Time Out Bangkok ผู้จัดงาน Awakening Bangkok ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ, สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัดตลอดจนพันธมิตรภาครัฐและเอกชนเนรมิตเทศกาลแสงไฟประจำปีกรุงเทพฯ Awakening Bangkok 2022 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Endless Tomorrow: เพื่อพรุ่งนี้ และตลอดไป” จุดประกายย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ เจริญกรุง-ตลาดน้อย ที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์ ให้กลับมาคึกคัก มีขีวิตชีวา หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลาย เปิดพื้นที่ สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับชีวิตความยั่งยืนในมิติต่างๆ เพื่อชีวิตในอนาคตที่ยืนยาวและเป็นมิตรสำหรับทุกคน ทั้งรุ่นนี้ และรุ่นต่อไป
นายพงศ์สิริ เหตระกูล กรรมการบริหาร Time Out Bangkok (ไทม์เอาต์ กรุงเทพฯ) และ Festival Director งานเทศกาล Awakening Bangkok เปิดเผยว่าการจัดงานปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ซึ่งเป็นการกลับมาจัดในช่วงปลายปีอีกครั้ง หลังจากครั้งที่ผ่านมาต้องเลื่อนมาจัดในช่วงเดือนมีนาคม 2565 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19โดยผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อมอบประสบการณ์สุดพิเศษให้กับนักเดินทาง ท่องเที่ยว และผู้มาเยี่ยมชมงานตลอด 10 วัน ระหว่างวันที่ 16-25 ธันวาคม 2565พร้อมยกระดับสู่การเป็นหนึ่งในเทศกาลเมืองสำคัญในปฏิทินการท่องเที่ยวระดับนานาชาติและเป็น “จุดหมายปลายทาง” ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
จากการจัดงานอย่างต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง นอกจากสะท้อนถึงความสำเร็จของงาน Awakening Bangkok แล้ว ยังตอกย้ำความสำเร็จของการร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐ และเป็นการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ระดับชาติ โดยเฉพาะในแง่ของการส่งเสริมและสนับสนุน night-time economy ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลุกและฟื้นย่านเจริญกรุง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ซึ่งจากการจัดงานในทุกครั้งที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้งศิลปิน นักออกแบบ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาร่วมชมงาน ช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ผ่านการสร้างความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างเมือง ชุมชน และหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ส่งเสริมให้เมืองเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานเทศกาล และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จากความร่วมมือต่อเนื่องกับ ททท. และทีเส็บเป็นครั้งที่ 5 ตลอดจนกรุงเทพมหานคร สะท้อนถึงการมีเป้าหมายร่วมกัน ที่ต้องการสร้างให้ Awakening Bangkok เป็นอีกหนึ่งสีสันของเมือง และปักหมุดเป็นอีกหนึ่งอีเวนต์หลักในปฏิทินการท่องเที่ยวไทยโดยปัจจุบันเทศกาลAwakeningได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในอีเวนต์สำคัญในโครงการ Colorful Bangkok โครงการขับเคลื่อนเมืองผ่านอีเวนต์ทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – เดือนมกราคม 2566 ซึ่งมีเป้าหมายสร้างให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครแห่งศิลปวัฒนธรรม ที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ และเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม อันส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนด้านสังคมและเศรษฐกิจ
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า งานเทศกาลปลายปีหนีไม่พ้นเรื่องของแสงสี ดนตรี และศิลปะ ซึ่งจัดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ให้คนเข้าไปสัมผัสและเก็บเกี่ยวความทรงจำ เป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เพื่อให้เข้ากับบรรยกาศของการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร จึงได้จัดงาน “Colorful Bangkok 2022” หรือ “ฤดูกาลศิลปะกรุงเทพฯ” ขึ้นตามนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมตลอด 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ไปจนถึงมกราคม 2566 โดยแบ่งเป็น 3เทศกาลย่อยประกอบด้วย เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์, เทศกาลแสงสี และเทศกาลดนตรีเพื่อยจุดมุ่งหมายในการเปิดพื้นที่สาธารณะให้คนกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวได้มีกิจกรรมให้เข้าร่วมได้ตลอดทั้งปี ทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนธุรกิจโดยรอบ กระตุ้นยอดขายจากการจัดงานเทศกาล และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
“Awakening Bangkokถือเป็นหนึ่งในงาน “เทศกาลแสงสี” ที่ปักหมุดอยู่ในปฏิทินกิจกรรมของ “Colorful Bangkok 2022” ซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์ของการเปิดพื้นที่ และพร้อมส่องให้เมืองมีชีวิตและเปล่งประกายขึ้นอีกครั้ง” นายศานนท์ กล่าว
นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทองผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี ซึ่งผู้คนทั่วโลกต่างมองหาสถานที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวซึ่งจากนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวของรัฐบาล ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เตรียมพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ หนึ่งในนั้นคือการผนึกกำลังในการจัดงานเทศกาลในสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วประเทศไทย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในฐานะ “จุดหมายปลายทาง” ชั้นนำระดับโลกกันมากขึ้น
“การจัดงาน Awakening Bangkok2022 เป็นความร่วมมือของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสร้างสรรค์งานสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ที่นอกจากมีความงดงามแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดประเทศ และการเฉลิมฉลองฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวปลายปี ที่จะสร้างความตื่นเต้นให้กับทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ช่วยสร้างสีสัน และเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการปลุกกระแสการท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้คลี่คลายลง” นายกิตติพงษ์ กล่าว
นางนิชาภา ยศวีร์รองผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาเมือง พัฒนาชุมชน ผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล หรือ“Festival Economy” มุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองและชุมชนผ่านการจัดงานเทศกาล โดยใช้งานเทศกาลเป็นเครื่องมือในการนำเสนอให้เข้ากับผู้ที่เข้าชมนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในรูปแบบผสมผสานให้สามารถเข้าถึงง่ายขึ้นและมีความทันสมัย เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักเดินทาง ซึ่งปัจจุบันตลาดของนักเดินทางเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบความสนใจของนักเดินทางเข้าร่วมงานเทศกาลที่เปลี่ยนไป นักเดินทางรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับทางเลือกและประสบการณ์ที่เฉพาะมากขึ้น และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ดังนั้น ปริมาณการเดินทางของกลุ่มคนดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจของเมืองเจ้าภาพและชุมชนโดยรอบ
ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายระยะยาวของนโยบาย Festival Economy คือ การสร้าง “หนึ่งเมือง หนึ่งงานเทศกาลนานาชาติ” ภายใน 5 ปี เพื่อเพิ่มมูลค่า ยกระดับ และส่งออกงานเทศกาลที่เกิดจากสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเทศกาลAwakening Bangkok ถือเป็นงานที่มีเอกลักษณ์และนำเสนอถึงอัตลักษณ์ของย่านเก่าเจริญกรุง-ตลาดน้อย ได้เป็นอย่างดี เชื่อมั่นว่าจากนี้จะเติบโตและก้าวไปสู่งานเทศกาลในระดับนานาชาติที่สำคัญของประเทศต่อไป
“ทีเส็บยังตั้งเป้าให้Awakening Bangkok เป็นเทศกาลที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างคอมมูนิตี้ของศิลปินไทยและกลุ่มผู้ประกอบการศิลปะเพื่อให้ผลงานของศิลปินเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่สนใจผลงาน เข้ามาเยี่ยมชมและเพิ่มโอกาสในการว่าจ้างหรือใช้บริการศิลปินในงานอื่นๆ ต่อไป” นางนิชาภากล่าว
อีกหัวใจสำคัญของเทศกาลนี้ยังมุ่งส่งเสริมแนวคิดเรื่องความยั่งยืนในทุกมิติซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันกับผู้สนับสนุนหลัก “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์” (Johnnie Walker) ที่ผนึกความร่วมมือสนับสนุนงาน Awakening Bangkok ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
นางสาวจรินี วงศ์กำทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในวงกว้างและยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมโยงกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ทางแบรนด์เห็นความสำคัญของศิลปินและนักออกแบบไทยที่มีความสามารถในการต่อยอดผลงานสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับแผน SOCIETY2030: SPIRIT OF PROGRESS เป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืนของดิอาจิโอ ที่มุ่งมั่นในการเป็นหนึ่งในบริษัทอุปโภคบริโภคที่มีผลงานเป็นเลิศและได้รับความไว้วางใจสูงสุดจากผู้บริโภค ตลอดจนปรัชญา KEEP WALKING ของแบรนด์ ที่สร้างแรงบันดาลใจและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้คนก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ
โดยในปีนี้ จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ กลับมาภายใต้คอนเซปต์ “ไม่ว่าโลกจะมาท่าไหน ก้าวต่อไปใช้ชีวิต” ซึ่งต้องการจะนำเสนอ 2 ประเด็นหลักให้กับคนรุ่นใหม่ ทั้งในด้าน การยอมรับในความหลากหลาย และการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยสะท้อนผ่านผลงานต่างๆ ที่จัดแสดงภายในงานและบาร์ทั้ง 2 จุดที่ออกแบบร่วมกับศิลปินชื่อดัง อีกทั้งการถ่ายทอดแนวความคิดดังกล่าวผ่านรสชาติใหม่ของเครื่องดื่มสูตรพิเศษทั้ง 4 สูตรที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติโดยคิดค้นร่วมกับ WASTELAND คอมมูนิตี้ร่วมดื่มของผู้รักษ์สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญเรายังคงสนับสนุนการดื่มอย่างรับผิดชอบด้วยการตอกย้ำข้อความและกิจกรรมต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ภายในงานอีกด้วย
นายพงศ์สิริ กล่าวว่า “Awakening Bangkok” มุ่งส่งเสริมอัตลักษณ์ของเมืองให้เป็นที่รู้จัก การจัดงานในแต่ละปีไม่เพียงแต่มีแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์และชีวิตในย่านเจริญกรุง แต่ยังสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ออกแบบขึ้นมาเฉพาะสำหรับพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจมาจากพื้นที่และผู้คนที่อาศัยอยู่ ผนึกความคิดสร้างสรรค์และความหมายของพื้นที่ เพื่อเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
สำหรับเทศกาล Awakening Bangkok 2022 จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ Endless Tomorrow: เพื่อพรุ่งนี้ และตลอดไป โดยได้แรงบันดาลใจจากช่วงโควิด ช่วงเวลาที่ทำให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของวันพรุ่งนี้ และตระหนักถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะมีชีวิตอยู่ ถึงอนาคตที่เราอยากทำให้ยั่งยืนสำหรับทุกคน และยืนยาวสำหรับคนรุ่นถัดไป ซึ่งนอกจากงานทุกชิ้นที่จะสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องนี้แล้ว ยังได้ร่วมมือกับศิลปินรุ่นใหม่ เช่น COTH, 27 June, และ Alt+r เพื่อสร้างชิ้นงานไฮไลต์เพื่อสื่อสารเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกด้วย
ความพิเศษของการจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัด 2 เส้นทางสำหรับ 2 ธีมย่อย ประกอบด้วย ทิศใต้ เส้นทางบางรักในธีม “Sustainability” กับชิ้นงานที่สะท้อนแนวคิดเรื่องความยั่งยืนและทิศเหนือ เส้นทางตลาดน้อย ในธีม “Living Evidence” กับชิ้นงานที่สะท้อนแนวคิดเรื่องการปรับตัวเพื่ออยู่รอด โดยแต่ละเส้นทาง จะมีชิ้นงานไฮไลท์ ทิศใต้ อยู่ที่โรงแรม Swan, บ้านพักตำรวจน้ำ, และตึก East Asiatic ส่วนทิศเหนือ อยู่ที่ Patina Bangkok, บ้านริมน้ำ และท่าเรือภานุรังษี โดยปีนี้ยังได้เพิ่มความน่าสนใจด้วยโลเคชั่นใหม่ๆ พร้อมกับมุมมองใหม่ๆ คือ โรงแรม Swan ในซอยเจริญกรุง 36 และ ตึก East Asiatic อาคารสถาปัตยกรรมสไตล์เวนิเชียนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่พร้อมเชิญชวนทุกคนให้ออกเดินเที่ยวเจริญกรุง-ตลาดน้อย ยามค่ำคืนกันอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่เปิดความร่วมมือระหว่างประเทศกับเทศกาล iLight Singapore ที่ส่งชิ้นงานจากการจัดงานครั้งก่อนมาร่วมแสดง โดยจะจัดแสดงบริเวณ Warehouse 30 และเปิดโอกาสให้ผลงานจาก Awakening Bangkok มีโอกาสไปยังจัดแสดงยังต่างประเทศอีกด้วย
สำหรับการจัดงานในปีนี้ ได้ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลาย ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกสำหรับความร่วมมือกับพันธมิตรแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง TikTok ซึ่งตั้งเป้าสนับสนุนวงการศิลปะไทยผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวโดยในงานมี TikTok creator ชื่อดังจำนวนมากเข้ามาร่วมทำคอนเทนต์ในครั้งนี้โดยที่ผ่านมา Awakening Bangkok มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อภาษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาษาอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น เพื่อสื่อสารกับทั่วโลก ซึ่งเชื่อมั่นจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย จากนี้ Awakening Bangkok จะก้าวสู่การหนึ่งในจุดหมายการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และศิลปวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ
นายพงศ์สิริ กล่าวว่า นอกจากส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม Awakening Bangkok ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยAwakening Bangkok 2021 (มีนาคม 2565) สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 90,000 คนตลอด 10 วัน แม้ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economy Impact) 115.64 ล้านบาท และคาดว่าการจัดงานในครั้งนี้ก็จะได้รับการตอบรับอย่างดีเข่นเดียวกับการจัดงานในครั้งที่ผ่านมา
“เชื่อว่า Awakening Bangkok จะเป็นอีกเทศกาลที่ช่วยส่งเสริมความตื่นเต้นของเมืองในช่วงนี้โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของ นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งจากรายงานของยูเนสโก ระบุชัดเจนว่าถึงการเติบโตขึ้นทั่วโลกของนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว จากค่านิยมที่เปลี่ยนไป ต้องการเรียนรู้ความดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อค้นหาและเยี่ยมเยือนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สัมผัสประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง ตลอดจนการเรียนรู้และดื่มด่ำกับสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น” นายพงศ์สิริ กล่าว
สำหรับทิศทางการจัดงาน Awakening จากนี้ ยังคงโฟกัสที่กรุงเทพฯ ณ ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย เป็นหลัก เพื่อตอกย้ำความเป็นต้นฉบับเทศกาลเมืองที่ส่งเสริม evening economy แต่ยังคงเปิดรับความเป็นไปได้สำหรับการจัดงานในพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ และในหัวเมืองอื่นๆ ด้วยความเชื่อว่าเทศกาลในรูปแบบนี้จะช่วยเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในย่านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมาการจัดงานที่จังหวัดขอนแก่น ทำให้ทีมงานได้เรียนรู้การจัดงานในพื้นที่แปลกใหม่ และการทำงานกับศิลปินที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยในการนำประสบการณ์ดังกล่าวมาพัฒนาการจัดงานในพื้นที่หลัก และพื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต