หลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินเชิงบวกSET Index ปี 66 รับเศรษฐกิจไทยขยายตัว – เงินเฟ้อและดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ

หลักทรัพย์บัวหลวง มองเชิงบวกต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยปี 2566 รับอานิสงส์เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง และการจัดระเบียบเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยกลับสู่ภาวะปกติคาดการณ์เป้าหมายดัชนี SET Index มีลุ้นแตะ 1,820 จุด ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนโดยรวมยืนระดับ 109 บาทต่อหุ้น พร้อมแนะกลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุนเน้นเพิ่มน้ำหนักในหุ้นไทย, จีน, สหรัฐฯ, หุ้นกู้ และกองรีท

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภาพรวมการลงทุนตลอดปี 2565ที่ผ่านมาว่า ตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนได้ไม่ดีนักนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน
ดัชนีปรับตัวลดลง 1% ถือว่าเสมอตัวเมื่อรวมเงินปันผลที่คาดจะให้ผลตอบแทนระดับ2% แต่หากเปรียบเทียบตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นยุโรป, จีนและตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกจะพบว่าหุ้นไทยให้ผลตอบแทนดีที่สุด หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในรอบ 30 ปี

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น น้ำมัน และทองคำ
โดยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ผลตอบแทนจากน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 60% จากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย แต่ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีลดลงเหลือเพียง 1.77% หลังราคาน้ำมันอ่อนตัวลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนทองคำนับตั้งแต่ต้นปีพบว่าตัวเลขติดลบเล็กน้อยที่ 1.31% แต่ถือว่าดีกว่าช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ที่ให้ผลตอบแทนติดลบถึง 10% ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้ก็ขาดทุนเช่นกัน เนื่องจากราคาของตราสารหนี้ทั่วโลกปรับตัวลดลงสะท้อนดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นเร็ว

สำหรับสินทรัพย์ที่มีความโดดเด่นในปี 2565  คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นจากการที่เฟดขยับขึ้น
อัตราดอกเบี้ยเร็วและแรง ส่งผลให้ผลตอบแทนค่าเงินในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ระดับ 4.13% ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนถึง 14.3% ในระหว่างปีที่ผ่านมาก่อนที่เดือนต.ค.- พ.ย.ที่ผ่านมาค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง ทำให้อัตราผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอ่อนค่า 4.13% อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ลงทุนที่ถือกองทุน BMSCITH  ซึ่งเป็นกองทุน ETF สะท้อนดัชนี MSCI THAILAND ที่เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ก็น่าจะยิ้มกันได้ เพราะนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทนที่ 3.68% ดีกว่าดัชนี SET โดยรวม

“ปีนี้เป็นปีที่ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทผันผวนผลตอบแทนไม่ค่อยดี ปัจจัยหลักมาจากภาวะเงินเฟ้อที่สูง
ทั้งจากราคาอาหาร, ค่าขนส่ง และราคาน้ำมัน นับจากกลางปีเป็นต้นมาราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกือบทุกประเภทต่างปรับตัวลดลง หลังการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของสหรัฐฯ และธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงการฉีดวัคซีนของประชากรทั่วโลกทำได้ถึง 2 ใน 3 ทำให้ระบบขนส่งสินค้าที่ขาดแคลนคลี่คลายจำนวนกองเรือเพิ่มขึ้น และการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือทำได้สะดวกขึ้น ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” นายชัยพร กล่าว

นายชัยพร กล่าวต่อว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2566 คาดว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าปี 2565 เนื่องจากในปีนี้
มีการจัดระเบียบเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยทำให้หลายอย่างกลับสู่ภาวะปกติแล้วซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดน่าจะอยู่ในจุดใกล้เคียงกับจุดสูงสุดแล้ว ล่าสุดการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดเมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย0.50% สู่ระดับ 4.25 – 4.5%ส่วนปี 2566 คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวในช่วงไตรมาส 1 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปแตะระดับ 4.75% และธนาคารกลางสหรัฐอาจมีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงในปลายปีหากอัตราขยายตัวเศรษฐกิจมีการถดถอยมากกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐคาดการณ์

“คาดการณ์เป้าหมายดัชนี SET Index ปี 2566ที่ 1,820 จุด และกำไรบริษัทจดทะเบียนโดยรวมที่ 109 บาทต่อหุ้น โดยเม็ดเงินฟันด์โฟลว์ต่างชาติคาดว่าจะยังไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น ค่าเงินบาทยังคาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่อง สะท้อนผ่านภาพในปัจจุบันที่เม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้เพียง 20% เทียบยอดขายสุทธิในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมาที่เงินไหลออกไปมาก” นายชัยพร กล่าว

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 4% จากปี 2565 ที่โต 3.2% หนุนโดยภาคการบริโภคและท่องเที่ยวที่ยังคงดีต่อเนื่อง แม้ว่าจะเห็นการชะลอตัวลงบ้างของภาคการส่งออกแต่ก็เป็นการกลับสู่ภาวะปกติของการฟื้นตัว ขณะที่ไทยก็จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ด้วย ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้การเติบโตของ GDP คาดจะขยายตัว 1%และอาจมีความเสี่ยงเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย(มอง Downside ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหดตัว 0.5%) แต่เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้น S&P500 ของสหรัฐจะไม่ปรับตัวลงลึกมากจากระดับปัจจุบัน เนื่องจากตลาดหุ้นรับรู้ประเด็นนี้ไปตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาแล้ว สะท้อนผ่านดัชนี S&P500 ตั้งแต่ต้นปีลดลงไปลึกสุด 25% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยเชิงสถิติ ขณะที่ดัชนี NASDAQ ตั้งแต่ต้นปีร่วงลงไปต่ำสุด 31% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลังที่ 35% ในช่วงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย Recession ค่า P/E ดัชนี S&P500 ก็อยู่ใกล้ค่าเฉลี่ยประมาณ 16-17 เท่า สำหรับตัวเลขอัตราขยายตัว GDP ของยุโรปคาดติดลบ 0.5% หลังความตึงเครียดระหว่างยุโรปและยูเครนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน

“หนึ่งปัจจัยท้าทายในปี 2566 คือ ต้องจับตาดูเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ว่าจะกลับมาสร้างปัญหาอีกหรือไม่
หากจีนมีการเปิดประเทศอย่างเต็มตัวจนดันเงินเฟ้อขึ้นสูงอีกครั้ง ทั้งนี้คาดการณ์ว่า GDP ของจีนในปีหน้าจะเติบโต 5-5.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่สะท้อนการกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มตัว” นายชัยพร กล่าว

ในส่วนของการจัดพอร์ตลงทุนในปี 2566แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกู้, กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์รวมถึงหุ้นไทย, จีน และสหรัฐฯ มากขึ้น สำหรับธีมการลงทุนเน้นลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค, กลุ่มมีเดีย, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่ม Green Energy ที่ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้งานมากขึ้น สะท้อนผ่านยอดขายปัจจุบันที่ 15,250 คัน นับจากต้นปีที่ผ่านมา สำหรับกลุ่มสถาบันการเงินก็ยังน่าสนใจจากคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น ขณะที่ปัจจุบันมีค่าP/E ค่อนข้างต่ำ ส่วนกลุ่มที่ควรเลี่ยงลงทุน คือ น้ำมัน, ปิโตรเคมี, โรงกลั่น, กองเรือ และโรงพยาบาล