กสิกรไทยเปิดแผน “KBank ESG Strategy 2566” พร้อมผสานความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อความยั่งยืน


อย่างที่เราทราบกันดีว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เราจะเห็นข่าวพายุที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ฝนตกหนักมากขึ้นในหลายพื้นที่แบบไม่เคยเป็นมาก่อน หรือแม้แต่คลื่นความร้อนที่ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำ การที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการต่างๆ ฯลฯ หลายปัญหาที่ยังต้องแก้ไขในระยะยาว

สถาบันการเงินเองก็ต้องปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจจากปัจจัยเหล่านี้เช่นกัน

แต่หลายคนอาจสงสัยว่าสถาบันการเงินนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) หรือเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) อย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สถาบันการเงินถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้โลกเรานั้นดีขึ้นได้

เราจะเห็นข่าวว่าหลายสถาบันการเงินทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนนโยบายแทบจะพลิกฝ่ามือ ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปโดยเริ่มมองปัจจัย ESG หรือแม้แต่ผู้จัดการกองทุนก็ให้ความใส่ใจในเรื่อง ESG โดยนำปัจจัยดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการลงทุนด้วย

ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเองก็เป็น 1 ในสถาบันการเงินที่ต้องการเห็นหลายภาคส่วนในประเทศไทยก้าวเดินไปสู่สภาวะแวดล้อมที่ดีมากขึ้น รวมถึงเรื่องของความยั่งยืน

Positioning จะพาไปดูว่าธนาคารกสิกรไทยวางกลยุทธ์ในเรื่องดังกล่าวยังไง


คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวว่าปัจจุบัน ESG เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก และลูกค้าของธนาคารหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างสนใจในเรื่องนี้อย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยเขาได้ยกตัวอย่างว่ากองทุนจากต่างประเทศได้สอบถมนโยบายเกี่ยวกับเรื่อง ESG ของธนาคารอย่างเข้มข้น แตกต่างจากในอดีตที่ส่วนใหญ่มักสอบถามถึงกลยุทธ์การทำธุรกิจ หรือเป้าหมายการทำกำไร

นอกจากนี้เขายังกล่าวว่าหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศเริ่มหันมาออกมาตรการภาษีด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีคาร์บอน ฯลฯ ฉะนั้นแล้วถ้าหากธนาคารกสิกรไทยไม่สนใจเรื่อง ESG  หรือแม้แต่ลงมือทำช้าไป ตัวของธนาคารเองก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

ธนาคารกสิกรไทยเป็นอีกสถาบันการเงินในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการวางยุทธศาสตร์เรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการ ESG โดยกำหนดกลยุทธ์การทำงานที่เป็นระบบ เน้นการวัดผลที่มีประสิทธิภาพ และดำเนินงานตามหลักการและมาตรฐานสากล

กลยุทธ์ด้าน ESG ของธนาคารกสิกรไทยใน 3 ด้านของปี 2566  (KBank ESG Strategy 2566) ประกอบด้วย

ด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารกสิกรไทยประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) จากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 โดยธนาคารได้วางแผนงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เช่น การปรับเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การทยอยปรับเปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า การทยอยติดตั้งแผงโซลาร์บนดาดฟ้าของอาคารสำนักงานและสาขาของธนาคารที่มีพื้นที่เป็นของตนเอง

KLOUD by KBank หนึ่งในอาคารที่ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์

ขณะที่พอร์ตสินเชื่อของธนาคาร เริ่มมีการประเมินในเรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงจัดทำแผนกลยุทธการลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมกลุ่มแรกที่ทางธนาคารได้เริ่มดำเนินการเข้าไปวางแผนในการป รับเปลี่ยนร่วมกับลูกค้าแล้วคือ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและกลุ่มเหมืองถ่านหิน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (Portfolio Emission) และเตรียมขยายการทำงานร่วมกับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ ตามลำดับ

คุณกฤษณ์ ยังได้กล่าวถึงโครงการใช้แนวความคิดแบบ Win-Win ในเรื่องพลังงานสะอาดอย่าง SolarPlus ซึ่งช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าไฟและได้ใช้ไฟจากแหล่งพลังงานสะอาด และยังสามารถขายไฟในส่วนที่เหลือคืนให้กับธนาคารได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ไปจนถึงการที่ธนาคารได้ส่งเสริมการเช่าใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า EV Bike สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายมากขึ้น และช่วยให้ไรเดอร์กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสในการประกอบอาชีพด้วยต้นทุนต่ำ เนื่องจากสามารถเช่า EV Bike ได้ในราคาถูก

สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ EV Bike ในพื้นที่สาขาของธนาคาร

ด้านสังคม คุณกฤษณ์ได้กล่าวถึงเรื่องทำให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้นยังไง โดยเฉพาะสินเชื่อของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกระบวนการขอสินเชื่อที่ทำได้รวดเร็วมากขึ้น เกิดผลลัพธ์ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยสินเชื่อให้คนตัวเล็กกว่า 5 แสนรายในปี 2565 และตั้งเป้าในปี 2568 จะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ 1.9 ล้านราย

นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ความเข้าใจความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับลูกค้า ซึ่งเราจะเห็นถึงผลกระทบดังกล่าว เช่น คอลเซ็นเตอร์จากต่างประเทศที่หลอกลวงเงินลูกค้า โดยธนาคารตั้งเป้าในการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจด้านการเงินและไซเบอร์แก่ลูกค้า 10 ล้านรายในปี 2566 รวมถึงยกระดับการให้บริการที่ปลอดภัย และดูแลอย่างทันท่วงที ด้วยบริการของธนาคารที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง

ด้านธรรมาภิบาล คุณกฤษณ์ได้กล่าวถึงประเด็นหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อตามหลัก ESG เพื่อดูแลให้สินเชื่อที่ปล่อยไปไม่สร้างผลกระทบเชิงลบแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และป้องกันประเด็นการฟอกเขียว (Greenwashing) โดยธนาคารได้มีการกำหนดให้ทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ทั้ง 100% โดยข้อมูล 9 เดือนแรกของปี 2565 มีสินเชื่อผ่านกระบวนการดังกล่าวไปแล้วกว่า 340,000 ล้านบาท

นอกจากนี้คุณกฤษณ์ยังได้กล่าวว่า ภารกิจด้านความยั่งยืนนั้นเป็นกระบวนการที่ไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงอยากเชิญชวนให้ทุกฝ่ายมาแข่งขันกันในเรื่อง ESG นี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกฝ่าย และเขาได้ย้ำว่าหลายฝ่ายเองก็ต้องจับมือเดินไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทต่างๆ รัฐบาล หรือแม้แต่หน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งธนาคารกสิกรไทยพร้อมที่จะประสานความร่วมมือดังกล่าว เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับของธนาคารและระดับโลก