงแค่ว่าสตีฟ จ็อบส์เป็นเจ้าของ และเคยสวมใส่บ่อยมากจนเก่าระดับ “Well-Used” แต่ลงลึกไปถึงคำสัมภาษณ์ของคริสแซน เบรนแนน (Chrisann Brennan) มารดาของลิซ่า เบรนแนน-จ็อบส์ (Lisa Brennan-Jobs) ลูกสาวคนแรกของจ็อบส์ที่กล่าวว่าด้วยรองเท้านี้ หนุ่มสตีฟในเวลานั้นจะไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจ จึงทำให้มีไอเดียอิสระและคิดอะไรได้เปิดกว้างมากขึ้น

แม้หลายคนอาจเคยได้ยินกิตติศัพท์ของรองเท้าคู่นี้มาแล้วตั้งแต่ถูกจัดแสดงที่อิตาลีในปี 2017 ก่อนจะวนไปโชว์ตัวที่เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รองเท้าแตะซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตัวแทน “ด้านที่เรียบง่าย” ของเจ้าพ่อแอปเปิลได้ถูกประมูลไปพร้อมกับ NFT โดยแสดงเป็นภาพรองเท้าแตะหมุนรอบด้าน 360 องศา ที่เจ้าของจะสามารถนำ “รอยเท้าของสตีฟ จ็อบส์” ไปเป็นทรัพย์สินดิจิทัลได้อีกทอดหนึ่ง

(Photo by Sean Gallup/Getty Images)

ส่วนหนึ่งของเครื่องแบบ

รองเท้าแตะหนังกลับยี่ห้อเบอร์เคนสต๊อก (Birkenstock) สีน้ำตาลคู่นี้ถูกรายงานว่ามหาเศรษฐีผู้ล่วงลับได้สวมใส่เป็นเวลากว่า 20 ปี ในช่วงเวลาที่ทำให้แอปเปิลกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ราคาที่ถูกประมูลไปคือ 218,750 ดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 3 เท่า

จูเลียนส์ออคชั่นส์ย้ำว่าจ็อบส์สวมรองเท้าแตะคู่นี้ในช่วงยุคปี 1970 และ 1980 รวมถึงในขณะที่กำลังเริ่มต้นสร้างธุรกิจคอมพิวเตอร์แอปเปิลรุ่นแรกร่วมกับสตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) ในปี 1976 ตัวพื้นรองเท้ายังคงรักษารอยเท้าของสตีฟ จ็อบส์ไว้ได้หลังจากใช้งานมานานหลายทศวรรษ ขณะที่ข้อมูลจากโฟลบส์ รายงานว่ารองเท้าคู่นี้ออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี 2016 โดยมาร์ก เชฟฟ์ (Mark Sheff) อดีตผู้จัดการบ้านที่ดูแลบ้านของจ็อบส์ในออลบานี แคลิฟอร์เนียในช่วงทศวรรษ 1980

เชฟฟ์เคยเล่าผ่านสำนักอินไซเดอร์ (Insider) ว่าจ็อบส์เป็นคนที่เก็บสิ่งของต่างๆ ไว้น้อยมาก และมักจะโยนทิ้งหรือยกทรัพย์สินที่ครอบครองให้เชฟฟ์ ที่ผ่านมา รองเท้าแตะนี้มีมูลค่าเพียง 2,000 ดอลลาร์ในการประมูลปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 5 ปีหลังจากที่จ็อบส์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

ที่ผ่านมา รองเท้าแตะเบอร์เคนสต๊อกกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิล และเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการหลายแห่ง ทั้งที่สำนักงานใหญ่ของเบอร์เคนสต๊อกในประเทศเยอรมนี และที่ร้านเบอร์เคนสต๊อกแห่งแรกในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในเวลานั้น นิตยสาร Vogue ปี 2017 ตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์ของคริสแซน เบรนแนนว่ารองเท้าแตะคู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของด้านที่เรียบง่ายของจ็อบส์ และจ็อบส์เป็นผู้ชายที่จะไม่ทำหรือซื้ออะไรเพียงเพื่อให้โดดเด่นจากคนอื่น เนื่องจากจ็อบส์เชื่อมั่นในประสิทธิภาพและการใช้งานจริงของการออกแบบและความสบายในการสวมใส่

(Photo by David Paul Morris/Getty Images)

คริสแซนเชื่อว่า รองเท้าคู่นี้ทำให้จ็อบส์รู้สึกสบายใจ จดจ่อกับสิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งที่สวมใส่ และเมื่อสวมแล้ว สัมผัสของรองเท้าทำให้จ็อบส์ไม่รู้สึกเหมือนเป็นนักธุรกิจ ดังนั้น จ็อบส์จึงมีอิสระที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์ได้เต็มที่

ความคิดอย่างสร้างสรรค์นั้นจำเป็นมากในช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์แอปเปิล ย้อนไปในปี 1976 จ็อบส์เริ่มต้นธุรกิจแอปเปิลคอมพิวเตอร์ในโรงรถที่บ้านย่าน Los Altos ร่วมกับสตีฟ วอซเนียก ซึ่งถือเป็นสำนักงานใหญ่แห่งแรกของบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก แน่นอนว่าจ็อบส์ไม่ได้สวมรองเท้าแตะคู่นี้เป็นครั้งคราว แต่มีการสวมใส่อย่างสม่ำเสมอ สื่อได้ถึงการทำงานหนัก และการเทโฟกัสที่นำไปสู่ความสำเร็จและอายุยืนยาวของแอปเปิล

มาร์ก็อต ฟราเซอร์ (Margot Fraser) ผู้นำพาแบรนด์เบอร์เคนสต๊อกมาสู่สหรัฐอเมริกา เล่าถึงการเลือกของจ็อบส์ที่สวมรองเท้าแตะนี้จนเป็นสัญลักษณ์ ว่าจ็อบส์ให้ความสนใจอย่างมากถึงรูปแบบและที่มาของการพัฒนารองเท้า โดยจ็อบส์ต้องการรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับวัสดุ และให้ความสนใจด้านเทคนิคด้วยเช่นกัน

ความยิ่งใหญ่ของบริษัทแอปเปิลจึงถูกเหมาเอาว่าเป็นผลลัพท์สวยงามของไอเดียจากจ็อบส์เมื่อสวมรองเท้าคู่นี้เดินไปมาในยุคนั้น เบ็ดเสร็จแล้วมีการประเมินว่าจ็อบส์ถือครองทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่จ็อบส์เสียชีวิต

ไม่แพงที่สุดในโลก

ดีกรีเข้มข้นขนาดนี้ แต่รองเท้าเบอร์เคนสต๊อกคู่เก่าแก่ของจ็อบส์นั้นยังไม่ใช่รองเท้าที่มีราคาแพงที่สุด เพราะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาของต้นแบบรองเท้าผ้าใบยีสซี่ (Yeezy) คู่ดั้งเดิมของคานเย เวสต์ (Kanye West) ที่ถูกประมูลไปในปีที่แล้วด้วยราคา 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่เดิม รองเท้าพร้อมรอยเท้าสตีฟ จ็อบส์คู่นี้คาดว่าจะออกถูกประมูลในราคา 60,000–80,000 เหรียญสหรัฐ แต่แล้วกลับทำเงินได้สูงถึง 218,750 ดอลลาร์ ซึ่งหากเทียบจากข้อมูลของจูเลียนส์ออคชั่นส์ จะพบว่านี่คือสถิติสูงสุดที่มีผู้จ่ายเงินซื้อรองเท้าแตะในการประมูล

(Photo by Justin Sullivan/Getty Images)

รองเท้านี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของงานประมูล Icon and Idols: Rock ‘n’ Roll เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน โดยมีทรัพย์สินของดาราหลายคน รวมถึงกีตาร์ที่เคิร์ท โคเบน (Kurt Cobain) ผู้ล่วงลับทุบทิ้ง โดยหลายชิ้นถูกจำหน่ายพร้อม NFT ซึ่งทำให้ราคาประมูลพุ่งขึ้นมากกว่าที่เคยทำสถิติไว้

บทสรุปของเรื่องนี้จึงมีทั้งมุมมองการใช้ “รองเท้าแตะ” เป็นหนทางเปิดกว้างไอเดียสร้างสรรค์ และการสร้างสตอรี่ของบริษัทประมูล ที่มีโอกาสทำให้รองเท้าแตะคู่นี้ (และรองเท้าแตะคู่อื่นของคนดังหลายคน) อาจมีมูลค่ามากขึ้นอีกในอนาคต.

ที่มา : Julienslive, Forbes, Vogue