บันทึกนายห้างเทียม ตำนานที่ไม่เคยล้าสมัย

ใครที่เข้าสู่วัยทำงาน คงต้องหาหนังสือบันทึกความทรงจำของนายห้างเทียม โชควัฒนา มาอ่านสักครั้ง เชื่อว่าจะได้แง่คิดที่เป็นประโยชน์มาใช้กับการทำงาน แม้ว่าประสบการณ์เหล่านี้ จะผ่านมาแล้วถึง 30-40 ปีก็ตาม แต่ยังไม่เคยล้าสมัยเลย

นายห้างเทียม คือตัวอย่างของตำนานนักสู้ที่สร้างตัวมาจากมือเปล่า การศึกษาน้อย อายุแค่ 15 ปีก็ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อค้าขาย และด้วยความขยันหมั่นเพียร อดทน ซื่อสัตย์ จนสามารถสร้าง “สหพัฒน์” กลายเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจ มีโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ที่คุ้นกันดี ชุดชั้นในวาโก้ ผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้น เสื้อผ้า แอโร่ เครื่องสำอาง บะหมี่สำเร็จรูปมาม่า และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย

ปรัชญาในการทำธุรกิจของนายห้างเทียม ครบเครื่องทั้งบริหารองค์กร การขยายธุรกิจ บริหารคน เรื่องการตลาด จนเป็นที่ยอมรับจากนักธุรกิจ และถึงมีการนำไปกรณีศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย มาแล้ว

ยกตัวอย่าง ประโยคที่ว่า “เร็ว ช้า หนัก เบา”

นายห้างเทียม อธิบายเอาไว้ว่า หมายถึงทำงานควรพิจารณาว่า งานไหนทำก่อน งานไหนทีหลัง งานไหนจริงจัง งานไหนพอควร

“มีคู่แข่งได้ แต่อย่างมีคู่แค้น” คือการแนะให้มองคู่แข่งเป็นครูให้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อจะได้พัฒนาให้ดีกว่า

“หากมองเป็นคู่แค้นเมื่อไหร่ ก็จะคิดแต่ทำลาย ไม่เกิดประโยชน์อะไร”

หรือ “แค่หยุดอยู่กับที่ ก็เป็นผู้ล้าหลัง” อย่าพอใจกับความสำเร็จในปัจจุบัน เมื่อคิดว่าสำเร็จแล้วก็จะไม่พัฒนา

นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งตัวอย่างปรัชญาคมๆ ของนายห้างเทียม ที่คุ้นหูกันดี

งานรำลึก 20 ปี การจากไปนายห้างเทียม โชควัฒนา ที่ลูกหลานตระกูล “โชควัฒนา” ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีคุณศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา รับหน้าที่เป็นแม่งาน นอกจากจะพร้อมหน้าพร้อมตาด้วยลูกหลาน ผู้บริหารสหพัฒน์มาทั้งในอดีตและปัจจุบันที่มาร่วมงานกันแน่นห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี

เรื่องราวแต่หนหลังที่สร้างความประทับใจได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง จากคำบอกเล่าของพนักงานเก่าแก่ ลูกๆ ที่เคยได้ทำงาน และได้รับคำชี้แนะจากนายห้างเทียมโดยตรง ก็ยิ่งตอกย้ำ “คู่มือชีวิต” เล่มนี้ยังล้ำสมัยจริงๆ

บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด เล่าว่า นายห้างเทียมเป็นแบบอย่างทำให้เขาได้ซึมซับความรู้แบบไม่รู้ตัว เขายกตัวอย่างเรื่อง การรักษาความดี และความซื่อสัตย์

“คุณพ่อจะซื่อสัตย์มาก แม้กระทั่งเรื่องของเวลาท่านไม่เคยมาสายเลย จนเป็นที่มาของสินค้ายี่ห้อซื่อสัตย์ เปาบุ้นจิ้น คือ การรักษาความดี รักษาเครดิต”

บุญเกียรติ โชควัฒนา ผู้บริหารไอซีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ประทับใจวิธีการสอนของนายห้างเทียม ที่ว่า “ท่านไม่ดุด่าว่ากล่าวใคร เวลาจะตักเตือนมักจะใช้กุศโลบายในการสอน”

“ อย่างตัวผม คุณพ่อเขาดูว่าผมเป็นคนคิดมาก คิดแต่เรื่องลบๆ คุณพ่อจะพูดกับผมสั้นๆ แค่ว่า คนเราต้องคิดกำไร ถ้าคิดแล้วขาดทุนอย่าคิด”

แรกๆ ไม่เข้าใจ จนต่อมาถอดรหัสได้ในภายหลัง ก็ทำให้มุมมองความคิดและการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป

“สมัยหนึ่งท่านโดนโกง แทนที่จะมานั่งเสียดาย ท่านจะบอกช่างมัน ให้มองไปข้างหน้า เอา คิดเสียว่า เสียไป 1 ล้าน เล่าให้คนฟัง 20 คน ก็ลดต้นทุนไปแล้ว”

ส่วน บุญฤทธิ์ มหามนตรี อดีตบัณฑิต จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนของคนหนุ่มการศึกษาดี คนแรกๆ ที่เข้าร่วมงานในสหพัฒน์

ปรัชญาแรกในการทำงานที่เขาได้รับจากนายห้างเทียม คือทฤษฎีเรขาคณิต “เหลี่ยม กลม แหลม”

นายห้างเทียม เปรียบเทียบคนที่จบการศึกษาใหม่ๆ เรียนแต่ทฤษฎีมา ความคิดหรือหัวสมองเหมือนรูปทรงสี่เหลี่ยม มี 4 ด้านตายตัว

จนเมื่อได้มาทำงาน มีประสบการณ์โดนกระแทก ศีรษะจะเปลี่ยนจากทรงสี่เหลี่ยมมาเป็นทรงกลม เมื่อทำงานไปนานๆ ปรับตัวเข้าหาคนได้ก็เกิดความแหลมคมขึ้น เข้าได้ทุกช่องทาง

ค่ำคืนนั้น ลากลับกันด้วยความประทับใจของผู้ร่วมงาน นอกจากได้ฟังปรัชญาดีๆ ของนายห้างเทียม ยังมีพ็อกเกตบุ๊ก บันทึกนายห้างเทียมมาออกแบบและจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ จำนวน 10 เล่ม ติดมือกลับไปเพิ่มเติมความรู้ ส่วนคนทั่วไปหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป

บุญยสิทธิ์ โชควัฒนา เสียใหญ่ บอกว่า เครือสหพัฒน์ได้เตรียมจัดงานรำลึกการจากไป 20 ปีของนายห้างเทียมไปตลอดทั้งปีจนถึงปีหน้า โดยมีทั้งคอนเสิร์ต การออกสินค้า และปิดฉากด้วย “ปาร์ตี้ใหญ่” คัดเลือกคนทางบ้านมาร่วมงาน

นับเป็น “บิ๊กอีเวนต์” สำคัญอีกงานของเครือสหพัฒน์ นอกเหนือจากงาน สหพัฒน์แฟร์ งานขายของที่จัดประจำทุกปี

หากมองในแง่หลักการตลาด บันทึกนายห้างเทียม น่าจะเป็น Story Telling ที่เป็นข้อคิดดีๆ ให้กับคนรุ่นใหม่แล้ว ยังสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับสินค้าและบริการในเครือสหพัฒน์ ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความแตกต่างของสินค้าที่เกิดจากการผู้ก่อตั้ง ที่มีหลักคิดและปรัชญาอันแหลมคมจนเป็นที่ยอมรับจากสังคม ย่อมสร้างความจดจำ และความผูกพันให้กับผู้ซื้อได้มากกว่า

ยิ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่การแข่งขันสูง และยากหาความต่าง ก็ยิ่งจำเป็นต้องมี “เรื่องราว”ให้จดจำ และหากจะสร้างความยั่งยืนได้ ก็ต้องครบเครื่อง สินค้าดี มีเป็นองค์กรดี ให้คืนสังคม

เหมือนอย่างที่บุณยสิทธ์บอกว่า “เมืองไทยเวลานี้ต้องการ คนดี สินค้าดี และสังคมดี จะเป็นสูตรที่จะทำให้ไทยกลายเป็น Thailand the bestได้”

นี่คือความคลาสสิกของบันทึกนายห้างเทียม…ปรัชญาที่ไม่เคยล้าสมัย