“เซ็นทรัล ทำ” ต่อยอด โครงการพุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ไร่เชิญตะวัน ผลักดันสู่ “ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการทำเกษตรอินทรีย์” พัฒนาวิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน

“เซ็นทรัล ทำ” ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ  ภายใต้โครงการหลักการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ของ กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับ  พระเมธีวชิโรดม  (ท่าน ว.วชิรเมธี) ผู้ก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย และภาคีเครือข่าย ต่อยอด โครงการพุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน นำร่องดำเนิน โครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์   บนพื้นที่ 2 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกร ชาวนา รวมถึงผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาเรียนรู้ศึกษาโครงการได้ ดำเนินโครงการ โดย ปรับผืนดินที่แห้งแล้งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ จนสามารถทำเกษตรผสมผสาน ปลูกข้าวและพืชพื้นถิ่น ทำการขุดบ่อน้ำ จัดทำร่องน้ำ ตามหลักโคกหนองนา เพื่อกักเก็บน้ำ และผันน้ำใช้ในการเกษตร รวมถึงการใช้นวัตกรรมมาช่วยในการทำเกษตร เช่น การใช้แผงโซล่าเซลล์ที่มีอยู่เดิม มาจัดทำระบบ Smart Farm เพื่อใช้ในการสูบน้ำ การทำฟาร์มระบบการเลี้ยงไก่ไข่ที่ปล่อยให้ไก่ออกนอกโรงเรือนได้อย่างอิสระ เพื่อให้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ทำให้ไก่มีความสุขและอารมณ์ดีได้ไข่ที่ดี ปลอดภัยเป็นต้น

พระเมธีวชิโรดม (ท่าน ว. วชิรเมธี) ผู้ก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน กล่าวว่า โครงการพุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน เป็นหนึ่งในโครงการ ศึกษาแผนแม่บทพัฒนาไร่เชิญตะวันให้เป็น “พุทธนิเวศสากล” (International Eco Monastery) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ในการสร้างอาชีพ ภายใต้ภูมิปัญญาใหม่ ให้คนกับคน  คนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกัน เป็นกัลยาณมิตรด้วยจิตที่เป็นกุศล และตื่นรู้ต่อปัญหาของสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม  ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงหมุนเวียนระดับพื้นบ้าน ด้านการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จจะเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูมนุษย์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

พิชัย  จิราธิวัฒน์  กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า จากการที่ได้มาเยี่ยมชมศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน และรับทราบถึงเป้าหมายในการผลักดัน โครงการพุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ไร่เชิญตะวัน ให้เป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ด้านนวัตกรรมการทำเกษตรอินทรีย์  ซึ่งสอดคล้องกับ โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ที่มีความมุ่งมั่นสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating Shared Values) ระหว่างธุรกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตไปด้วยกัน จึงเริ่มต้นศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการ ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นและวิธีการแก้ไขบนพื้นที่นำร่อง 2 ไร่ ซึ่งจากการลงพื้นที่อย่างละเอียดพบว่า ปัญหาใหญ่ของพื้นที่คือปัญหาแหล่งน้ำไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ เพราะสภาพผืนดินเป็นดินทรายและมีก้อนหินขนาดใหญ่อยู่ในชั้นดิน   จากวันนั้นในปี 2563 ด้วยการร่วมลงมือของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาแหล่งน้ำ ปัจจุบัน แหล่งน้ำในโครงการสามารถกักเก็บน้ำได้ 12,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถนำน้ำมาใช้ในการเกษตรของโครงการ จนสามารถต่อยอดให้เป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ด้านนวัตกรรมการทำเกษตรอินทรีย์ได้อย่างสมบูรณ์

ภายในโครงการพุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน ประกอบด้วย

  1. บ่อน้ำเพื่อการเกษตร นับเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดในการทำการเกษตร โดยนำทฤษฎี โคก หนอง นา  มาปรับใช้ สร้างธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำถาวร แก้ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ทำระบบเก็บน้ำสำรองด้วยการขุดบ่อพักน้ำ และขุดคลองไส้ไก่เพื่อเชื่อมการระบายน้ำในโครงการ สร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่
  2. นำพลังงานไฟฟ้าจากโซลาเซลล์มาใช้ในระบบรดน้ำอัตโนมัติ Smart Farm  และการหมุนเวียนน้ำในโครงการ
  3. ปรับปรุงพื้นที่โครงการ ปลูก ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ แคนา เฮือก มะฮอกกานี ประดู่ มะค่าโมง และแปลงผักสวนครัว ได้แก่ กล่ำปลี ผักกาดขาว และตระกูลผักสลัด ซึ่งหากได้ผลผลิตที่ดีสามารถนำเข้าจำหน่ายที่ตลาดจริงใจ ของกลุ่มเซ็นทรัลต่อไป
  4. ทำแปลงปลูกข้าว สายพันธุ์ หอมมะลินิลสุรินทร์ ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ที่มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อม ใช้น้ำในการปลูกน้อย มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการสูง เบื้องต้น ผลผลิตที่ได้จะนำมาเป็นอาหารสำหรับพระสงฆ์และผู้มาร่วมปฏิบัติธรรม
  5. โครงการเลี้ยงไก่ไข่ปลอดภัยระดับชุมชน เพื่อนำมาเป็นอาหารสำหรับพระสงฆ์และผู้มาร่วมปฏิบัติธรรม หากมีปริมาณมากพอสามารถนำเข้าจำหน่ายที่ตลาดจริงใจ ของกลุ่มเซ็นทรัลต่อไป
  6. ปรับปรุงภูมิทัศน์ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เพิ่มความสวยงาม และเป็นการเชิญชวนให้มาเยี่ยมขม

นอกจากนี้ กลุ่มเซ็นทรัล และศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากโครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ อาทิ โครงการปลูกต้นไม้ตามอายุ การบริหารจัดการขยะ ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม มุ่งให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน