รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเปลี่ยนแผนด้านพลังงานอีกครั้ง โดยยืดอายุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออกไปอีกหลายสิบปี เพื่อที่จะทำให้ประเทศสามารถมีความมั่นคงด้านพลังงาน ท่ามกลางราคาพลังงานสูงขึ้นรวมถึงสภาวะขาดแคลน นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
แผนการของรัฐบาลญี่ปุ่นก็คือเตรียมที่จะนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปลดประจำการแล้ว นำกลับมาใช้งานอีกครั้ง นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะยืดอายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปอีก 60 ปี และพัฒนาเตาปฏิกรณ์รุ่นต่อไปเพื่อทดแทนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นเก่า
คำแถลงของรัฐบาลญี่ปุ่นได้กล่าวถึง บทบาทสำคัญของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฐานะแหล่งพลังงานที่ปราศจากก๊าซเรือนกระจก และยังทำให้ญี่ปุ่นบรรลุเสถียรภาพด้านพลังงาน รวมถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero) ภายในปี 2050 ไม่เพียงเท่านี้ญี่ปุ่นยังให้คำมั่นว่าจะใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบริษัทผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นได้ยื่นขอเปิดเตาปฏิกรณ์ 27 เครื่อง 17 รายผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว และมีเพียง 10 รายเท่านั้นที่กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
ปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 30 ปี
ขณะที่สัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ปัจจุบันอยู่ที่ 7% ซึ่งรัฐบาลวางเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนให้ได้ 20 ถึง 22% ภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นต้องกลับมาเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ได้ 27 โรงหลังจากนี้
ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นนั้นเตรียมที่จะเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2030 หลังจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในปี 2011 และเกิดแรงต่อต้านจากประชาชนจากผลกระทบดังกล่าว จึงทำให้รัฐบาลเตรียมปลดระวางโรงไฟฟ้าเหล่านี้
ความไม่แน่นอนด้านพลังงานหลังจากการบุกยูเครนโดยรัสเซียได้สร้างผลกระทบเหล่านี้ต่อญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นอีกประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานจำนวนมหาศาล และราคาพลังงานที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นได้ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศอย่างมาก จนทำให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนแผนดังกล่าวอีกรอบ