คุยกับ ‘มิ้งค์-พรชัย’ ผู้ยื้อชีวิตงาน ‘COMMART’ ให้เดินต่อได้อีกนับ 10 ปีในยุคร่วงโรย

เพิ่งจบไปหมาด ๆ สำหรับงานคอมมาร์ท (COMMART) มหกรรมงานสินค้าไอที ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 งานอีเวนต์ที่คนไทยหลายคนคุ้นเคย เพราะจัดติดต่อกันมา 60 ครั้ง ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา แต่ขึ้นชื่อว่าเทคโนโลยีก็มีช่วงรุ่งโรจน์และโรยรา โดยพี่มิ้งค์ พรชัย จันทรศุภแสง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อไอซีทีและการจัดงาน บมจ. เออาร์ไอพี ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานคอมมาร์ทตั้งแต่ปี 2005 จะมาเล่าถึงช่วงเวลาที่แสนยากลำบาก พร้อมมองไปในอนาคตว่าจุดสิ้นสุดของงานใกล้จะมาถึงหรือยัง

ยุครุ่งเรืองขาย 4 วันดีกว่าทั้งไตรมาส

คอมมาร์ทครั้งแรกปี 2000 ถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดมีคนเข้างาน 7-8 แสนคน ซึ่งสาเหตุที่งานคอมมาร์ทตอนนั้นเฟื่องฟูมันมาจากหลายปัจจัย อย่างแรกเลยคือ ตลาดไอทีมันเป็นช่วงขาขึ้น มีการเติบโตสูงมาก มีแบรนด์ไอทีเกิดใหม่เป็น 20-30 แบรนด์ และตอนนั้นคอมมาร์ทเป็น อีเวนต์ไอทีเดียวในประเทศ ยังไม่มีคู่แข่ง เราผูกขาดอยู่เจ้าเดียว รีเทลใหญ่ ๆ ก็ไม่มี ยุคนั้นมีแค่ IT City ที่ใหญ่และมีสาขาไม่เยอะ สมัยก่อนร้านไอทีมีแต่ร้านเล็ก ๆ มันไม่ได้มีความน่าเชื่อถือ ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างผสมกัน มันเลยทำให้คอมมาร์ทยุคนั้นประสบความสำเร็จมาก

“ยุคนั้นคนเดินกันแน่น ทุกคนขายดี ผมเคยได้ยินว่ามีร้านจากฟอร์จูนขายในงานคอมมาร์ท 4 วันได้เงินมากกว่าทั้งไตรมาส”

รับไม้ต่อในยุคตกต่ำ

ขาลงของงานคอมมาร์ทเริ่มมาถึงเมื่อ สมาร์ทโฟน เริ่มเข้ามา เริ่มมีคู่แข่งอย่างงาน Thailand Mobile Expo มีช้อปปิ้งออนไลน์ ตลาดโน้ตบุ๊กเริ่มล่มสลาย แบรนด์จาก 20-30 แบรนด์ก็ล้มหายตายจากไป ปัจจุบันมีไม่ถึง 10 แบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก ซึ่งตอนนั้นต่อให้เราจัดงานออกมาดีแค่ไหนมันก็แย่

ประกอบกับอดีตหัวเรือใหญ่งานคอมมาร์ทอย่าง ปฐม อินทโรดม อดีตกรรมการผู้จัดการ บมจ. เออาร์ไอพี ได้เตรียมวางมือจากงานแล้วลาออกจากบริษัทไป และทีมที่ดูงานคอมมาร์ทในยุคนั้นก็ลาออกหมด จนบริษัทได้ เอื้อมพร ปัญญาใส เป็นซีอีโอใหม่ ก็มีการทีมใหม่เข้ามาทำงานคอมมาร์ทแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เลยทำให้ช่วงนั้นงานคอมมาร์ทอยู่ในช่วงสุญญากาศ เพราะทีมยุคเฟื่องฟูก็ออก ทีมใหม่ก็ออก กลายเป็นว่าทั้งบริษัทไม่มีใครรู้เรื่องงานคอมมาร์ทเลย

สุดท้าย หวยเลยมาออกที่ตัวเองที่มีประสบการณ์ในฐานะ Spokesperson ให้กับงาน ทั้งที่จริงตัวเองเป็น บก.ให้กับนิตยสารคอมทูเดย์ มีหน้าที่แค่เขียนสคริปต์กับพิธีกร ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย เพราะที่ผ่านมาทำแต่ข่าว ทำหนังสือ ไม่ได้มีความรู้เรื่องอีเวนต์เลย ฟอร์แมตก็ไม่เป็น คุยกับลูกค้าก็ไม่เข้าใจ เขาขอหรือต่อรองอะไรเราก็ไม่รู้เรื่อง

แทบกอดขาให้คนมาออกบูธ

ในช่วงจัดงาน 1-2 ครั้งแรกเครียดมาก สุขภาพเสีย ป่วยเป็นกรดไหลย้อน แต่ที่ผ่านมาได้เพราะ ไม่มีอะไรจะเสีย ปล่อยไว้ก็ตาย ทำไม่ดีก็ตาย แต่ถ้าทำยังมีโอกาสโงหัวขึ้น และด้วยความที่เป็นคน คิดบวก เรามองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันมีทางออก แค่จะออกไปในทิศทางไหนเท่านั้นเองแต่ต้องทำให้เต็มที่

“ตอนนั้นไม่มีใครอยากมาออกบูธด้วยซ้ำ เราแทบจะกอดขาให้เขามาออก เพราะในยุคเฟื่องฟูทีมที่เขาจัดงานก็กร่าง ไม่สนใจคนออกบูธ เขาขออะไรก็ไม่ให้ มีกฎระเบียบเป๊ะ ทำอะไรคิดเงินหมด ภาพของงานคอมมาร์ทตอนนั้นมันเลยไม่ดี”

สุดท้าย ก็ประคองให้งานคอมมาร์ทผ่านจุดต่ำสุดมาได้ ซึ่งมองว่าส่วนสำคัญก็คือ ความอึดและบุคลิกของเราที่เป็นคนเฟรนด์ลี่ ใจดี ทำให้ลูกค้ามางานเพราะมองงานคอมมาร์ทเป็น เพื่อน ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราผ่านมาได้ เพราะเขาไม่ทิ้งเรา อย่างในช่วงงานรอบต้นปี 2020 ที่โควิดกำลังระบาด ตอนนั้นบูธหายไป 15% แต่ลูกค้าหลายรายก็ยอมมาออกบูธกับเรา โดยเขาให้เหตุผลว่า “มาจัดเพราะผม เขาอยากช่วย ไม่ต้องกลัวว่าจะทิ้งกัน”

“ตอนนั้นมันทั้งขาลง ทั้งเราใหม่ แต่เราก็อาศัยความพยายาม ความอึด ความมองโลกในแง่ดี เพราะเราเคยผ่านช่วงแบบนี้ตั้งแต่เป็น บก. คอมทูเดย์ที่กำลังตกต่ำ คนลาออกหมดไปอยู่กับพีซีทูเดย์คู่แข่ง”

ยังไม่ทิ้งไบเทคไปศูนย์สิริกิติ์

การมาจัดงานที่ไบเทคเมื่อช่วง 3-4 ปีที่แล้ว ก็ถือว่าเป็นอีกจุดเปลี่ยน เพราะย้ายมาก็เหมือนรีเซตทุกสิ่งที่คนจดจำใหม่ ตอนที่ต้องย้ายเราคิดอยู่ 2 อย่าง ถ้าดีคือดี ถ้าไม่ดีก็คือจบ แต่มันกลับดีกว่าที่คิด เพราะช่วยขยายกลุ่มผู้เข้าชมงานจากเดิมจะเป็นคนกรุงเทพฯ นนทบุรี แต่พอย้ายมาไบเทค คนกรุงเทพฯ และนนทบุรีที่มาเดินก็ยังเยอะ แต่ที่เพิ่มมีทั้งชลบุรี สระบุรี ซึ่งเขามองว่าขับรถมาสะดวกกว่าไปในเมือง

ดังนั้น แม้ว่าศูนย์สิริกิติ์จะกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่งานคอมมาร์ทก็ยังเลือกอยู่กับไบเทคต่อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ราคา ที่แพงขึ้น 30% ซึ่งในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ เราก็ไม่อยากปรับราคากับผู้ที่มาออกบูธกับเรา และเราก็ไม่รู้ว่าไปแล้วมันจะคุ้มทุนขนาดไหน และอีกเหตุผลที่สำคัญ คือ ตอนที่มีโควิดการจัดอีเวนต์มันลำบาก เขาก็ช่วยคนที่มาออกบูธค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ต่อให้มีที่ใหม่เราก็มองว่ายังไม่อยากย้ายไปไหน

ปีนี้ไอทีไม่ค่อยดี แต่คอมมาร์ทยังบวก

สำหรับภาพรวมไอทีปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจช่วง Q2-3 ไม่ค่อยดี ประกอบกับผู้บริโภคซื้อสินค้าไปตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด ขณะที่ซัพพลายเชนกลับมาเป็นปกติ สินค้าไม่ได้ขาดตลาด ราคาก็เลยลดลง กระแสคริปโตฯ ก็หายไป แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกมาจากที่ Q4 เป็นช่วงไฮซีซั่น ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายหาซื้อของขวัญ ประกอบกับสินค้าราคาถูกลง ร้านค้าเองก็ต้องเร่งระบายสต็อก เราเองก็เพิ่มงบการตลาด 30% เป็นส่วนลดเพิ่มไปอีก ทำให้งานคอมมาร์ทครั้งล่าสุดเติบโตกว่ากลางปี

“งานรอบล่าสุดโดยรวมแล้วผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้อยู่ที่ราว ๆ 3-4 แสนคน มียอดเงินสะพัด 3,200 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าช่วงกลางปี โดยแบ่งสัดส่วนเป็นโน้ตบุ๊ก 44%, คอมพิวเตอร์ประกอบ 30%, สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต 14%, จอภาพ 7% และอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์มีสัดส่วน 5%”

5 ปีข้างหน้าอาจไม่มีคอมมาร์ทอีกต่อไป

ตลาดคอมพิวเตอร์กับสมาร์ทโฟนเป็นตลาดที่สวนทางกัน ถ้าคอมพิวเตอร์ดีสมาร์ทโฟนจะไม่ดี ถ้าสมาร์ทโฟนดีคอมจะไม่ดี ซึ่งที่ตลาดคอมพิวเตอร์สามารถกลับมาเติบโตไปได้มาจาก 2 ปัจจัย คือ เกม กับ บิตคอยน์ ซึ่งตอนนี้บิตคอยน์หายไปแล้วเหลือแต่เกมที่อุ้มตลาดไว้ อย่างในงานคอมมาร์ทเองยอดขายกว่า 70% ก็มาจากสินค้าเกมมิ่งทั้งสิ้น แต่ถ้า ณ วันหนึ่ง คนเล่นเกมบนมือถือแล้วสนุกกว่าบนคอมพิวเตอร์ นั่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สมาร์ทโฟนจะกลับมาพีคอีกครั้ง

ทุกวันนี้คนที่อยู่รอดในตลาดไอทีได้มีแต่ร้านใหญ่ ๆ ร้านเล็ก ๆ ตายหมด เพราะซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์มันไม่ได้ง่ายไม่ใช่เปิดปุ๊บใช้ได้เลย และต้องน่าเชื่อถือ นี่จึงเป็นเหตุผลให้คนมาเดินงานคอมมาร์ท

“ตราบใดที่คนยังเดินงานอีเวนต์อยู่ งานคอมมาร์ทก็ยังอยู่ได้ แต่ถ้าวันที่ทุกอย่างมูฟไปออนไลน์ 100% งานคอมมาร์ทก็คงจะหายไป ซึ่งมันอาจต้องใช้เวลาอย่างเร็วก็ 5 ปี แน่นอนว่ามันไม่ง่าย แต่อีก 5 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนไปอีกเยอะ”