กลายเป็นเรื่องที่ถูกประชาชนชาวอินโดนีเซียวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติของอินโดนีเซียได้ผ่านประมวลกฎหมายอาญา ห้ามการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส และเพิ่มบทลงโทษการทำแท้ง
รองประธานสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย ซุฟมี ดาสโก อาห์หมัด ประกาศอนุมัติการปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ที่กำหนดให้ การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส รวมถึง การอยู่กินกันก่อนแต่งงาน มีโทษจำคุก สูงสุด 1 ปี และไม่ใช่แค่บังคับใช้กับประชาชนชาวอินโดนีเซีย แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้ยังครอบคลุมถึง ชาวต่างชาติในประเทศ และ นักท่องเที่ยว ที่มาเที่ยวในอินโดนีเซียด้วย
ไม่ใช่แค่เรื่องการมีความสำพันธ์ก่อนแต่ง แต่ประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ยังเพิ่มบทลงโทษ การทำแท้ง รวมถึงการจำกัดสิทธิของชาว LGBTQ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายมาตราอื่น ๆ ที่ถูกปรับแก้ อาทิ การออกกฎหมาย ห้ามการเปลี่ยนศาสนา และเพิ่มบทลงโทษกรณีการ พูดดูหมิ่นประธานาธิบดี ดูหมิ่นศาสนา การแสดงความคิดเห็นที่ขัดต่ออุดมการณ์ของรัฐ เป็นโทษจำคุก 5 ปีอีกด้วย
หลังจากที่กฎหมายใหม่ออกมา กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้ออกมาประท้วงเนื่องจากมองว่ากฎหมายดังกล่าวนั้น บั่นทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และส่งผลกระทบอย่างมากกับกลุ่ม LGBTQ และชนพื้นเมือง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการตรวจสอบร่างกฎหมายของกระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ชี้ว่า การปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ จะช่วยพิทักษ์สถาบันครอบครัวและความศักดิ์สิทธิ์ของการสมรส
“มีคู่รักหลายล้านคู่ในอินโดนีเซียที่ไม่มีทะเบียนสมรส โดยเฉพาะในหมู่ชนพื้นเมืองหรือชาวมุสลิมในพื้นที่ชนบท ที่แต่งงานในพิธีทางศาสนาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น คนเหล่านี้จะมีความผิดในทางทฤษฎี เพราะการอยู่ร่วมกันอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน” Andreas Harsano นักวิจัยจากจาการ์ตาของกลุ่มอธิบาย
แม้อินโดนีเซียจะมีความหลาศาสนาหลายศาสนา แต่ประชากรส่วนใหญ่ถึง 267 ล้านคนนับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่กฎหมายท้องถิ่นในหลายพื้นที่ของประเทศได้รับการกำหนดโดยหลักคำสอนของศาสนา ซึ่งบางส่วนของอินโดนีเซียมีกฎหมายเกี่ยวกับเพศและความสัมพันธ์ที่เคร่งครัดตามหลักศาสนาอยู่แล้ว แต่การที่กฎหมายใหม่ออกมา นักสิทธิมนุษยชนมองว่า รัฐบาลกำลังนำประเทศก้าวถอยหลังไปสู่ระบอบที่ยึดความเชื่อตามศาสนาอย่างเคร่งครัด และตีความตามตัวอักษร
“นี่เป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่สำหรับประเทศที่พยายามแสดงตนว่าเป็นประชาธิปไตยมุสลิมสมัยใหม่” อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิมนุษยชนประจำเอเชีย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 3 ปี